Tamer Hassan เป็นแชมป์ในทำเนียบผู้บริหารบริษัทหญิงชายจำนวน 100 คนที่สำนักข่าว Fast Company ยกให้เป็นบุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์มากที่สุดในธุรกิจประจำปี 2019 ความโดดเด่นของ Hassan เหนือกว่าผู้บริหารบริษัทอื่นเช่น Apple, Levi Strauss & Co., Google, Microsoft, Lego, Nike, Starbucks, CVS Health และ Twitch เพราะผลงานการสวมบทนักสืบจนทำให้ FBI เข้ากวาดล้างขบวนการโกงคลิกโฆษณาดิจิทัลครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์
ย้อนไปเมื่อกุมภาพันธ์ปี 2017 หนุ่มเครางามอย่าง Tamer Hassan ยังทำงานตามปกติ ทั้งการตรวจสอบระบบซื้อและขายโฆษณาซอฟต์แวร์ด้านความปลอดภัย แต่ในที่สุด Hassan ก็สังเกตเห็นสิ่งผิดปกติ และพบว่าความแปลกนี้ไม่ได้เกิดจากภัยบ็อตเน็ตธรรมดา แต่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
วันนั้น Hassan เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและ CTO ของบริษัท White Ops ซึ่งเน้นพัฒนาเทคโนโลยีตรวจจับและป้องกันการคลิกลวงบนโฆษณาออนไลน์ สิ่งที่ Hassan ทำคือการติดตามบ็อตเน็ตแล้วสวมบทนักสืบจน FBI ติดตามจับผู้ร้ายที่ล่อลวงเงินหลายล้านเหรียญจากแบรนด์ใหญ่ เป็นการเจาะเซกเมนต์ที่ตอบโจทย์เหลือเกินในยุคที่ทุกอย่างตั้งแต่เครื่องล้างจาน รองเท้า ไปจนถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดี ต้องการโฆษณาดิจิทัลที่มีความโปร่งใสสมบูรณ์แบบ
ตลาดคึกคัก เงินหมุนสะพัด
บ็อตเน็ต (botnet ย่อมาจากคำว่า robot และ network) เป็นเครือข่ายคอมพิวเตอร์พีซีที่ติดไวรัสจนถูกอาชญากรไซเบอร์เข้าควบคุมเครื่องโดยที่เจ้าของไม่รู้ตัว คอมพิวเตอร์เหล่านี้จะเปลี่ยนตัวเองเป็นกองทัพแพร่เชื้อให้คอมพิวเตอร์เครื่องอื่นถูกควบคุมต่อไปเป็นทอดแบบไม่รู้จบ สิ่งที่เกิดขึ้นคือบ็อตเน็ตถูกนำมาใช้ในวงการโฆษณา โดยที่บ็อตเน็ตจะสร้างเว็บไซต์ปลอมและใช้ซอฟต์แวร์อัตโนมัติเพื่อเลียนแบบมนุษย์ มีการสร้างระบบจำลองการรับส่งข้อมูลจริง เพื่อดูดเงินจากบริษัทรายใหญ่ เช่น P&G, Unilever และนักการตลาดรายใหญ่ที่ลงทุนมูลค่ามากกว่า 2.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐต่อปี เพื่อโฆษณาออนไลน์แบบ programmatic ตามพฤติกรรมของชาวออนไลน์
ที่ผ่านมา มีบันทึกว่าแบรนด์ต่างๆถูกโกงคลิกมูลค่า 6,500-19,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี สะท้อนว่าอาชญากรก่อภัยบนความเสี่ยงต่ำมากแต่ได้รับผลตอบแทนสูง ความจริงนี้ทำให้ภัยโกงคลิกโฆษณาขยายวงกว้าง
แม้ Hassan จะคิดว่าภัยบ็อคเน็ตที่พบนั้นดูธรรมดาในช่วงแรก แต่เมื่อ Hassan และทีมพยายามปิดกั้นเว็บไซต์หลอกลวงจากการดึงดูดโฆษณา programmatic หรือพยายามจำกัดที่อยู่ IP ที่ดูเหมือนเป็นแหล่งสร้างการคลิกปลอมบนเว็บไซต์ ทีมของ Hassan ก็เห็นกิจกรรมเดียวกันปรากฏขึ้นที่อื่นโดยไม่มีรูปแบบ คาดการณ์ไม่ได้ แถมยังดูเหมือนทุกอย่างจะยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพความเลวร้ายลงไปอีก
เพื่อตอบความต้องการในตลาด Hassan จึงสร้าง “แพลตฟอร์มสำหรับอาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ตหลายประเภท” ได้แก่ การขโมยข้อมูลส่วนตัว ภัยเรียกค่าไถ่ข้อมูลหรือแรนซัมแวร์ สปายแวร์ ไวรัสคอมพิวเตอร์ และอื่น โดยรวมประเภทของภัยคุกคามที่ทำให้ข้อมูลจำนวนมหาศาลรั่วไหลไปในกรณีของ Equifax, Marriott และ Yahoo ที่เป็นข่าวดังในช่วงก่อนหน้านี้
แพลตฟอร์มนี้เองที่เป็นจุดเด่นให้ Hassan ได้รับความสนใจ เพราะรายงานปี 2018 ของ McAfee และศูนย์การศึกษาเชิงกลยุทธ์ระหว่างประเทศ Center for Strategic and International Studies คาดการณ์ว่าอาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ตมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐต่อปี จุดนี้ Hassan เล่าว่าทุกอย่างต่อยอดจากการเรียนรู้การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วยตัวเองหลังจากได้รับคอมพิวเตอร์ชื่อ Tandy เมื่ออายุ 8 ขวบ
ประสบการณ์ทหารบ่มเพาะได้
ในขณะที่กำลังศึกษาคณะวิศวกรรมที่โรงเรียนกองทัพอากาศในโคโลราโด การโจมตีของผู้ก่อการร้าย 9/11 เกิดขึ้นจนเป็นแรงบันดาลใจให้ Hassan รู้ว่าต้องใช้ความรู้ทุกอย่างเพื่อปกป้องผู้อื่น Hassan เล่าว่าใช้เวลาหลายปีในการเป็นนักบินค้นหาและกู้ภัยด้วยเฮลิคอปเตอร์ Pave Hawk เพื่อช่วยชีวิตทหารและพลเรือน จากศึกอิรักและอัฟกานิสถาน ประสบการณ์นี้สอนให้ Hassan กำหนดวิธีรับมือกับการท้าทายทุกอย่างที่เกิดขึ้น
Hassan บอกว่าจากการทำภารกิจกู้ภัยในดินแดนเหล่านี้ เขาพบว่า “เป้าหมาย” เป็นสิ่งเดียวที่แน่นอน นอกนั้นเป็นปัจจัยอื่นที่เต็มไปด้วยตัวแปร โอกาส และการแลกเปลี่ยนที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ดังนั้นในสายตาของ Hassan การตั้งเป้าหมายจึงสำคัญมาก
หลังจาก 12 ปีในกองทัพอากาศ Air Force ในที่สุด Hassan ตัดสินใจรวมความรู้เรื่องการเขียนโปรแกรมเข้ากับประสบการณ์ทางทหาร แล้วเปิดตัว White Ops ในปี 2012 กับผู้ร่วมก่อตั้ง 2 คน จนวันนี้ บริษัทเติบโตขึ้นมามากกว่า 100 คนโดยมีสำนักงานใหญ่ในนิวยอร์กและอีกหลายแห่งทั่วโลกและมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 33 ล้านดอลลาร์
ไอเดียของ Hassan คือการสร้างเทคโนโลยีที่ทำงานเหมือนสัญญาณกันขโมยสำหรับลูกค้าเช่น The Trade Desk บริษัทเอเจนซี่ที่ช่วยนักการตลาดจัดการและให้บริการโฆษณาดิจิทัลแบบ programmatic โดย White Ops จะแจ้งเตือนลูกค้าหากพบความพยายามฉ้อโกงใหม่ และจะป้องกันไม่ให้อาชญากรแกล้งปั่นยอดคลิกได้อีก
หลักการของบริษัทคือระบบรักษาความปลอดภัยควรเป็นมากกว่าเพียงแค่การสร้างกำแพงเพื่อปกป้องลูกค้า แต่ควรเป็นระบบที่ขวางทางอาชญากร และให้บทเรียนอาชญากรไม่ให้สามารถก่อการได้อีก ผลคือระบบของ White Ops จะไม่เพียงพิสูจน์ตัวตนของผู้ใช้จริงด้วย captcha แต่จะพัฒนาเครื่องมือที่ตรวจสอบบ็อตได้หลายพันวิธี เช่นความแตกต่างของเวลาที่เรียกใช้ชุดคำสั่ง ซึ่งสามารถเปิดเผยได้ว่าเป็นมนุษย์ตัวจริงหรือระบบบ็อตเน็ต
เทคโนโลยีของ White Ops จึงถูกขนานนามว่า “3ve” (ออกเสียงว่าอีฟ) บนคุณสมบัติหลัก 3 ประการคือความเร็ว speed, การขยายส่วนได้ scale และความซับซ้อน sophistication ซึ่งหลังจากที่ 3ve บันทึกพฤติกรรมบ็อตเน็ตมานาน 18 เดือน เช้าตรู่ของวันที่ 22 ตุลาคม 2018 หนุ่มใหญ่ Hassan จึงได้ทราบว่า 3ve ช่วยให้ FBI สร้างคดีขึ้นมาจนนำไปสู่การจับกุมครั้งแรก
จับปรับได้จริง
ปลายปี 2018 เจ้าหน้าที่ FBI สามารถเรียกเก็บเงินจากผู้กระทำผิด 3 ใน 8 คนซึ่งอยู่ในมาเลเซีย บัลแกเรีย และเอสโตเนีย ผ่านคดีอาญาข้อหาฉ้อโกงด้วยการบุกรุกคอมพิวเตอร์ การขโมยข้อมูลส่วนตัวต่อเนื่อง และการฟอกเงิน อีก 5 คนยังเกี่ยวพันกับคดีความที่ใหญ่กว่า
Hassan ซึ่งขึ้นเป็น CEO ของบริษัทแล้วในวันนี้ ย้ำอีกครั้งถึงปรัชญาของ White Ops ว่าบางครั้งเราก็ไม่สามารถเล่นเกมแบบป้องกันได้ตลอด เพราะต้องเล่นเกมบุกบ้าง “นี่จะทำให้การต่อสู้ชนะได้จริง”
วงการโฆษณาออนไลน์ จึงสดุดีคุณ Hassan ในฐานะ No. 1 Most Creative Person in Business หรือบุคคลสุดสร้างสรรค์ภาคธุรกิจแห่งปี 2019.
ที่มา: : Fast Company