Site icon Thumbsup

ทีเส็บ ดันนโยบาย “Festival Economy” หวังให้ชุมชนมีส่วนร่วมกับเมือง กระตุ้นเศรษฐกิจชาติ

สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ ผลักดันนโยบาย “Festival Economy” เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการสร้างมรดกใหม่ (New Legacy) ทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม และมุ่งสร้างความยั่งยืนให้กับเมืองและชุมชนผ่านการจัดงานเทศกาล

ผ่านแคมเปญ “Thailand Power Up” แคมเปญที่จะช่วยผู้จัดงานเทศกาลให้สามารถเดินหน้าจัดงาน เพื่อกระตุ้นและรักษาฐานแฟนของงานเทศกาลทั้งในและต่างประเทศที่ยังเดินทางเข้ามาร่วมงานไม่ได้

นอกจากนี้ ทีเส็บยังทำงานร่วมกับสมาคมและเครือข่ายภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับและสร้างงานเทศกาลของไทยสู่ระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นการดำเนินการทั้งในแง่ของการผลักดันและกระตุ้นผู้จัดงานเทศกาลอย่างเป็นระบบครบวงจร

คุณจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ กล่าวถึงนโยบายการส่งเสริมธุรกิจการจัดงานเทศกาลในประเทศไทยว่า ทีเส็บเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาและสร้างมรดกทางเศรษฐกิจด้วยงานเทศกาล (Festival Economy) ให้กับเมืองและชุมชน

โดยเน้นการใช้อัตลักษณ์ของเมือง (City DNA) ในการออกแบบกิจกรรมสำหรับงานเทศกาล (Experience Design) ก่อให้เกิดระบบนิเวศใหม่ (New Ecosystem) ในการพัฒนาเศรษฐกิจของเมืองผ่านการจัดงานเทศกาล

ซึ่งจะเป็นเครื่องมือดึงดูดกลุ่มนักเดินทางคุณภาพที่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เน้นการเดินทางเพื่อแสวงหาประสบการณ์รูปแบบใหม่

พร้อมกันนี้ นโยบาย Festival Economy ยังเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสร้างเศรษฐกิจ กระจายรายได้ กระจายความเจริญ ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพของเมือง พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาบุคลากรภายในพื้นที่ จึงก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างรอบด้านและยั่งยืน

“เราเชื่อมั่นว่า โครงการนี้จะช่วยสนับสนุนเรื่องการออกมาใช้ชีวิตของคนไทยให้มากขึ้น หลังจากสำเร็จกับการจัดงานสัมมนาประเภทไมซ์ มาก่อนหน้านี้ การร่วมมือกับผู้จัดงานและสมาคมต่างๆ เพื่อสร้างสรรค์เฟสติวัลที่มีโอกาสเติบโตไปทั่วโลก ผ่าน 4 รูปแบบคือ วัฒนธรรม (Culture) ความสร้างสรรค์ (Creative) ไลฟ์สไตล์ (Lifestyle) และความบันเทิง (Entertainment)”

นอกจากนี้ การผลักดันผ่าน 4 รูปแบบจะสำเร็จไม่ได้เลย หากคนในชุมชนไม่เข้าร่วม เราจึงอยากให้คนในชุมชนนำวัฒนธรรมหรือหาอัตลักษณ์ของเมืองมาแสดงให้โลกรู้จักมากขึ้น ทุกเมืองต้องค้นหาดีเอ็นเอของตัวเองและแสดงออกมา เพื่อสร้างโอกาสกลับมาของเศรษฐกิจภายในชุมชน กระตุ้นให้คนอยากมาท่องเที่ยว

แม้ว่าเราจะมีเงินทุนสนับสนุน มีทีมงานคอยให้คำปรึกษา มีพาร์ทเนอร์ในการเข้าไปช่วยจุดกระแสให้กับชุมชน แต่สิ่งที่สำคัญกว่าทุกสิ่งที่เราให้คือคนในชุมชนต้องร่วมกันทำงานในฐานะของเจ้าของพื้นที่ (Owner) ด้วยตนเอง งานเฟสติวัลถึงจะประสบความสำเร็จและถ่ายทอดออกมาได้ดีขึ้น

คุณพงศ์สิริ เหตระกูล ผู้จัดงานเทศกาล Awakening Bangkok Lighting Festival กล่าวว่า การสร้างคอนเทนต์ด้านส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เติบโตอย่างยั่งยืนนั้น ควรที่จะเกิดขึ้นแบบออแกนิก คือ คนในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมหลักในการถ่ายทอดเอกลักษณ์และวัฒนธรรมท้องถิ่น เพราะจะทำให้คนที่เข้าร่วมงานรู้สึกอินได้มากกว่าเป็นคนนอกพื้นที่

นอกจากนี้ การปรับตัวสำหรับคนในพื้นที่นั้น ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับรูปแบบเดิมๆ หากไม่รู้จะเริ่มต้นสร้างความเป็นเอกลักษณ์จากสิ่งไหนก็ลองค้นหาจากสิ่งที่เราคุ้นชินก่อน เช่น การจัดมิวสิคเฟสติวัลในต่างประเทศนั้น ประสบความสำเร็จได้เพราะร้านค้า ชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมและสนุกกับสิ่งที่เกิดขึ้นและชุมชนเปรียบเสมือนเจ้าของงานไปเลย เพื่อสร้างรายได้ให้พื้นที่อย่างยั่งยืนไม่ใช่แค่เฉพาะการจัดงานแบบปีละครั้งเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในฐานะของผู้จัดงานรูปแบบไลท์ติ้งเฟสติวัล ผมมองเห็นว่าประเทศไทยมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมหลายอย่างหากเราบิดให้เหมาะสมก็อาจจะส่งออกวัฒนธรรมเหล่านี้ไปเติบโตต่างประเทศได้ เช่น การจัดงานเทศกาลสงกรานต์ของคุณวู้ดดี้ ที่จัดเป็นเทศกาล S2O ที่สงกรานต์ไม่ใช่แค่เดินทางมาสาดน้ำที่เมืองไทย แต่ปรับให้เป็นงานท่ีรวมสีสันปาร์ตี้การฉีดน้ำเล่นทั้งวันทั้งคืน มีแสงสีเสียงและความสนุกสนาน ตอนนี้สามารถส่งออกไปจัดที่ไต้หวันและเกาหลีได้แล้ว

รวมไปถีง ประเทศไทยยังมีอีกหลายเทศกาลที่สามารถปรับให้เข้ากับท้องถิ่นและดึงกระแสให้คนจากทั่วประเทศอยากเข้ามามีส่วนร่วมได้อีกมาก เช่น ลอยกระทง ทำไมเราจะลอยแบบออนไลน์ไม่ได้ ทั้งที่กระทงของจริงสร้างขยะแต่ถ้าเราลอยกระทงที่สร้างขึ้นมาเองบนช่องทางออนไลน์และลอยกระทงของเราด้วยแสงสีก็ช่วยให้ลดขยะไปได้ หรือรถแห่ของภาคอีสานที่นิยมมาก มีคนร่วมงานกว่า 4 ล้านคนทำไมเราไม่จัดให้เป็นงานที่แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ดึงดูดคนจังหวัดอื่นๆ เข้ามาสร้างรายได้ได้อีกด้วย

ส่วนเรื่องของโควิด-19 ที่ยังเป็นปัญหาในการจัดงานที่ต้องจุคนเยอะๆ นั้น คุณพงศ์สิริมองว่า เราคงเลี่ยงเรื่องนี้ยาก ได้แต่ตั้งความหวังว่าถ้ามีวัคซีนก็น่าจะบรรเทาความรุนแรงและช่วยให้นักท่องเที่ยวกล้าที่จะเดินทางมากขึ้น เพราะเจ้าของธุรกิจไทยปรับตัวไวมากจนตอนนี้เรียกได้ว่าเป็นผู้นำของการจัดอีเว้นท์แบบเวอร์ช่วลไปแล้ว

นอกจากนี้ ทีเส็บให้ความสำคัญและตั้งเป้าผลักดันนโยบาย Festival Economy เป็นกลยุทธ์สำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เมืองและชุมชนจับมือกับเครือข่ายสมาคมฯ ที่มีความเชี่ยวชาญ 5 สมาคมหลัก คือ สมาคมการค้าส่งเสริมการจัดมหกรรมและเทศกาลนานาชาติไทย (TIEFA), สมาคมการค้าผู้จัดงานกีฬามวลชนไทย (TMPSA), สมาคมเครือข่ายผู้สร้างสรรค์วิชาชีพสื่อบันเทิงไทย (TECNA), สมาคมการค้าส่งเสริมอุตสาหกรรมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (CAPT) และสมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน (EMA)

ในการร่วมออกแบบและสร้างงานเทศกาลที่เหมาะสมให้กับเมือง และพัฒนาต่อยอดจนเกิดเป็น หนึ่งเมือง หนึ่งสิทธิบัตรงานเทศกาลนานาชาติ (1 City 1 Licensed Event)” ภายใน 5 ปี เพื่อเพิ่มมูลค่า ยกระดับ และส่งออกงานเทศกาลที่เกิดจากสิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ของเมืองให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก โดยมีเป้าหมายในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ส่งเสริมให้เมืองเป็นจุดหมายปลายทางในการจัดงานเทศกาล และการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน

ในการนี้ สสปน. และสมาคมการค้าส่งเสริมการจัดมหกรรมและเทศกาลนานาชาติไทย หรือ TIEFA ได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือจำนวน 2 ฉบับ เพื่อขับเคลื่อนการสร้างเศรษฐกิจด้วยงานเทศกาลในพื้นที่นำร่อง คือ

  1. การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการออกแบบงานเทศกาลและพัฒนาเมืองผ่านการจัดงานเทศกาล ร่วมกับจังหวัดเพชรบุรีโดยนายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี เพื่อผลักดันและยกระดับงานเทศกาลในจังหวัดเพชรบุรี และส่งเสริมการกระจายรายได้ สร้างเศรษฐกิจในจังหวัดผ่านการจัดงานเทศกาล (Festival Economy) อย่างยั่งยืน
  2. การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการสร้างงานเทศกาลเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของย่านราชประสงค์ ร่วมกับสมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ เพื่อส่งเสริมและยกระดับการจัดงานเทศกาลในย่านราชประสงค์ เพื่อสร้างผลเชิงบวกทางเศรษฐกิจ สังคม (Economic and Social Impact) ในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของกรุงเทพมหานคร

คุณภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี กล่าวถึงการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการออกแบบงานเทศกาลและพัฒนาเมืองผ่านการจัดงานเทศกาล ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่เพชรบุรี ที่มีความตื่นตัวอย่างยิ่งที่จะร่วมมือกันในการออกแบบงานเทศกาลที่มาจากอัตลักษณ์ของเมือง ผ่านไอเดียที่สร้างสรรค์ของสมาคมการค้าส่งเสริมการจัดมหกรรมและเทศกาลนานาชาติไทย (TIEFA) เพื่อที่จะทำให้เทศกาลที่จะเกิดขึ้นต่อไปของเพชรบุรีเป็นงานระดับนานาชาติที่เราชาวเพชรบุรีภาคภูมิใจ

คุณชาย ศรีวิกรม์ นายกสมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ (RSTA) กล่าวถึงการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการสร้างงานเทศกาลเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของย่านราชประสงค์ ซึ่งเสมือนเป็นการต่อยอดความร่วมมือระหว่างย่านราชประสงค์และ สสปน. อย่างเป็นรูปธรรม ร่วมกับสมาคมการค้าส่งเสริมการจัดมหกรรมและเทศกาลนานาชาติไทย (TIEFA) โดยมีเป้าหมาย คือ ยกระดับ “ย่าน” ที่เป็นสถานที่จัดงานไปสู่ “ย่าน” ที่มีคอนเทนต์เฉพาะ เพื่อต่อยอดทางเศรษฐกิจต่อไป

คุณนิชาภา ยศวีร์ รองผู้อำนวยการสายงานธุรกิจ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ แนะนำแคมเปญ Thailand Power Up ของฝ่ายพัฒนาการจัดงานเมกะอีเวนท์และเทศกาลนานาชาติประจำปีงบประมาณ 2564  ซึ่งเป็นแคมเปญส่งเสริมและฟื้นฟูการจัดงานเทศกาลหลังสถานการณ์โควิด 19 ภายใต้แนวคิดหลัก คือ ฟื้นฟูอุตสาหกรรม (Recovery), รักษาฐาน Fanbase ของงาน (Engaged), เสริมสร้างความแข็งแกร่งของพันธมิตรทั้งไทยและต่างชาติ (Empower) และพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน (Boost Up)  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับงานในประเทศ มุ่งพัฒนาและรักษาฐานแฟนทั้งในและต่างประเทศ โดยใช้เทคโนโลยีและแฟลตฟอร์มออนไลน์ยกระดับประสบการณ์ของผู้ร่วมงาน

แคมเปญ Thailand Power Up ประกอบด้วย 4 โปรโมชั่น

สุดท้ายนี้ ทีเส็บในฐานะหน่วยงานที่มีพันธกิจหลักในการส่งเสริมและพัฒนางานเทศกาล เพื่อขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ เน้นย้ำการบูรณาการความร่วมมือกับสมาคมต่าง ๆ และภาคเอกชน รวมถึงส่งเสริมให้ผู้จัดงานเทศกาลสร้างเครือข่ายร่วมกับผู้จัดงานเทศกาลในต่างประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมในการยกระดับงานและดึงงานที่น่าสนใจเข้ามาในประเทศไทย โดยยึดหลัก ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Leave no one behind)”