“เมื่อไทยเปิดประเทศอย่างเป็นทางการช่วง พฤษภาคมหรือมิถุนายน 2021 นั่นย่อมหมายถึงโอกาสอันมหาศาลของไทย”
คุณนิชาภา ยศวีร์ รองผู้อำนวยการสายงานธุรกิจ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวถึงแผนแม่บทอุตสาหกรรม “ไทยแลนด์ ล็อก-อิน อีเวนท์” หนึ่งในแคมเปญสำคัญของการกระตุ้นและสนับสนุนการจัดงานไมซ์ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19
แนวทางการดำเนินงานของแผนแม่บทอุตสาหกรรม ไทยแลนด์ ล็อก-อิน อีเวนท์ นั้น ตอบโจทย์แนวทางโครงการแผนพัฒนาประเทศระดับมหภาคของรัฐบาล เพราะกระตุ้นให้ทั้งภาครัฐและเอกชนสร้างงานใหม่ ขยายงานเดิม กระจายงานสู่ภูมิภาค และประมูลสิทธิ์การจัดงานระดับโลกเข้ามาจัดในประเทศไทยหรือในพื้นที่พันธมิตรหลักอย่าง อีอีซี และพัทยา
และมีแผนในการขยายพื้นที่เพิ่มเติมในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการด้านงานแสดงสินค้านานาชาติ แผนแม่บทฯ นี้จะช่วยประสานประโยชน์และส่งเสริมสนับสนุนด้านการจัดงานในด้านต่าง ๆ
เช่น สนับสนุนด้านการเงินในการจัดงานแบบวิถีใหม่ (new normal) สนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษาศักยภาพการรองรับการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติในพื้นที่ อีอีซี การทำกิจกรรมการตลาดและการประชาสัมพันธ์งาน รวมไปถึงสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้จัดงานแสดงสินค้านานาชาติ
ซึ่งในปีนี้มีผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมแผนแม่บทฯ ถึง 5 งาน (ทั้งการขยายโพรไฟล์งาน และ นำงานไปจัดในพื้นที่ อีอีซี) ภายใต้ 3 อุตสาหกรรมภายใต้แผนแม่บทฯ นี้ ได้แก่ อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมด้านการเดินเรือ และอุตสาหกรรมด้านเมืองอัจฉริยะ
คาดว่าจะมีงานแสดงสินค้านานาชาติภายใต้แผนแม่บทฯ ทั้งงานที่มีการขยายโพรไฟล์ในอุตสาหกรรม ภายใต้แผนแม่บทฯ และงานจัดในพื้นที่อีอีซี รวมถึง 15 งานด้วยกัน ภายในปี 2568
เป้าหมายหลักของแผนแม่บท
- ส่งเสริมงานแสดงสินค้านานาชาติที่ช่วยผลักดันอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรมอวกาศและการบิน ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของกระทรวงคมนาคม 4 ด้าน (ทางอากาศ, ทางเรือ, ทางรถไฟ, ทางรถยนต์) และรวมไปถึงอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศและในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและการจัดการภัยพิบัติ
- ผลักดันให้เกิดงานแสดงสินค้านานาชาติกลุ่มดังกล่าวในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC เพื่อเร่งพัฒนาการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย ผ่านการสนับสนุนของ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในด้านการสนับสนุนทางด้านการเงิน การอำนวยความสะดวก การเข้าถึงหน่วยงานภาครัฐ และการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของภาคเอกชน สร้างความมั่นใจแก่ธุรกิจและนักลงทุนทั่วโลก ให้เลือกเดินทางมาประกอบธุรกิจผ่านแพล็ตฟอร์มงานแสดงสินค้านานาชาติภายใต้แผนแม่บทฯนี้ ก่อนจะนำไปสู่การค้าการลงทุนในพื้นที่ EEC ต่อไปในอนาคต
อย่างไรก็ตาม แผนแม่บทนี้จะเป็นกลยุทธ์ขับเคลื่อนและส่งเสริมงานแสดงสินค้านานาชาติในกลุ่มล็อก-อิน (Logistic & Infrastructure) และอุตสาหกรรมก้าวหน้า กระตุ้นให้ทั้งภาครัฐและเอกชนสร้างงานใหม่ ขยายงานเดิม กระจายงานสู่ภูมิภาค รวมถึงการประมูลสิทธิ์งานระดับโลกเข้ามาจัดในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
ทั้งนี้ จะมี 2 ตัวช่วยหลัก ได้แก่
- การสนับสนุนด้านการเงิน พร้อมกลยุทธ์การพัฒนางานด้านต่าง ๆ เพื่อช่วยผู้จัดงานแสดงสินค้านานาชาติตั้งแต่เริ่มต้นการวางแผนในการแตกโพรไฟล์ใหม่ รวมถึงการจัดงานแสดงสินค้าในพื้นที่อีอีซี ไปจนถึงสามารถจัดงานได้อย่างประสบความสำเร็จ
- การอำนวยความสะดวกด้านนโยบาย ประสานงานภาครัฐและเอกชนให้สามารถพัฒนางาน ได้อย่างต่อเนื่อง และยังเป็นโอกาสที่ดีของภาครัฐสร้างงานแสดงสินค้านานาชาติที่เป็นแลนด์มาร์กของประเทศขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในกำกับด้วยอีเวนท์ที่มีภาคเอกชนร่วมขับเคลื่อน ตามแนวคิด “หนึ่งกระทรวง หนึ่งงานนิทรรศการ (One Ministry One Expo)”
“สำหรับแผนแม่บทนี้ จะเป็นโครงสร้างสำคัญที่จะสร้างการก้าวกระโดดทางเศรษฐกิจในระยะเวลา 3 ปี โดยจะเริ่มต้นในปีนี้เป็นปีแรก จะเริ่มต้นจากอุตสาหกรรม MICE รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกและอินฟราสทรัคเจอร์ รวมทั้งนวัตกรรมเชิงเทคโนโลยี
เพื่อดึงให้นักลงทุนอยากเข้ามาลงทุนผ่านงานแสดงและกิจกรรมต่างๆ ขณะนี้มีกว่า 15 งานที่กำลังเตรียมพร้อมเข้ามา และมีการร่วมมือกับทางภาครัฐและเอกชนในการเข้ามาร่วมส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอี
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มนักธุรกิจอาเซียนที่ต้องการเข้ามาประกอบอาชีพในไทยและต้องการเข้ามาทำงานในประเทศไทยต่อ โดยเชื่อว่าหากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายหรือเปิดประเทศอย่างเป็นทางการ ภาพรวมเม็ดเงินในกลุ่มนี้จะฟื้นกลับมาอย่างน้อย 2,500-3,000 ล้านบาท
ตัวเลขที่น่าสนใจเกี่ยวกับ MICE
อุตสาหกรรมไมซ์ทั้งตลาดในและต่างประเทศ ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอีกมาก นักเดินทางไมซ์จะมีการใช้จ่ายต่อคน ต่อทริป อยู่ที่ประมาณ 70,000 บาท ซึ่งจะสูงกว่านักเดินทางทั่วไป
- ในปี 2562 ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ Economic Impact เกิดค่าใช้จ่าย 559,840 ล้านบาท ไมซ์ในประเทศมูลค่า 279,330 ล้านบาท / ไมซ์ต่างประเทศมูลค่า 280,510 ล้านบาท คิดเป็น GDP=3.27%
- ไมซ์ในประเทศมูลค่า 279,330 ล้านบาท
- ไมซ์ต่างประเทศมูลค่า 280,510 ล้านบาท
- อัตราการจ้างงาน 321,918 อัตรา
ในปี 2563 ประมาณการผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ Economic Impact (ตุลาคม 2562 – กันยายน 2563)
- อุตสาหกรรมไมซ์ทั้งในและต่างประเทศ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ เกิดค่าใช้จ่ายจากการจัดกิจกรรมไมซ์ (Expenditure) รวมมูลค่ากว่า 165,823 ล้านบาท (-70.38% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562) ก่อให้เกิดรายได้ประชาชาติ (GDP Contribute) รวมมูลค่า 162,976.01 ล้านบาท
- ภาครัฐสามารถจัดเก็บภาษีได้จากการจัดกิจกรรมไมซ์ 11,590 ล้านบาท
- ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานไมซ์เพื่อการจัดงาน 95,314 อัตรา
(การระบาดของโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อการจัดกิจกรรมไมซ์ในประเทศไทย ทำให้ภาพรวมจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมไมซ์ทุกประเภทในปีงบประมาณ 2563 ลดลงกว่าร้อยละ 60 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา)
ภาพรวมอุตสาหกรรม Exhibition
กิจกรรมงานแสดงสินค้านานาชาติ หรือ Exhibitions ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
ในปี 2562 งานแสดงสินค้า หรือ Exhibitions ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ Economic Impact เกิดค่าใช้จ่าย 307,620 ล้านบาท คิดเป็น 54.95% ของอุตสาหกรรมไมซ์ทั้งหมด
- ประมาณการรวมจำนวนงาน Exhibition ในประเทศและต่างประเทศ 430 งาน
- ไมซ์ในประเทศมูลค่า 216,800 ล้านบาท จำนวนงานในประเทศ B2B & B2C จำนวน 300 งาน
- ไมซ์ต่างประเทศมูลค่า 90,820 ล้านบาท จำนวนงานงานแสดงสินค้านานาชาติ B2B จำนวน 127 งาน
จำนวนงานแสดงสินค้านานาชาติ (B2B) ที่ สสปน. สนับสนุนในปี 2562
- จำนวน 47 งาน (New Show 15 งาน / Existing Show 32 งาน)
- คาดการณ์รายได้เข้าประเทศ 20,292 ล้านบาท
จำนวนงานแสดงสินค้านานาชาติ ที่ สสปน. สนับสนุนในปี 2563
- จำนวนงานแสดงสินค้านานาชาติที่ยืนยันจัดงาน 25 งาน (New Show 4 งาน / Existing Show 21 งาน)
- คาดการณ์รายได้เข้าประเทศ 6,464 ล้านบาท (-68.14% เมื่อเทียบกับปี 2562)
ในปี 2564 มีแผนการจัดงานแสดงสินค้านานาชาตี่ สสปน. สนับสนุน ประมาณการจำนวนรวม 58 งาน แบ่งเป็นงานแสดงสินค้าที่จัดอยู่เดิมและมีแผนที่จะจัดในปี 2564 จำนวน 44 งาน และ งานแสดงสินค้านานาชาติใหม่ New Show in the Pipeline จำนวน 14 งาน
- ตลาดต่างประเทศให้ความสำคัญกับการแสดงสินค้า หรือ Exhibition อย่างยิ่ง เพราะเป็นกลยุทธ์สำคัญในการตลาดหรือการดำเนินโครงการต่าง ๆ ถึงแม้จะมีสถานการณ์โควิด-19 ไทยก็ยังได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ปลอดภัยในการเฝ้าระวังวิกฤตโควิด-19 ลำดับต้น ๆ ของโลก
- โดยมี New Show in the Pipeline ในปี 2564 จำนวน 14 งาน โดยอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics), อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ, อุตสาหกรรมดิจิตอล (Digital), อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) และอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals)
- ตลาดต่างประเทศ มีความต้องการจัดธุรกิจการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติจากผู้จัดงานหลายประเทศสนใจที่จะเข้ามาจัดงานในไทย
เป้าหมายการดำเนินงาน ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
- ทีเส็บตั้งเป้าหมายอุตสาหกรรมงานแสดงสินค้านานาชาติในปี 2564 เติบโตขึ้น 3.5% คาดการณ์รายได้เข้าประเทศ 23,000 ล้านบาท นับว่าอุตสาหกรรมงานแสดงสินค้าเป็นกลไกสำคัญในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน และสร้างรายได้ให้กับประเทศ