เรื่องของการศึกษา ที่หลายคนมองว่ามีปัญหาในแง่มุมของผลผลิตทางความรู้นั้น แน่นอนว่า “ครู” ผู้เป็นต้นแบบของเด็กนักเรียน ย่อมถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสนใจ ไม่ว่าจะเป็น การปรับความรู้ของครูให้ทันกับยุคสมัย ความเข้าใจในตัวเด็กนักเรียนทั้งในแง่ความรู้และสภาพจิตใจ ต่างก็เป็นเหตุผลสำคัญในด้านรากฐานที่จะพัฒนาขีดความสามารถของครูให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก
thumbsup ได้พูดคุยกับ นะโม – ชลิพา ดุลยากร ผู้ร่วมก่อตั้ง insKru แพลตฟอร์มด้านการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการสอนระหว่างครูที่จะมาเปิดเผยแง่มุมต่างๆ ให้เราได้ทราบกัน
insKru คืออะไร ?
ชลิพา : เป้าหมายหลักๆ ก็คือเราอยากเปลี่ยนแปลงห้องเรียนทั่วประเทศให้เด็กๆ ได้เรียนรู้อย่างมีความสุข มีคุณภาพจากคุณครูของพวกเขาเอง
สิ่งที่เราค้นพบก็คือว่า จริงๆ แล้วอ่ะ คุณครูก็อยากจะทำห้องเรียนของเขาให้ดีที่สุดแหละ แต่บางทีก็อาจจะโดนดึงเวลาจากภาระงาน เอกสารต่างๆ ที่เอาครูออกจากนอกห้องเรียนบ้าง
บางทีก็หมดไฟจากระบบประเมินต่างๆ มันไม่ได้ support ตรงที่เขาทำหน้าที่ในห้องเรียนจริงๆ อย่างที่ 3 เขาอาจจะไม่มีไอเดีย ทำยังไงดี สิ่งที่เราทำก็คือ เรามองว่า จริงๆ แล้วไม่ต้องเป็นคาบเรียนของเมืองนอกเลย จริงๆ ในประเทศไทยก็มีคาบเรียนดีๆ ของคุณครูอยู่หลายคน ที่ซุกซ่อนอยู่
แต่จริงๆ มันขาดแค่พื้นที่ที่ให้ไอเดียเหล่านี้ ได้ส่งต่อสู่ห้องเรียนคนอื่นๆ เราก็เลยมุ่งที่จะทำหน้าที่ตรงนี้ ผ่านแพลตฟอร์ม 3 อย่าง ก็มีตัวเว็บไซต์ www.inskru.com คือครูสามารถมาเข้าเขียนไอเดีย เทคนิคต่างๆ ของเขาได้เลย
แล้วก็มีตัวเพจ insKru พื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอน เพื่อที่จะเอาไอเดียจากเขาเนี่ย ทำให้เป็น infographic น่ารักๆ หรือมาสรุปอย่างนี้ กระจายต่อ ทำให้มันแมสขึ้น ส่วนสุดท้ายก็คือ เวิร์คชอป-ออฟไลน์ สร้างพื้นที่ให้ครูจัด Event ได้มาเจอกัน มาแลกเปลี่ยนของกันผ่านทางออฟไลน์แล้วได้ติดสกิลใหม่ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทำอย่างไรให้เกิดความคิดสร้างสรรค์หรือการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) ในคาบเรียนอย่างนี้อ่ะค่ะ
ทำไม “คาบเรียน” ถึงเป็นหัวใจสำคัญของห้องเรียน ?
ชลิพา : จริงๆ แล้ว (คาบเรียน-วิธีการสอน) มันก็เปลี่ยนทุกอย่างเลยนะคะ ถ้าครูเปลี่ยนวิธีการสอน เด็กก็จะเปลี่ยนเลยจากที่มานั่งเรียนแบบ passive มาป้อนผลที่เกิดขึ้นก็คือ เด็กคนนี้ก็จะออกไปจากระบบการศึกษาแบบรับใช่ไหมคะ
แต่ถ้าครูเปลี่ยนคาบเรียน ให้เขารู้สึกเป็นเจ้าของมากขึ้น ให้เขาได้มี Engagement ให้เขาได้แสดงทักษะต่างๆ สุดท้ายสิ่งที่ทำทั้งหมดที่ทำกับคาบเรียน มันก็คือ เด็กคนนี้ที่จะออกมาสู่สังคมต่อไปก็เลยรู้สึกว่าคาบเรียนถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญมากๆ ทุกอย่างมันสะท้อนห้องเรียน-สังคม ทุกอย่างเลยค่ะ
ปัญหาที่คุณครูในระบบพบบ่อย ?
ชลิพา : มีเรื่องระบบผลิตครู ที่รู้สึกว่าเหมือนก็ยังเดิมๆ อยู่การเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาที่คุณครูได้เรียนมันก็เป็นแบบเน้นการเรียนการสอนแบบเน้นการบรรยาย แต่คุณบอกให้ครูมาทำ Active Learningคุณครูเขาก็ยังไม่เห็นตัวอย่างมากพอ ที่จะมาทำห้องเรียนของเขาได้ อีกอันก็เป็นเรื่องของระบบประเมินครูเขาก็ยังประเมินครูจากเอกสารมากมายที่มันไม่ได้บ่งบอกเลยว่าครูคนนี้เป็นยังไงจริงๆ ห้องเรียนของเขาเป็นอย่างไร
มันกลายเป็นว่า มันมีอะไรไม่รู้ 13 ตัวชี้วัดครูก็ต้องไปหารูปที่เขาทำ งานจิตอาสามาใส่ๆๆ ทำให้คุณครูเจ็บปวดพอสมควร เขาเป็นระบบราชการ มันจะมีความเป็นลำดับขั้นอยู่นะ แล้วครูใหม่ที่เข้ามาก็โดนครูแก่ๆ บอกว่า ฉันทำมาเยอะแล้ว ทำสิ อย่างนี้ มันก็งานล้น โดนกดขี่มีความ Top-Down ที่ข้างบนโยนเอกสารมามากมายจริงๆ มองว่าจากที่เราทำตรงนี้ มันก็เห็นความหวังว่าสมมุติว่าเราแก้ระบบไม่ได้ สิ่งที่เราทำได้ก็คือการสร้าง Awareness ให้ได้มากที่สุดให้กับผู้ปกครอง ให้ทุกคนที่อยู่ใน Stakeholders การศึกษาได้มาชวนกันคิดกันว่า
เราอยากเห็นเด็กแบบไหน เติบโตเป็นคนแบบไหนในสังคมและเราก็มาถามต่อว่าโรงเรียนต้องเป็นแบบไหนล่ะ พ่อแม่ต้องเป็นแบบไหนล่ะ คุณครูต้องเป็นแบบไหนล่ะแล้วพอเราอัปเดตตรงนี้ให้ทุกคนเท่าๆ กัน เราคิดว่ามันก็จะเป็นแรง movement มหาศาลที่น่าจะทำให้ระบบเปลี่ยนแปลงด้วยอ่ะค่ะ
การศึกษาในอีก 5-10 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ?
ชลิพา : ในอนาคต เอาเป็นคาดหวังละกัน อยากให้เปลี่ยนจากการเน้นที่ความรู้ (Knowledge) เป็นเน้นที่ทักษะ (Skill) หรือที่ลักษณะเฉพาะ (Characteristic) ของเด็กมากกว่า เราอยากเห็นแบบไหนออกไปสู่สังคมมันคงไม่ใช่เราอยากเห็นเด็กฟิสิกส์เรื่องนี้ เรื่องนี้ เรื่องนี้แต่มันคงเป็นแบบ เราอยากสร้างเด็ก Character แบบไหนออกสู่สังคม เราอยากให้เด็กมีทักษะแบบไหนที่ไปสู่การทำงานซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นจริง มันก็ไม่สามารถวัดแบบเดิมได้แล้ว ไม่สามารถทำการสอบเข้ามหาวิทยาลัยแบบเดิมได้แล้วหรือวัด O-NET แบบนั้น หรือว่าการประเมินครู มันไม่สามารถประเมินครู จากการที่คุณให้ตัวชี้วัดแบบนี้ได้แล้ว