วัยทำงานทั้งหลายคงเคยมีปัญหา “ไม่อยากให้ถึงวันจันทร์” กันใช่ไหมคะ ในงานวันความคิดสร้างสรรค์แห่งชาติ 2562 หรือ Creativity Day 2019 ที่มีวิทยากรเป็น 3 กูรูชั้นนำอย่าง ธนา เธียรอัจฉริยะ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงานการตลาด SCB, ทีปกร วุฒิพิทยามงคล Brand&Editorial Country Manager, Netflix และ ธีรนัย สิทธิจำลอง Head of Content, Wongnai ที่จะมาจุดไฟให้คุณอยากทำงานอีกครั้ง
เป้าหมายสำคัญกว่าเงิน
กูรูทั้ง 3 คนได้แนะนำคนรุ่นใหม่ที่กำลังมองหาเป้าหมายชีวิตในการทำงานว่า มองอนาคตให้มาก เพราะการทำงานที่ตรงจริตจะทำให้เราอยากทำงาน และมีความสุขในการตื่นเช้าทุกวัน
ธนา เธียรอัจฉริยะ ได้เล่าถึงเรื่องราวการทำงานให้ฟังว่า ผมเคยมีช่วงเวลาหนึ่งที่หยุดทำงานและไปใช้ชีวิตแบบ Slow Life ที่คนเคยฮิตกัน ช่วงนั้นผมมีลูกสาวและอยากจะใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวให้มากที่สุด แต่วันหนึ่งผมได้เห็นคุณแม่ของผมที่หยุดทำงานและอยู่บ้านเช่นกัน มีความสุขแบบไม่เต็มที่ คืออยู่บ้านก็สบายแต่ไม่มีความหมายในชีวิต
แล้ววันหนึ่งแม่ผมก็กลับไปทำบางสิ่งที่เรียกว่า การเข้าสังคม อีกครั้ง และผมเห็นภาพของแม่ผมมีความสุขมากขึ้น มีรอยยิ้มมากขึ้นและค้นพบเป้าหมายที่อยากจะทำในชีวิต ทำให้ผมย้อนกลับมาคิดว่า ชีวิตของผมสุขสบายดี แต่เป้าหมายในชีวิตของผมต่างหากที่หายไป ผมก็เลยเริ่มกลับมาทำงานอีกครั้ง
“การมีประโยชน์กับใครสักคน พบปะกับผู้คน มีส่วนร่วมในสังคม ทำให้ชีวิตมีความสุขขึ้นและอยากตื่นขึ้นมาทุกเช้า เพราะถ้าชีวิตมันเรียบ จิ๊กซอว์บางอย่างหายไป แม้ว่าชีวิต Slow Life จะสบายใจแต่สุดท้ายก็อยู่ที่ความพอดี คนเราจะทำงานหนักมากไปจนตายก็ไม่ดี แค่อยากให้มีความสุขกับชีวิตและสิ่งที่กำลังทำ ค้นหาความหมายของ Theory of activity เจอ เราก็จะรู้ว่าชีวิตในแต่ละวันตื่นขึ้นมาเพื่ออะไร”
ทางด้านของ ทีปกร วุฒิพิทยามงคล Brand&Editorial Country Manager, Netflix กล่าวว่า ตอนอายุยังน้อย เราคิดเพียงแค่อยากทำอะไรที่รู้สึกสนุก แต่พออายุมากขึ้น จะเริ่มคิดว่าทักษะที่เรามีนั้นเปลี่ยนแปลงสังคมหรือเปล่า
“งานที่ทำจึงต้องมีความท้าทาย สนุกและอยากทำอย่างต่อเนื่อง เมื่อทำแล้วเห็นผลลัพท์อยากทำมากขึ้นอีก แต่งานทุกอย่างไม่ใช่ทำคนเดียว การที่เราเข้าไปมีส่วนร่วมกับโปรเจคอื่นๆ หรือมีความสัมพันธ์กับคนอื่นด้วย แม้งานจะหนักแต่มันจะได้ประสบการณ์และความรู้หลากหลายขึ้น”
จริงอยู่ว่าชีวิตการทำงานของคนเรา จะต้องได้รับปัจจัยพื้นฐานอย่างเงินเดือน สวัสดิการที่เหมาะสม คงไม่มีใครอยากทำอะไรฟรี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกงานที่ทำต้องได้เงินเยอะๆ เสมอไป แค่อยากให้มองว่างานที่ทำนั้นมันช่วยเติมเต็มชีวิตของเราในอีก 3-5 ปีอย่างไร ต้องหาเหตุผลของชีวิตให้ได้
ธีรนัย สิทธิจำลอง Head of Content, Wongnai เล่าว่า แม้ผมจะไม่ได้เรียนจบมาสายคอนเทนต์ แต่ประสบความสำเร็จได้ทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องของเส้นสาย แต่มาจากความพยายาม เพราะผมมองเป้าหมายในชีวิตเลยว่า งานอะไรที่จะเติมเต็มชีวิตของผมได้ ไม่อย่างนั้น สิ่งที่ทำก็จะเหมือนหุ่นยนต์ ซึ่งวันหนึ่งก็คงตายไป
โชคดีที่ Wongnai เป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ผู้บริหารมีแนวคิดใหม่ๆ ทุกวัน ทำให้เราปรับเปลี่ยนเป้าหมายงานกันทุก 3 เดือน ทำให้ต้องปรับตัวและรู้ว่าชีวิตต้องทำอะไรบ้าง ถ้าผู้บริหารมีแนวคิดแค่ว่า ทำงานเพื่อ KPI จะส่งผลให้คนทำงานท้อและไม่อยากอยู่ต่อ ยิ่งธุรกิจของเรามีการแข่งขันสูง ยิ่งต้องวิ่งให้เร็ว และในฐานะคนทำงานก็ต้องทำให้ทัน
“ผู้บริหารมักจะมองว่าคนลาออกจากงานเพราะต้องการเงินที่เพิ่มขึ้น แน่นอนว่าบางคนอาจจะคิดแบบนั้น แต่บางคนคิดว่า งานที่เขาทำนั้น ไม่สามารถเติมเต็มชีวิตเขาได้ ดังนั้นถ้าเรามีเป้าหมายว่าจะเดินทางไหนก็มุ่งไปให้ชัด”
Moment ที่ดีในการทำงาน
ในช่วงชีวิตของแต่ละคนย่อมมีประสบการณ์ที่ดีและร้ายในแง่มุมต่างๆ และนี่คือเรื่องราวประทับใจของ 3 กูรูที่ยังจดจำจนถึงทุกวันนี้
ธนา : ผมเคยมีประสบการณ์รับการลงโทษแทนน้อง เรียกว่าเป็นผู้บริหารระดับสูงคนแรกเลยมั้งที่โดนลงโทษทางวินัยอย่างการหักเงินเดือน ซึ่งผลที่ได้คือลูกน้องรักและเชื่อมั่นในตัวผมมากขึ้น ผมไม่ได้บอกให้ผู้บริหารท่านอื่นๆ ทำตามผมนะครับ ผมแค่บอกว่าการเป็นหัวหน้ามันไม่ยาก แต่การเป็นหัวหน้าที่ลูกน้องเชื่อใจและไว้ใจมันยากมาก
ก่อนที่ผมจะมีความคิดเรื่องการยอมรับผิดแทนลูกน้องนั้น ผมได้แนวคิดนี้มาจากหัวหน้าคนเก่าที่ผมรักมาก นั่นคือ คุณซิกเว่ เบรคเก้ ของเทเลนอร์ ที่ครั้งหนึ่งผมเคยทำงานที่ดีแทค ตอนนั้นผมโชคดีที่ได้ทำงานใกล้ชิดคุณซิกเว่และสำหรับผมเขาคือตัวจริง เพราะผมเชื่อมั่นเสมอว่าเขาบริหารเราด้วยหัวใจและเขาเป็นเหตุผลให้ผมอยากตื่นไปทำงานทุกเช้า
“คุณซิกเว่สอนผมว่า “สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ” แต่อยู่ที่ว่าสถานการณ์นั้นเราจะเลือกยืนข้างไหน จะอยู่ในมุมช่วยเหลือหรือเอาตัวรอด มันง่ายมากนะครับ ซึ่งทุกอย่างมันจะมีจังหวะที่ต้องตัดสินใจ ผมไม่ได้คิดว่าแนวคิดนี้มันเท่ แต่มองว่าเป็นหัวใจในการบริหารงาน ซึ่งทุกอย่างก็อยู่ที่มุมมองของผู้บริหารแต่ละคนเช่นกัน”
อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องระวังคือ การด่าในที่ลับและชมในที่แจ้ง ซึ่งสิ่งนี้อย่าทำสลับกัน ไม่อย่างนั้นลูกน้องจะเกลียดคุณอย่างแน่นอน
ทีปกร : ของผมเป็นสายคอนเทนต์มาตลอดอาจจะไม่ได้เป็นแนวบริหารงาน แต่เป็นการสอนงานรุ่นน้องในทีมมากกว่า ซึ่งน้องเคยบอกผมว่า ขอบคุณที่เลือกเขามาทำงานด้านคอนเทนต์ เพราะมันกลายเป็นโอกาสและอาชีพที่เขารู้ว่าตัวเองควรเดินต่อไปอย่างไรในอนาคต
เพราะความเบื่อในการทำงานนั้น เป็นเมฆหมอกที่แก้ไม่ได้เลย ถ้าเราไม่เริ่มแก้จากปัญหาภายในใจ ดังนั้นจึงควรถามตัวเองว่า งานที่เรากำลังทำนั้น อยากทำอยู่หรือเปล่า ถ้าเราจมกับงานที่เบื่อและไม่รู้วิธีแก้ไขให้ตนเองอยากทำงานต่อไป ก็ต้องมาถามตัวเองว่าลาออกแล้วคุ้มไหม เราแยกปัญหาออกจากงานได้ไหม เราจะเกลียดใครสักคนจนต้องตกงานไหม สิ่งเหล่านี้อยากให้คิดทบทวนให้ดี
ธีรนัย : ผมยอมรับว่าที่วงในมีคนลาออกเยอะมากในแต่ละปี ซึ่งน้องแต่ละคนที่มาลาออกเขาไม่ได้มีปัญหาเรื่องเงิน แต่มีปัญหาเรื่องเนื้องานกับ Career Path จากที่ผมคุยพบว่ามีน้องหลายคนเขาไม่รู้ว่าจุดหมายของเขาจะเดินไปทางไหน เพราะเด็กรุ่นใหม่เรียกว่ามีไฟที่อัดแน่น แต่พวกเขาไม่ได้รับการสนับสนุนที่ตรงจุดหรือเราไม่ได้จับเขาไปอยู่ในจุดที่เหมาะสม
นอกจากนี้ ตอนที่ผมสัมภาษณ์พนักงานก็ทราบว่าหลายคนสมัครเข้ามาเพราะภาพลักษณ์ของบริษัทคือสิ่งที่เขาอยากทำ แต่กว่า 90% ลาออกเพราะหัวหน้าไม่สนับสนุนให้เขาได้ทำงานที่ตรงกับสิ่งที่เขาถนัดหรือต้องการ รวมทั้งหน้าที่งานนั้นไม่ท้าทาย จึงเป็นสิ่งที่เราต้องกลับมาทบทวนให้มากขึ้น
ข้อคิดน่าสนใจ
ธีรนัย : การเป็นมนุษย์ออฟฟิศ ความพยายามเป็นสิ่งตั้งต้นที่สำคัญมาก อยากได้ผลอะไรก็ต้องพิสูจน์ก่อน เช่น ตัวผมนั้นไม่ได้เรียนจบสายคอนเทนต์ สิ่งที่ผมทำคือตั้งใจและพยายามให้มากกว่าคนอื่น เพื่อพิสูจน์ว่า แม้เราไม่ได้มีแต้มบุญแบบคนอื่นแต่เราทำงานได้
นอกจากนี้ ถ้าอยากเก่งก็ต้องศึกษาเพิ่มเติมเพราะเทรนด์เปลี่ยนทุกวัน เราต้องเรียนรู้ใหม่ให้เร็วขึ้น เรื่อง Speed นั้นสำคัญมาก ไม่ว่าจะทำงานสายไหน เรื่องของความเร็วจะช่วยผลักดัน Passion และต้องมีความสุขในงานที่กำลังทำด้วย
ทีปกร : การทำงานเขียนไม่ได้ หมายถึงเขียนตลอดเวลา นั่นหมายความว่า เราต้องหาแก่นความสามารถของเราว่ามีอะไรบ้าง และทำงานให้หลากหลาย เพราะทุกทักษะมีประโยชน์กับการทำงานเสมอ
ธนา : ผมเป็นคนปานกลาง โอกาสจึงได้มาจากงานที่คนไม่อยากทำ แต่ได้สะสมความรู้จากสิ่งที่คนอื่นไม่มี เราจึงได้รับโอกาสใหม่ๆ เสมอเพราะผู้บริหารมองว่าเรารู้และคุ้นเคย ดังนั้น คุณจะเติบโตได้หรือไม่ มาจากการเรียนรู้ ยิ่งตำแหน่งสูงมากเท่าไหร่ ยิ่งส่งเสียงว่าเรารู้มากกว่าคนอื่น ก็ยิ่งกลายเป็นน้ำเต็มแก้ว
ซึ่งคนอื่นเขาจะไม่ชอบ ต้องแกล้งโง่บ้าง เช่น ผมกำลังหัดเล่นเกมส์ pub g กับลูกสาว เล่นแย่มาก แพ้ทุกตา แต่เราได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ และมีคนที่เก่งกว่าเราให้ความรู้และแลกเปลี่ยนข้อมูลให้เราได้รู้มากขึ้น ทำให้ชีวิตมีมุมมองและความหมายมากขึ้น ดังนั้นอย่าหยุดเรียนรู้