ลองนึกภาพสมาร์ทโฟนที่ต้องสแกนลายนิ้วมือก่อนจึงจะเข้าสู่ระบบได้ หากในอนาคตมีระบบลักษณะเดียวกันติดตั้งอยู่บน “ปืน” เพื่อตรวจสอบว่าผู้ใช้งานคือเจ้าของที่ถูกต้องเสียก่อน จึงจะสามารถลั่นไกได้ ภาพลักษณ์ความเป็นปืนอาจไม่เหมือนเดิม
แนวคิดในการพัฒนาปืนให้ปลอดภัยกำลังแพร่หลายในสหรัฐอเมริกาขณะนี้ โดยประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้เคยกล่าวถึงเรื่องนี้โดยเปรียบเทียบกับกรณีสมาร์ทโฟนว่า เรามีเทคโนโลยีที่สามารถป้องกันการโจรกรรมสมาร์ทโฟนได้ ก็ควรมีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อป้องกันการใช้ปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตเช่นกัน ซึ่งการเกิดโศกนาฏกรรมเกี่ยวกับปืนอยู่บ่อยครั้ง เช่น การกราดยิงภายในสถานศึกษาต่าง ๆ ของสหรัฐอเมริกา ยิ่งทำให้มีผู้สนับสนุนแนวคิดนี้เพิ่มมากขึ้น
โดยหนึ่งในบริษัทที่มีแผนจะพัฒนาปืนอัจฉริยะคือ iGun Technology ซึ่งตั้งอยู่ในฟลอริด้า โดยทางบริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาเพิ่มแผงวงจรลงไปบริเวณด้ามปืนให้สามารถตรวจสอบตัวตนของผู้ถือว่าเป็นเจ้าของหรือไม่ (กรณีของ iGun คือการให้ผู้ใช้สวมแหวน เพื่อส่งสัญญาณมายังตัวปืน หากไม่มีแหวน ก็จะไม่สามารถยิงได้)
อย่างไรก็ดี ในด้านการใช้งานจริง การเพิ่มเทคโนโลยีอัจฉริยะลงไปในอาวุธปืนอาจหมายถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และการมีเทคโนโลยีอัจฉริยะมาควบคุมก็อาจทำให้ผู้ครอบครองปืนไม่แน่ใจว่าจะถูกแทรกแซงการใช้ปืนในสถานการณ์คับขันหรือไม่ด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น ในยามคับขันที่เจ้าของต้องการใช้ปืนป้องกันตัวเอง แต่ระบบตรวจสอบความถูกต้องเกิดมีปัญหา หรือไม่สามารถเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนได้ การลั่นไกก็จะไม่เกิดขึ้น ซึ่งอาจไม่เป็นผลดีต่อสถานการณ์นั้น ๆ แต่อย่างใด
นั่นจึงอาจเป็นเหตุผลว่า ในโลกที่อะไร ๆ ก็ต่อท้ายด้วยคำว่าอัจฉริยะ อาจมีบางสิ่งที่หลายคนไม่ต้องการให้มันอัจฉริยะไปมากกว่าทุกวันนี้ก็เป็นได้ และหากหนึ่งในนั้นคือ “ปืน” การมีคำว่าอัจฉริยะมาต่อท้าย อาจหมายถึงภาพลักษณ์ที่เปลี่ยนไปตลอดกาล