Wearable จำพวก Fitness band ส่วนมากจะมีวัตถุประสงค์ในการใช้งานอยู่ที่การลดน้ำหนักหรือการนับจำนวนก้าวในแต่ละวันเพื่อกระตุ้นให้เดินได้ครบตามเป้าหมาย แต่ Tempo ต่างไปจากอุปกรณ์เหล่านั้น เพราะมันคือ Wearable ตัวแรกที่มีเป้าหมายเพื่อติดตามชีวิตในแต่ละวันของผู้สูงอายุและส่งสัญญาณเตือนให้ผู้ดูแลทราบเมื่อมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น
Tempo จะระบุสัญญาณเริ่มต้นของปัญหาสุขภาพต่างๆ ที่จะปรากฏให้เห็นในรูปแบบของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับวิถีชีวิตปกติ และในกิจกรรมต่างๆ อย่างเช่นการทำกับข้าว แปรงฟัน หรือการกิน ซึ่งจะช่วยให้มองเห็นสุขภาพกายและสภาพจิตใจของผู้ใช้งานด้วย
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผู้ใช้งานเริ่มจะทำกิจกรรมที่ชอบน้อยลง (อย่างเช่นการทำกับข้าว) มันก็อาจจะเป็นสัญญาณเตือนว่าเขากำลังรู้สึกหดหู่หรืออยู่ในภาวะซึมเศร้า และถ้าผู้ใช้งานเริ่มแปรงฟันบ่อยขึ้น มันก็อาจจะเป็นไปได้ว่าเขาเริ่มจะสูญเสียความทรงจำระยะสั้นแล้ว
Tempo เป็นสายรัดข้อมือที่ผลิตโดย CarePredict สามารถใช้งานได้ทั้งนาฬิกาและเก็บบันทึกกิจวัตรประจำวันของผู้งาน ขณะนี้อยู่ในช่วงหาผู้สนับสนุนใน Fundable
Satish Movva ซีอีโอของ CarePredict ให้สัมภาษณ์กับ Mashable ว่าที่มาที่ไปในการทำ Tempo มาจากความต้องการที่จะดูแลคุณพ่อวัย 86 และคุณแม่วัย 76 ของเขาให้ดีขึ้น เพราะตัวเขาเองก็ทำได้แค่กลับไปเยี่ยมพวกท่านทุกๆ สุดสัปดาห์ สิ่งที่เขาต้องการคือความแน่ใจว่าพวกท่านจะสบายดีในตอนที่เขาไม่อยู่ด้วย ซึ่งอุปกรณ์ติดตามสุขภาพทั่วๆ ไปนั้นขาดการปรับให้เข้ากับบริบทของผู้ใช้งานและไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อผู้สูงอายุ เพราะมันไม่มีอะไรมากไปกว่าจำนวนก้าวหรือการนอนหลับ
สายรัดข้อมือ Tempo จะทำงานร่วมกับ Beacon (หรือเซ็นเซอร์) ที่จะติดตามการเดินไปมาภายในบ้าน ข้อมูลก็จะถูกส่งมาที่ hub ซึ่งจะทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลเหล่านั้น และแจ้งเตือนมายังสมาร์ตโฟนหรือคอมพิวเตอร์ของผู้ดูแล
อัลกอริธึ่มของ Tempo คือการมองหาค่าความเบี่ยงเบนไปจากรูปแบบที่ปกติ แล้วส่งสัญญาณเตือน ซึ่งไม่ใช่แค่การเตือนแบบคร่าวๆ เท่านั้น แต่ยังมีการกระตุ้นให้ผู้ดูแลมีพฤติกรรมตอบสนองด้วย เช่น ถ้าโดยปกติแล้วแม่ของคุณตื่นตอน 7 โมงเช้า เข้าห้องน้ำ และเดินไปห้องนั่งเล่น แต่วันนี้เธอตื่นเวลาเดิม เดินไปห้องน้ำ และกลับมานอนอีกครั้ง คุณก็จะได้รับการรายงานว่า “แม่ของคุณอาจจะไม่สบายนะ ลองโทรไปเช็คดูหน่อยว่าเธอเป็นยังไงบ้าง”
นอกจากเรื่องความสามารถในการใช้งานแล้ว ประเด็นต่อมาที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล Tempo จะให้สิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลเฉพาะผู้สวมใส่กับผู้ดูแลเท่านั้น และถ้าหากผู้ใช้งานลืมสวมสายรัดข้อมือออุปกรณ์จะส่งสัญญาณเตือนไปยังผู้ดูแลด้วย
“เราอยากจะเปลี่ยนอุปกรณ์ติดตามสุขภาพให้เป็นเครื่องมือที่เรียนรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ปกติสำหรับผู้ใช้งานแต่ละคน และมองหาความเบี่ยงเบนที่ระบุปัญหาสุขภาพได้ ไม่ใช่แค่บันทึกจำนวนก้าว และมอร์นิเตอร์คลื่นหัวใจเท่านั้น” Satish กล่าวทิ้งท้าย
อ่านจบแล้วอยากจะลองซื้อมาใช้เลยนะเนี่ย ตอบโจทย์คนอยู่ไกลบ้านจริงๆ ลองรับชมคลิปแนะนำการใช้งาน Tempo ได้จากคลิปด้านล่างนี้เลย ^^