Site icon Thumbsup

บทบาทใหม่แอพแชตจีน WeChat อาสาแก้ปมสินค้าเถื่อนออนไลน์

wechat-680x452

ที่ผ่านมา แอพพลิเคชันแชตมักโชว์จุดขายเรื่องการเป็นเครื่องมือเข้าถึงลูกค้าได้แบบใกล้ชิด แต่ยังไม่เคยมีใครแสดงให้เหล่าแบรนด์เห็นว่าแอพพลิเคชันรับส่งข้อความสนทนาสามารถแก้ปัญหาสินค้าปลอมลอกเลียนแบบที่วางจำหน่ายบนโลกออนไลน์ได้ ซึ่งเป็นบทบาทใหม่ที่ WeChat เพิ่งประกาศเปิดตัวเมื่อวันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา

WeChat เป็นแอพพลิเคชันรับส่งข้อความสนทนาบนอุปกรณ์พกพาของบริษัท Tencent ที่ได้รับความนิยมมากในประเทศจีน เพื่อขยายบทบาทใหม่ให้ WeChat มีความสำคัญกับแบรนด์มากขึ้น WeChat จึงพัฒนาความสามารถใหม่ที่จะทำให้แบรนด์ที่จ่ายค่าธรรมเนียมและยืนยันตัวกับ WeChat จนได้สถานะ “paid verified account” สามารถต่อสู้กับกองทัพสินค้าลอกเลียนแบบได้อย่างที่แอพพลิเคชันอื่นทำไม่ได้

จุดประสงค์ที่ WeChat ประกาศในงานเปิดตัวบริการ paid verified account อย่างเป็นทางการ คือ paid verified account เกิดขึ้นเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซของแบรนด์มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น ดังนั้นบริการ verification ของ WeChat จึงไม่เน้นกลุ่มเซเลบฯหรือบุคคลที่มีชื่อเสียง แต่จะเน้นที่กลุ่มธุรกิจหรือแบรนด์ซึ่งมุ่งหวังจะจำหน่ายสินค้าอย่างจริงจัง

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ WeChat ตั้งราคาค่าธรรมเนียมของบริการ paid verified account ไว้ที่ 300 หยวน (ราว 1,500 บาท) โดยบริษัทที่ยื่นแบบสมัครบริการ paid verified account และได้รับการตรวจสอบจาก WeChat แล้วว่าเป็นบัญชีตัวแทนบริษัทหรือแบรนด์นั้นจริง จะได้รับตราสัญลักษณ์พิเศษ และสามารถตกแต่งส่วนติดต่อผู้ใช้หรือ interface ปรับแต่งใหม่เพื่อให้แบรนด์สามารถสื่อสารกับลูกค้าได้อย่างเฉพาะเจาะจง ซึ่งจะทำให้ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมเบื้องต้นกับแบรนด์โดยไม่ต้องเปิดหน้าเว็บไซต์ใหม่

WeChat ให้ข้อมูลว่าการตรวจสอบเพื่อยืนยันบริษัทจะทำโดยบริษัทอื่นหรือ third party ซึ่งจะสามารถการันตีได้เต็มที่ว่าธุรกิจหรือแบรนด์นั้นเกิดขึ้นอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยการนำองค์กร third party มาตรวจสอบจะทำให้ WeChat สามารถยืนยันตัวตนและความถูกต้องของแบรนด์ได้รวดเร็วและหลากหลาย ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นที่มาของค่าธรรมเนียมบริการที่สูงถึง 1,500 บาท

จุดยืนของ WeChat เรื่องการส่งเสริมอีคอมเมิร์ซนั้นถือเป็นเรื่องน่าสนใจมาก ที่ผ่านมา แอพพลิเคชันมักให้ความสำคัญกับการยืนยันบุคคลที่มีชื่อเสียงควบคู่ไปด้วย มากกว่าการปรับให้แบรนด์สามารถทำธุรกรรมซื้อขายได้บนแพลตฟอร์มแชตอย่างที่ WeChat ทำ ซึ่งถือว่า WeChat เลือกสร้างคุณสมบัติในฝันของเหล่าแบรนด์ได้อย่างน่าสนใจ

ที่มา: Tech in Asia