การบินไทย ปรับปรุงช่องทางการขายใหม่พร้อมปรับโครงสร้างองค์กร ย้ำจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 14.7% ช่วยเพิ่มรายได้ของปี 2567 ไปในแนวบวก ส่วนการเข้ามาเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นของกระทรวงการคลังก็ยังอยู่ในช่วงขอการรอผลสรุปใน 29 พฤศจิกายน 2567 นี้ว่าจะเป็นอย่างไร ยอมรับไม่ว่าจะผ่านหรือไม่ก็ยังเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้
นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพรวมผลประกอบธุรกิจของการบินไทยในงวด 9 เดือนของปี 2567 แสดงให้เห็นถึงการเติบโตที่แข็งแกร่งและความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องในการฟื้นฟูกิจการ จากจำนวนผู้โดยสารกว่า 11.62 ล้านคน เพิ่มขึ้น 14.7% เมื่อเทียบกับงวด 9 เดือนของปี 2566
นอกจากนี้ ยังมีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) 47,778 ล้าน ASK เพิ่มขึ้น 19.2% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน สะท้อนถึงศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น
จากการดำเนินธุรกิจตามแผนฟื้นฟูกิจการที่เรียกความเชื่อใจจากลูกค้ากลับมาได้ และในส่วนของกำไร (ขาดทุน) จากการดำเนินงานในงวด 9 เดือนของปี 2567 อยู่ที่ 24,191 ล้านบาท ซึ่งน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไร 29,330 ล้านบาท และ EBITDA ของงวด 9 เดือน ปี 2567 อยู่ที่ 33,742 ล้านบาท
ในขณะที่ช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 37,590 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากความมุ่งมั่นในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้น อาทิ ค่าซ่อมแซมและบำรุงอากาศยานที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนเครื่องบินที่เข้ามาใหม่สำหรับการรองรับผู้โดยสารที่มากกว่าเดิม และค่าบริการการบินจากจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งอัตราค่าบริการการบินต่อเที่ยวปรับตัวสูง ตลอดจนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการขายและการโฆษณาที่เพิ่มขึ้น
จากความจำเป็นในการจ่ายค่าธรรมเนียมสำรองที่นั่งที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณการจองเที่ยวบิน อย่างไรก็ตาม เรามั่นใจว่าการลงทุนเหล่านี้จะสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว และช่วยให้การบินไทยกลับมาแข็งแกร่งยิ่งขึ้นกว่าเดิมในอนาคตอันใกล้
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาในช่วงฟื้นฟูกิจการที่ผ่านมา ที่ล้วนเป็นส่วนสำคัญในการนำพาการบินไทยบรรลุผลสำเร็จที่คาดหวังไว้ เราได้มีการปรับโครงสร้างองค์กร ปรับกลยุทธ์การบริหารต้นทุนเพื่อลดค่าใช้จ่าย ปรับฝูงบินและเส้นทางการบิน เพื่อเพิ่มรายได้และสร้างกำไรในทุกเส้นทางบิน สู่ก้าวใหม่ในฐานะบริษัทเอกชนที่เปี่ยมศักยภาพกว่าที่เคย ในวันนี้การบินไทยประสบผลสำเร็จจากกระบวนการแปลงหนี้เป็นทุนซึ่งประกอบด้วย
- การแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการแบบภาคบังคับเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน (Mandatory Conversion) คิดเป็นมูลค่า 37,601.9 ล้านบาท โดยได้จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 14,773.7 ล้านหุ้น โดยเจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 หรือกระทรวงการคลัง ได้รับการชำระหนี้เงินต้นคงค้างเต็มจำนวนในสัดส่วนร้อยละ 100 ในขณะที่เจ้าหนี้กลุ่มที่ 5, กลุ่มที่ 6 (สถาบันการเงิน) และเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ ได้รับการชำระหนี้เงินต้นคงค้างในอัตราร้อยละ 24.50
- การใช้สิทธิแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการเป็นทุนเพิ่มเติมโดยความสมัครใจ (Voluntary Conversion) ซึ่งในระหว่างวันที่19-21 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ได้มีเจ้าหนี้จำนวนมากแสดงเจตนารวมกันเกินกว่า 3 เท่าของจำนวนหุ้นที่มีรองรับตามแผนฟื้นฟูกิจการ โดยได้จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนเป็นจำนวน 4,911.2 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่า 12,500.1 ล้านบาท
- การใช้สิทธิแปลงดอกเบี้ยตั้งพักใหม่เป็นทุนมูลค่า 3,351.2 ล้านบาท และได้จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 1,304.5 ล้านหุ้น สุทธิภาษีหัก ณ ที่จ่ายรวม (1) – (3) คิดเป็นภาระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ รวมทั้งสิ้นมูลค่า 53,453.2 ล้านบาท เป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวน 20,989.4 ล้านหุ้น ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น ซึ่งจะส่งผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้นในงบการเงินของการบินไทยกลายเป็นบวกภายในสิ้นปีนี้ อันเป็นการบรรลุหนึ่งในเงื่อนไขในการยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ
ทั้งนี้ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของสถานะทางการเงินให้สามารถดำเนินธุรกิจอย่างเต็มประสิทธิภาพเพื่อแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินในระดับสากล การบินไทยจะดำเนินการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในส่วนถัดไป ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ โดยการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 9,822.5 ล้านหุ้น ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของการบินไทยก่อนการปรับโครงสร้างทุนตามข้อมูลที่ปรากฏในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567 ที่มีที่อยู่ในประเทศไทย และพนักงานของการบินไทย ตามลำดับ
ในราคา 4.48 บาทต่อหุ้น โดยสามารถจองซื้อและชำระเงินระหว่างวันที่ 6 – 12 ธันวาคม 2567 ผ่านช่องทางจัดจำหน่ายของผู้จัดการการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์และตัวแทนจำหน่ายหลักทรัพย์ที่กำหนด ทั้งนี้ หากมีหุ้นสามัญคงเหลือจากการจัดสรรหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมก่อนการปรับโครงสร้างทุน และพนักงานของบริษัทฯ ตามลำดับ จะดำเนินการเสนอขายให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ที่ราคาเสนอขายเดียวกันต่อไป
โดยการกำหนดราคาดังกล่าวที่กำหนดโดยผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการมีความเหมาะสม โดยการพิจารณาจากหลายปัจจัย ซึ่งรวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียง การประเมินมูลค่ายุติธรรม ทั้งจากวิธีเปรียบเทียบอัตราส่วนตลาด (Market Comparable Approach) เช่น อัตราส่วนมูลค่ากิจการต่อกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (Enterprise Value to EBITDA Ratio: EV/EBITDA) อัตราส่วนราคาตลาดต่อกำไรสุทธิ (Price to Earnings Ratio: P/E) และวิธีมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดของกิจการ (Discounted Cash Flow) ข้อจำกัดและโครงสร้างการเสนอขายภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ ความเสี่ยงของนักลงทุนจากการที่ต้องใช้เวลาประมาณ 5-6 เดือนกว่าที่หุ้นจะกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตลอดจนประโยชน์และผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้บริษัทฯ มีโอกาสได้รับเงินทุนจากการเสนอขายที่เหมาะสม เพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินและการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต