กลายเป็นกระแสร้อนสำหรับ “การบินไทย” สายการบินแห่งชาติที่ได้รับผลกระทบเต็มที่หลังเกิดกรณีผู้โดยสารร้องเรียนความล่าช้าของเที่ยวบิน TG 971 เส้นทาง ซูริค – กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2561 หลังจากประเด็นดังกล่าวถูกเผยแพร่ไป แบรนด์การบินไทยได้รับผลกระทบอย่างน้อย 3 ด้านนี้บนสื่อสังคมออนไลน์
1. เกือบทุกโพสต์ ถูกเหน็บแนม
แม้เหตุดราม่า TG 971 จะเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2561 แต่เพราะประเด็นดังกล่าวถูกเผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์ช่วง 1 สัปดาห์นับจากนั้น ทำให้ไม่ว่าการบินไทยจะโพสต์บนเพจ Facebook ด้วยเนื้อหาใด หลายโพสต์ช่วงหลังจากวันที่ 17 ตุลาคมมักจะมีความเห็นเหน็บแนมการบินไทยโดยโยงกับกรณีที่เกิดขึ้น
โพสต์ความเห็นบนเพจการบินไทยในช่วงก่อนหน้านี้มักเป็นข้อความสอบถามรายละเอียดแคมเปญที่การบินไทยจัดขึ้น แต่ในช่วงหลังจากข่าวการบินไทยได้รับความสนใจ แม้กระทั่งโพสต์ที่มีเนื้อหาว่า “การบินไทยร่วมจัดแสดงนิทรรศการและเสวนางานศิลป์ร่วมสมัย” ก็ยังมีความเห็นเหน็บแนมการบินไทยปรากฏ
2. เสียงวิจารณ์ว่า “การบินไทยทำพลาด”
แม้โซเชียลจะเป็นช่องทางติดต่อสื่อสารที่ดี แต่แถลงการณ์ที่การบินไทยโพสต์ขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทางเพจ Facebook กลับถูกมองว่าเป็นการกระทำที่พลาดท่า เพราะยิ่งส่งผลเสียต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
หนึ่งในความเห็นน่าสนใจระบุว่า การนำโลโก้ของแบรนด์ออกมาวาง และเปิดช่องให้มีความเห็นต่อว่าเช่นนี้ ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์อย่างยิ่ง สิ่งที่ฝ่ายสื่อสารองค์กรของการบินไทยควรทำคือการออกเป็นจดหมายแทน ดีกว่าการนำเอาโลโก้มาลงแบบนี้
3. แถลงการณ์ไม่ได้ผล
แม้ Facebook จะถูกใช้เป็นช่องทางอธิบายของทั้งผู้บริหารการบินไทย และทีมนักบินที่หวั่นใจว่านักบินการบินไทยจะตกเป็นจำเลยสังคม แต่ความเห็นของผู้บริโภคบนโซเชียลจำนวนไม่น้อยเป็นไปในแนวโน้มเดียวกัน คือไม่ยอมรับแถลงการณ์เหล่านี้
“สุเมธ ดำรงชัยธรรม” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ยืนยันว่าไม่ได้นิ่งนอนใจและได้ลงมือสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินการตามระเบียบของบริษัทฯ อย่างเคร่งครัด รวมทั้งจะกำหนดมาตรการป้องกันเพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นอีกในอนาคต ประเด็นนี้เสียงโซเชียลมองว่าความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว การบินไทยควรมีมาตรการจัดการปัญหาได้ดีกว่าการสอบสวนเพื่อป้องกัน
ขณะที่ “จักรี ดารารัตน์ จงศิริ” ผู้ใช้ Facebook ที่แสดงตัวเป็นนักบิน ได้อธิบายเหตุการณ์ล่าช้าของเที่ยวบิน TG 971 ว่าเป็นปัญหาความไม่เข้าใจของพนักงานในองค์กร จุดนี้ชาวโซเชียลไม่ได้มองไปทางเดียวกับนักบิน แต่มองว่าเหลุผลนี้ “ไม่มีผลกับด้านความปลอดภัยอะไรเลย เป็นแค่สิทธิพิเศษล้วนๆ แต่นักบินไม่ยอมเสียสละสิทธิ และเอาผู้โดยมาต่อรอง”
นอกจาก 3 บทสรุปผลกระทบที่เห็นบนโลกโซเชียลนี้ ยังมีอีกหลายแง่มุมที่สะท้อนว่าดราม่าชามนี้ไม่มีใครอยู่ข้างการบินไทยเลย ไม่แน่ ทางที่ดีคือการบินไทยต้องหยุดนำเสนอทุกอย่าง เพื่อให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
แล้วก็รอเวลา ให้คนไทยลืมเรื่องนี้ไปเอง.