จากกรณีข่าวบริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติ กำลังอยู่ในช่วงวิกฤตเพราะขาดทุนหนักติดต่อกันหลายปี กลายเป็นประเด็นอีกครั้งหลังจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เมื่อวันที่ 29 เม.ย. มีมติเห็นชอบในหลักการให้การบินไทยกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง โดยให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ โดยจะเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป (ครม.)
โอกาสสุดท้าย
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมครม. ถึงแผนฟื้นฟู บริษัท การบินไทย ว่ายังไม่มีการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรีแต่จะเป็นโอกาสสุดท้ายที่รัฐบาลจะเข้าไปดูแล เพื่อไม่ให้แย่ไปกว่านี้
“ผมให้เวลาในการแก้ไข 5 ปี ไปแล้ว ก็ยังไม่สำเร็จ ครั้งนี้ก็ถือเป็นครั้งสุดท้ายแล้วที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการให้ได้ตามนั้น ก็ขอความร่วมมือจากบรรดาจากสหภาพต่าง ๆ ด้วย นั่นคือความเป็นความตายของท่าน”
อย่างไรก็ตามพล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวถึงแผนฟื้นฟูซึ่งมีอยู่ประมาณ 10 ประการที่เรียกร้องให้ผู้บริหาร พนักงานและสหภาพแรงงานฯ การบินไทยให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตาม พร้อมย้ำถึงความจำเป็นที่การบินไทยจะต้องอยู่ต่อไป
ฟื้นฟูการบินไทย
แม้ไม่ได้มีการเปิดเผยวงเงินแต่สื่อหลายสำนักคาดว่า ครม.จะอนุมัติให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องให้การบินไทยวงเงิน 5 หมื่นล้านบาท ส่วนแผนฟื้นฟูการบินไทยระยะที่ 2 ประกอบด้วยการเพิ่มทุน 8 หมื่นล้านบาท และการปรับโครงสร้างบริษัท ออกจากสถานะของความเป็นรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้การบริหารงานคล่องตัวมากขึ้น
ล่าสุดวันนี้ (8 พ.ค.) สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ขอมีส่วนร่วมแผนฟื้นฟู แก้ไขเกี่ยวกับโครงสร้างขององค์กร การเพิ่มรายได้ การลดค่าใช้จ่าย การกำจัดอิทธิพลทางการเมือง ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ รวมถึงการลดขนาดขององค์กรอย่างถูกต้องตามกฎหมายและด้วยความสมัครใจของพนักงาน ตามแผนฟื้นฟู
แต่ยังคงแสดงจุดยืนคัดค้านการปรับโครงสร้าง เพื่อยังคงสถานะสภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจ และการอยู่ร่วมกันของหน่วยงานทุกหน่วยงานของบริษัทฯ และการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ รวมถึงสวัสดิการของสมาชิกและพนักงานบริษัทฯ
อ้างอิง TG UNION