อาจจะดูแปลกไปถ้าแปลข่าวบล็อกต่างประเทศอย่าง WordPress แต่ไม่เหลียวกลับมามองบล็อกดีๆ ในบ้านเรากันบ้าง ที่เห็นชัดๆ 3 เจ้าใหญ่ เรียงลำดับโดยจำนวนผู้ใช้นั่นก็คือ exteen ของ เอทเซทโต (อันดับที่? 7) ตามมาด้วย Bloggang ของ อินเตอร์เน็ต มาร์เก็ตติ้ง หรือ Pantip.com (อันดับที่? 8) และ OKNation ของกลุ่มเนชั่น (อันดับ 22) ประเด็นที่น่าสนใจไม่แพ้ WordPress ที่เพิ่งนำเสนอไปก็คือบล็อกไทยเราทำอะไรให้กับผู้ใช้บ้าง รูปแบบธุรกิจเขาเป็นอย่างไร เรามาไล่ดูกัน
Exteen:
เปิดให้บริการบล็อกในช่วงกลางปี 2547 ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 200,000 ราย ก่อตั้งโดย ทีปกร วุฒิพิทยามงคล (แชมป์) และปฏิญญา เสงี่ยมจิตร์ (ต่าย) ปัจจุบันบริหารงานภายใต้ชื่อบริษัท เอทเซทโต จำกัด
สโลแกน: Blog Service for Thai people
สถิติ: เป็นบล็อกอับดับ 1 ของเมืองไทย ด้วยจำนวนผู้ใช้ 301,610 Unique IP (x3 ได้ประมาณ 904,830 คน)
รูปแบบธุรกิจ: exteen ให้บริการบล็อกฟรี รายได้เกือบทั้งหมดจึงมาจากผู้สนับสนุนโฆษณาในรูปแบบแคมเปญโฆษณา, แบนเนอร์ และงานอีเวนท์ที่จัดภายนอก ใน เว็บไซต์ตรงส่วน Advertisement ระบุว่าผู้เข้าชมของ exteen คือวัยรุ่นตั้งแต่มัธยม ถึงมหาวิทยาลัย และวัยเริ่มทำงาน โดยเป็นหญิงและชาย จำนวนเท่าๆ กัน โดยสินค้าที่เคยลงโฆษณากับ exteen เช่น Pepsi, AIS, Dtac, Sony, Lux, RS, ภาพยนตร์ Harry Potter และสำนักพิมพ์ต่างๆ ปัจจุบันทาง เอทเซทโตมอบสิทธิ์ในการบริหารงานโฆษณาให้กับเนชั่น มัลติมีเดียกรุ๊ป?
ลักษณะเด่น: การบริหารจัดการ? community ที่ดึงความสนใจส่วนตัวของเว็บมาสเตอร์ ที่สนใจเรื่องหนังสือ เรื่องการเดินทาง เรื่องการ์ตูนญี่ปุ่น เทคโนโลยี? Gadget ซึ่งล้วนเป็นความสนใจของคนรุ่นใหม่ ทำให้เกิดบล็อกเกอร์คุณภาพดีๆ ขึ้นมากมาย นอกจากนี้ยังมีระบบโหวตบล็อกน่าสนใจซึ่งล้วนแล้วแต่สะท้อนความคิดและมุมมองของคนไทยรุ่นใหม่ อย่างช่วงเวลานี้บล็อกที่ได้รับความนิยมมากที่สุดก็คือบล็อกที่เขียนเรื่องตรุษจีน
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย: คาดว่าเคยมีผู้เสนอซื้อ exteen แน่นอนเพราะทีมงานระบุไว้ในบทสัมภาษณ์ที่ให้กับ Blognone ว่าตีมูลค่าของเว็บตัวเองไว้มากกว่าล้านบาทเมื่อปี 2550 ปัจจุบันมีโฆษณาเข้าไม่หยุดหย่อน มูลค่าก็น่าจะสูงกว่านี้อย่างน้อยๆ ก็ไม่ต่ำกว่า 5-10 ล้านบาท
Bloggang: แหล่งระบุตัวตนอีกระดับของคน Pantip
สโลแกน: Weblog for you and your gang
สถิติ: 259,754 (x3 ราว 779,262 คน)
รูปแบบธุรกิจ: เน้นโฆษณาแบนเนอร์และจัดกิจกรรมเช่นเดียวกับ exteen แต่มีจุดขายตรงที่เป็นบล็อกที่เชื่อมต่อกับ Pantip.com โดยกระทู้ต่างๆ ใน Pantip จะเชื่อมโยงกับ Bloggang ซึ่งล่าสุด Pantip ก็เตรียมเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ทำให้เชื่อได้ว่า Bloggang จะมีการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน ปัจจุบันบริหารงานโฆษณาโดยเนชั่นกรุ๊ป เพราะ Pantip ก็ขายโฆษณากับเนชั่น ผู้โฆษณาเลือกได้ว่าต้องการลงเพียงเจ้าเดียว (fixed banner) หรือลงสลับกับเจ้าอื่นด้วย (2 เจ้า) และทุกตำแหน่ง แบนเนอร์จะแสดงที่หน้าแรก Bloggang.com และในหน้าแสดง list กลุ่มย่อยทุกกลุ่ม
ลักษณะเด่น: Bloggang มีลักษณะเด่นมากมาย ไม่ใช่เพียงแค่เป็นส่วนหนึ่งของ Pantip แต่ยังมีระบบให้ทิปกับนักเขียนบล็อกที่เรียกว่า ระบบ “เปิดหมวก” โดยที่มาเกิดจากการแสดงข้างทางแบบเปิดหมวก เป็นการเปิดรับการสนับสนุนเงิน เพื่อการทำบล็อกให้กับผู้เขียน เพราะทางทีมงาน Pantip คิดว่ามีผู้อ่านหลายคนที่ชื่นชอบผลงานในบล็อกของผู้เขียนแต่ละคน และอยากสนับสนุนเป็นกำลังใจให้มีกำลังใจเขียนต่อไป ซึ่งเรื่องนี้ วันฉัตร ผดุงรัตน์ กรรมการผู้จัดการของอินเทอร์เน็ต มาร์เก็ตติ้งกล่าวว่า ?เราไม่ได้หวังว่าแนวคิดเปิดหมวกบนเว็บจะทำรายได้อะไร เพราะเราแค่อยากให้คนที่สร้างสรรค์เนื้อหาดีๆ เช่น บน Blog ได้มีรายได้ตอบแทนบ้าง แต่ก็ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับบ้านเรา ก็คงต้องลุ้นว่าจะไปรอดหรือไม่?
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย: วันฉัตรเป็นคนรักดนตรี สามารถเล่นไวโอลินได้คล่องแคล่ว นี่อาจเป็นที่มาของแนวคิด “เปิดหมวก”
OKNation: บล็อกของ ‘เนชั่น’ ความพยายามผสานสื่อดั้งเดิมและสื่ออินเทอร์เน็ต เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2550 โดยผู้เขียนบล็อกมีทั้งบรรณาธิการ คอลัมนิสต์ ผู้สื่อข่าวจากสื่อในเครือเนชั่น และสมาชิกที่ลงทะเบียนร่วมกันผลิตเนื้อหา
สโลแกน: ทุกคนเป็นนักข่าวได้
สถิติ: OKNation มี 159,249 หรือประมาณ 477,747 คน
รูปแบบธุรกิจ: OKNation ก็เป็นอีกหนึ่งบริการบล็อกฟรีภายใต้กลุ่มเนชั่น ที่มีความแข็งแกร่งในเชิงข่าวของสื่อดั้งเดิม แต่พยายามจะก้าวเข้าสู่สื่ออินเทอร์เน็ต เคยมีความพยายามที่จะสร้างรายได้ให้กับผู้เขียนบล็อกอยู่เหมือน Bloggang ประมาณเดือนละ 5,000 บาท แต่ก็เงียบไป
ลักษณะเด่น: OKNation ใช้แนวทางของ Citizen Journalism นำ ทำให้บล็อกของเนชั่นเป็น “บล็อกข่าว” มากกว่านำเสนอเรื่องไลฟ์สไตล์อย่างที่สองเว็บด้านบนทำกัน
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย: สุทธิชัย หยุ่น และ แห่งกลุ่มเนชั่น เป็นบล็อกเกอร์ตัวยง และผลักดันให้คนรุ่นใหม่ก้าวขึ้นมาเป็นนักข่าวรุ่นใหม่พันธุ์ใหม่เสมอ ส่วน Oknation ก็ได้รับรางวัล Asian Digital Media Awards จาก IFRA (ซึ่งก็เป็นสมาคมของสื่อเก่า) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2553
ในภาพรวมที่เห็นได้ชัดก็คือ ผู้ให้บริการบล็อกทั้ง 3 เจ้าขายโฆษณาผ่านกลุ่มเนชั่นทั้งหมด และทั้ง 3 เว็บก็ได้ผลักดันเรื่องนี้มาตลอด เช่น ในปี 2553 ทั้ง 3 ก็รวมตัวกันจัดงาน Thailand Blog Awards 2010 ที่มีบล็อกคุณภาพได้รับรางวัลกันไปถ้วนหน้า ในงานครั้งนั้นมีสปอนเซอร์หลักหลายราย อาทิ ธนาคารไทยพาณิชย์, แสนสิริ, โซนี่, เอสบีเฟอร์นิเจอร์, พรีโม่, สมิติเวช, เซ็นทรัลพัฒนา, และ HP แต่สิ่งที่น่าคิดก็คือรูปแบบการดำเนินธุรกิจของทั้ง 3 บริษัทนี้จะเป็นเพียงโฆษณาอย่างเดียวต่อไปหรือไม่? จะมีใครมีนวัตกรรมฉีกออกมาได้แบบ Bloggang ที่มีระบบ “เปิดหมวก”? จะมีใครที่มีภาพลักษณ์คนรุ่นใหม่ที่โดดเด่นแบบ exteen? หรือมีความเข้มข้นและประสบการณ์ด้านข่าวอย่างเนชั่น?หรือจะสร้าง Mobile platform ใหม่เพื่อเสริมให้คนไทยได้สร้างเนื้อหาดีๆ บนบล็อกต่อไปหรือไม่ เป็นเรื่องที่เราต้องติดตามกันต่อไป
thumbsup จะนำเรื่องราววงการอินเทอร์เน็ตไทย และธุรกิจดิจิตอลมาให้คุณ กรุณาติดตาม และถ้าถูกใจ ให้กำลังใจพวกเราด้วยการเข้าไปคลิก Like ที่ Facebook Fan Page และ follow Twitter ของเราด้วยครับ เราจะส่งข่าวตรงถึงคุณทุกวัน