Site icon Thumbsup

คนไทยยุคใหม่ ชอบ ‘กินคลีน’ แต่ไม่เน้นออกกำลังกาย

‘อาหารคลีน’ หรือ ‘อาหารเพื่อสุขภาพ’ ประเภทต่างๆ เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจอย่างมาก ด้วยเทรนด์ของสังคมที่คนหันมาดูแลตัวเองมากขึ้น ทำให้ธุรกิจอาหารคลีนเติบโตในไทยได้อย่างรวดเร็ว และมีแบรนด์ใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นทุกวัน

โดยผลสำรวจของ Nielsen พบว่า คนไทยให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพมากกว่าทำกิจกรรมเพื่อสุขภาพในรูปแบบอื่น อย่างการออกกำลังกาย หรือการรับประทานอาหารเสริม วันนี้ทีมงาน thumbsup จึงนำข้อมูลดังกล่าวมาสรุปให้ผู้อ่านทุกท่านได้รับทราบกันครับ

“ไลฟ์สไตล์เพื่อสุขภาพ” ยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง

จากผลวิจัยของ Nielsen พบว่า คนไทยส่วนมากตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และเริ่มหากิจกรรมเกี่ยวกับการรักษาสุขภาพทำ โดยคนส่วนมากจะพยายามเข้าร่วมอย่างน้อย 1 ใน 5 กิจกรรม ที่เกี่ยวกับการรักษาสุขภาพ ประกอบด้วย

  1. อาหารเพื่อสุขภาพ
  2. เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ
  3. อาหารเสริมชนิดต่างๆ
  4. การออกกำลังกาย / กิจกรรมเพื่อสุขภาพอื่นๆ
  5. การใช้ Application และ Gadget ออกกำลังกาย

โดยผลการวิจัยระบุว่าผู้บริโภคในไทย 90% มีการบริโภคเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ และ 80% มีการบริโภคอาหารหรือขนมเพื่อสุขภาพเป็นประจำ ในขณะที่การบริโภคอาหารเสริม / วิตามิน / แร่ธาตุต่างๆ รวมถึงการออกกำลังกาย น้อยกว่าการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพอยู่มาก

ผู้บริโภคส่วนมากนิยม ‘กิน’ เพื่อป้องกันมากกว่ารักษา

จากตารางข้างต้นจะสังเกตได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคอาหาร เครื่องดื่ม หรืออาหารเสริม ผู้บริโภคชาวไทยจะคำนึงถึงการป้องกันโรคมากที่สุด โดยที่การบริโภคเพื่อรักษาโรค หรือคุมน้ำหนักเป็นปัจจัยรอง

และเมื่อดูข้อมูลเจาะลึกเข้าไปอีก จะพบว่า ถึงแม้อาหารเสริมจะเป็นทางเลือกที่หลายๆ คนให้ความสำคัญเรื่องป้องกันโรค แต่ในการรักษาโรคและการคุมน้ำหนัก อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ยังคงมีอัตราการเลือกบริโภคที่สูงกว่าพอสมควร ในขณะที่อัตราการเลือกบริโภคเพื่อป้องกันโรคก็ไม่ได้ต่ำมากนัก ทำให้ความนิยมในการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพสูงกว่าอาหารเสริมค่อนข้างมาก

ผู้บริโภคเน้นสารอาหาร และรสชาติเป็นหลัก

จากผลสำรวจผู้บริโภคชาวไทยของ Nielsen พบว่า 34% จะเลือกบริโภคผัก / สลัด / อาหารคลีนเป็นหลัก และอีก 28% จะเลือกบริโภคธัญพืช / ถั่ว / อาหารที่ใช้ข้าวสาลี โดยปัจจัยในการเลือกบริโภคส่วนมากจะเลือกจากคุณค่าทางโภชนาการสูงที่สุด รองลงมาคือเรื่องของรสชาติ

สังเกตได้จากสถิติจะพบว่า คนไทยเลือกคุณค่าทางโภชนาการมาเป็นอันดับ 1 มากถึง 50% ในขณะที่มีคนให้ความสำคัญกับรสชาติเป็นอันดับ 2 ถึง 27% และอันดับ 3 อีก 10% คือหาซื้อได้ง่ายและสะดวก

รายการโทรทัศน์ และผู้เชี่ยวชาญครองอันดับความน่าเชื่อถือสูงสุด

นอกจากนี้ ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังได้รับข้อมูลด้านผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพส่วนใหญ่จากรายการโทรทัศน์ ในขณะที่ข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต และ Social Media แพลตฟอร์มต่างๆ รวมถึงข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ หรือการบอกเล่าปากต่อปาก ก็มีอัตราการเข้าถึงข้อมูลไม่ต่างกันมากในเชิงตัวเลข

แต่แหล่งข้อมูลที่ครองอันดับความน่าเชื่อถือ 2 อันดับแรกยังคงเป็น รายการโทรทัศน์และคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งในปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญก็สามารถให้ข้อมูลผู้บริโภคได้เองผ่านหลากหลายแพลตฟอร์มที่คนนิยมใช้กัน ทำให้ผู้ผลิตมีโอกาสในการเพิ่ม touchpoint ของผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพได้มากยิ่งขึ้น

รายงานยังเผยให้เห็นอีกว่า ผู้บริโภคชาวไทยมีความสามารถในการรับรู้เกี่ยวกับคำศัพท์เทคนิคต่างๆ ในด้านสุขภาพ แต่มีแค่ 1 ใน 4 เท่านั้นที่ยอมรับว่าตนเองรู้ถึงประโยชน์ของสารอาหารเหล่านั้นจริงๆ เพราะการเข้ามาให้ข้อมูลที่เข้าใจง่ายและเป็นประโยชน์โดยผู้เชี่ยวชาญ จึงเป็นที่น่าสนใจสำหรับผู้บริโภค

จากความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันที่ทุกอย่างหมุนเร็วขึ้น และอินเทอร์เน็ตหรือ Social Media เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ผู้บริโภคสามารถหาข้อมูลที่ต้องการได้ทุกที่ทุกเวลาที่ต้องการ ทำให้นอกจากการติดตามพฤติกรรมการจับจ่ายของผู้บริโภคแล้ว ผู้ผลิตต้องคำนึงถึงการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อตัวผู้บริโภคมากขึ้นด้วย

ข้อมูลจาก : Nielsen Thailand Health and Wellness 2018 Report