Site icon Thumbsup

ส่อง ‘วงการเพลงไทย’ ยุคอยู่ยาก ปรับตัวอย่างไรให้ ‘ยังอยู่รอด’

วงการเพลงไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั้นเปลี่ยนแปลงไปมากมาย ตอนนี้วงการเพลงถูก Disrupt เยอะมาก หากย้อนกลับไปสมัยก่อนคงเป็นเทป ซีดี แต่ปัจจุบันกลายมาเป็น Single บน Youtube แล้ว ซึ่งเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือ ‘การปรับตัวเพื่อความอยู่รอด’ เราลองมาดูกันว่าการทำการตลาดในวงการเพลงไทยปัจจุบันนั้นมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง

นำ ‘การแสดงคอนเสิร์ต’ มาพ่วงกับ ‘สินค้า’

หนึ่งในวิธีการหาเงินคือ ‘การขายการแสดงคอนเสิร์ต​’ โดยทางค่ายเพลงจะมีการนำศิลปินของตัวเองไปผูกกับทัวร์ของเครื่องดื่ม เช่น แบรนด์เครื่องดื่ม สิงห์ ที่มีศิลปินในเครือของตัวเองเป็นค่าย Muzik Move หรือเครื่องดื่ม Leo ที่มีการจัดคอนเสิร์ตแคมเปญ LEO LEMIX

โดยเป็นคอนเสิร์ตตามร้านที่ขายเครื่องดื่ม แต่มีจุดเด่นที่ร้านเหล่านี้ ไม่ต้องจ่ายค่าจ้างศิลปิน ในแพคเกจที่ร้านเหล่านี้ต้องนำเครื่องดื่มไปขายที่ร้าน และห้ามขายเครื่องดื่มของแบรนด์อื่น นี่คือข้อแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นกับทางค่ายเพลงนั่นเอง

เลือกทำแบบ ‘พรีออเดอร์’ แทน

การทำเพลงขายทั้งอัลบั้มตอนนี้มักพบเห็นได้น้อย เพราะมักใช้การทำอัลบั้มจำหน่ายในแบบ Limited Edition แทน โดยค่ายเล็กมักใช้การ ‘พรีออเดอร์’  ผลิตจำนวนตามที่สั่งจองเข้ามาหรือผลิตอย่างจำกัดเพื่อเพิ่มคุณค่าของสินค้า หากการทำอัลบั้มแรกประสบความสำเร็จอาจมีอัลบั้มสองตามมา อย่าง Polycat ในอัลบั้ม 80 Kisses ที่มีเพลงดังอย่าง ‘พบกันใหม่’ ที่ในตอนแรกก็ใช้วิธีการพรีออเดอร์เช่นกัน แต่พอกระแสตอบรับดีมากๆ จึงผลิตเวอร์ชั่นที่ 2 ที่เรียกว่า ‘Second Edition’ ออกจำหน่ายตามมา

และค่ายเล็กๆ มักทำเพลงด้วยการปล่อย single แต่ละอัน แล้วขายเป็นอัลบั้มให้ได้ หรือขายเป็นแผ่น EP ออกมาอย่างวง Safeplanet, Whal & Dolph จะใช้วิธีการขายเป็น EP อัลบั้มแทน

ทำงานร่วมกับ ‘สถานีวิทยุ’ หรือ ‘รายการทีวี’ ที่จัดคอนเสิร์ตบ่อยๆ

ปัจจุบันนี้มีหลักๆ ที่ทำคือ Cat Radio คลื่นวิทยุที่มีการจัดงาน Cat Expo Cat Foodtival, Cat T-Shirt ที่จริงๆ ตัวคลื่นเองอยู่ไม่ได้ด้วยรายได้จากผู้ฟังวิทยุ แต่มักมาจากการจัดอีเว้นท์ และส่งผลให้ศิลปินเกิดรายได้ตามมา เพราะในงานทุกงานจะให้ศิลปินมาออกบูธขาย อย่าง Cat Expo จะเน้นขาย ซีดี หรือขายอัลบั้มเป็นหลัก แต่ปัจจุบันจะพบว่าศิลปินออกอัลบั้มมาขายกันไม่เยอะ เพราะการที่คนฟังหันไปให้ความนิยมกับการฟังผ่านทางช่องทางสตรีมมิ่งกันแล้ว โดยส่วนใหญ่ที่นำมาขายก็มีไม่ถึง 10 เพลงในนั้น

ภาพจาก – Cat Radio

 

ค่ายใหญ่ก็มี ‘พรีออเดอร์’ เหมือนกัน

ในตอนนี้มีศิลปินหลายคนที่กลับมาทำเพลง เช่น หนุ่ม Kala โดยจะใช้วิธีขายในราคาที่สูงกว่ายุครุ่งเรืองที่มีราคาหลักร้อย แต่ตอนนี้ผลิตน้อยลง และใช้วิธีการ ‘พรีออเดอร์’ เหมือนกัน หรืออย่างวง ‘Potato’ ที่มีการพรีออเดอร์อัลบั้ม Limited Edition แต่เวอร์ชั่นปกติก็จะมีขายแบบซีดีปกติ เหมือน Bodyslam ในอัลบั้ม ‘วิชาตัวเบา’ ที่มี Pre-oder Limited Edition ให้สั่งก่อนเป็น Box Set จากนั้นจึงมีแบบปกติออกมาขาย ในราคาที่ต่างกัน

(เวอร์ชั่น พรีออเดอร์ ราคาจะ 399, 499, 550 และมีของแถมให้ ส่วนซีดีแบบปกติราคาจะอยู่ที่ประมาณ 199-350 บาท )

 

การกลับมาที่น่าตกใจของ ‘เทป’ และ ‘แผ่นเสียง’

ในปีนี้เป็นปีที่ศิลปินหันกลับมาขาย ‘เทป’ กัน หลายวง ซึ่งจะเห็นได้จาก Polycat ที่ทำ Limited Edition แถมเทปที่ราคา 350 บาท หลังจากนั้นก็มีหลายๆ วงทำออกมา สมัยก่อนเทปจะมีราคาที่ 70-80 บาท แต่ตอนนี้ราคาที่พบเจอกันจะอยู่ที่ประมาณ 650 บาทแล้ว นั่นเพราะประเทศไทยไม่มีการผลิตแล้ว จึงต้องส่งตัวมาสเตอร์เทปไปผลิตที่ต่างประเทศ

ตัวอย่างที่เห็นคือ วงไทยยอดนิยมอย่าง Moderndog และวงฟูตอง ที่ส่งเทปไปทำที่ประเทศเยอรมัน เทรนด์ของความเป็นอะนาล็อกเริ่มกลับมาได้รับความนิยมประมาณช่วงปลายปีที่แล้ว มีคนหันกลัยมาฟังซาวน์อะเบาท์กัน โดยเดี๋ยวนี้จะใช้เนื้อเทปที่เป็นแถบแม่เหล็กอย่างดีมาผลิต ทำให้คุณภาพเสียงดีกว่าตัวเทปยุคก่อนด้วย

นอกจากนั้นยังมีการกลับมาของ ‘แผ่นเสียง’ ที่เป็นอีกหนึ่งทางรอด โดยราคาแผ่นเสียงถูกสุดของอัลบั้มที่ผลิตใหม่แล้วขายจะเริ่มต้นที่ 1,500 บาท เราจะเห็นหลายๆ วงที่ถูกนำอัลบั้มมาทำเป็นแผ่นเสียง และมีนักฟังหลายคนที่ถอยเครื่องเล่นแผ่นเสียงอันใหม่มาฟังเพื่อการนี้โดยเฉพาะ

ภาพจาก – Fatblack record

 

แกรมมี่กับโปรเจกต์พาคนฟังย้อนเวลา

พอเห็นกระแสที่น่าสนใจตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ก็เป็นโอกาสให้ทางแกรมมี่ทำโปรเจกต์เกี่ยวกับอะนาล็อก เริ่มโครงการด้วยเพิ่มทีมพิเศษที่นำอัลบั้มเก่าๆ มาทำการเปิดตัว ด้วยการเปิดตัว Hi-End Audio Collection ที่ทำให้เราเห็นแกรมมี่กลับมาผลิตแผ่นเสียงขาย แต่ก็ส่งไปผลิตที่ต่างประเทศเช่นกัน และนำมาขายที่ราคาเริ่มต้นประมาณ 2,000 บาท

โดยในปี 2563 เราจะเห็นทั้งอัลบั้มของ เต๋อ เรวัต, สุรสีห์, ซิลลี่ ฟูลส์, พาราด็อกซ์, บอดี้สแลม, เป๊ก ผลิตโชค, อะตอม, ก็อต จักรพันธ์ และอัลบั้มแผ่นเสียงของศิลปินชื่อดังอีกมากมาย

แกรมมี่เปิดตัว Hi-End Audio Collection

 

คนฟังแผ่นเสียง อาจไม่ได้เกิดในยุคแผ่นเสียง

ความนิยมของการฟังแผ่นเสียงนั้นมีความคล้ายคลึงกับความนิยม ‘กล้องฟิล์ม’ ที่ไม่ได้มีแค่คนสูงอายุเป็นผู้เล่นเท่านั้น แต่เรากลับพบเห็นเด็กยุคใหม่ ที่หันกลับมาให้ความสนใจกันแทน ที่สำคัญกลุ่มคนที่ซื้อเทป แผ่นเสียง บางคนก็ไม่ใช่วัยรุ่นที่เติบโตในยุค 90 ด้วยซ้ำ เพราะกลุ่มที่อุดหนุนก็มีทั้งนักฟังเพลง และแฟนคลับที่ซื้อกัน โดยเหล่านักเล่นแผ่นเสียงมักยืนยันว่าเสียงที่ถูกเล่นผ่านแผ่นเสียงนั้นเป็นเสียงคุณภาพสูง

เรียกได้ว่าเป็นการปรับตัวที่น่าสนใจ ทั้งการหันไปทำแผ่นเสียงในยุคนี้ ที่ถึงแม้ปัจจุบันโลกจะหันไปฟังสตรีมมิ่งกันแล้ว แต่เราก็จะเห็นว่าค่ายเพลงเองก็ยังไม่ทิ้งคนกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับการเก็บสะสมอัลบั้มของศิลปินที่ตัวเองชื่นชอบ ซึ่งจุดนี้เราว่าเป็นสิ่งที่ยังคง ‘เสน่ห์’ ของวงการเพลงเอาไว้ค่ะ 😀