‘ดร.เอกก์ ภทรธนกุล’ ประธานหลักสูตร Master in Branding and Marketing (MBM) ภาษาอังกฤษ ภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (จากเพจ อัจฉริยะการตลาด) ในวิเคราะห์ว่าสถานการณ์ค้าปลีกตอนนี้ถูก Disrupt ถึงระดับ Mindset แล้ว ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ที่เหนื่อยพอสมควร สำหรับผู้อยู่ในสนามค้าปลีกทั้งในไทยและทั่วโลก
แต่แน่นอนว่าทางที่เดินไปแม้จะมืด แต่ก็มีแสงสว่างอยู่ปลายทาง ดร.เอกก์ จึงได้แนะนำเทรนด์ค้าปลีกไทยที่จะเกิดขึ้นในปี 2020 เพื่อให้ผู้ประกอบการค้าปลีกทั้งระดับบริษัทใหญ่ หรือแม้แต่ผู้ประกอบการธุรกิจที่เป็น SME สามารถนำเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นนี้มาปรับใช้กับตัวเองได้เช่นกัน
รายละเอียดของเทรนด์ค้าปลีกไทยในปี 2020 จะเป็นอย่างไร ติดตามชมได้จากคลิปนี้ครับ
มีหลายอย่างนะครับที่เรามองเห็นว่าเปลี่ยนแปลงไปมากขึ้น
1. Shadowing
อย่างแรกคือเราจะเห็นรูปแบบ Retail ที่แทบจะกลายเป็นเงาตามตัวเรามามากขึ้น เราพูดอะไรของเรากับเพื่อนอยู่ พอเปิดเข้าไปในแพลตฟอร์มต่างๆ เราจะเห็นสินค้านั้นๆ ที่เราอาจจะเคยไปกดไลก์ไว้ แล้วไม่ซื้อสักที มันจะเริ่มตามมา
เช่น หาเก้าอี้นั่งทำงาน, อาคารคลีน หรือเครื่องออกกำลังกายตัวใหม่อยู่ ไปคลิกดูแค่ครั้งเดียวเท่านั้น มันจะตามเราไปเรื่อยๆ และมาหลายยี่ห้อเลย
2. Synergy
อย่างที่สองคือ การรวมตัวกันของของสองอย่างที่ไม่น่าจะรวมกันแต่มาอยู่รวมกัน ซึ่ง 2 ธุรกิจอาจเคยเป็นคู่แข่งจะกลายเป็นคู่ค้า ธุรกิจที่อยู่คนละอุตสาหกรรมจะมาอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน หรือลูกค้าคนละกลุ่มกลายเป็นมามีลูกค้ากลุ่มเดียวกัน
เช่น SCG กับบุญถาวร ที่เป็น Retail อุปกรณ์ก่อสร้างที่ตีกันมาตลอด 12 ปี ตอนนี้ประกาศโมเดลใหม่ร่วมกันในชื่อ “SCG Home บุญถาวร” ลูกค้าก็ชอบ มาที่เดียวแล้วได้สองอย่างกลับไป ทั้งของสร้างบ้านและแต่งบ้าน เราจะเห็นนรูปแบบอย่างนี้มากขึ้น
หรือ Louis Vuitton เป็นแบรนด์ที่หรูหรา เริ่มจับกับแบรนด์ที่มีภาพลักษณ์สดใส สนุกสนาน บางทีอาจจะเด็กลงไป เช่น SUPREME หรือแม้แต่ H&M ก็ยังมาร่วมมือกับ Balmain ได้
สมัยก่อนอาจจะต้องบอกว่า By แบรนด์ที่ 1 แบรนด์ที่ 2 สมัยนี้ จะเป็นการใส่ X เช่น Starbucks X ESSO เป็นต้น
3. เสมือน (Virtual)
อย่างที่สามคือ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจใดก็ตาม เราจะไดเห็นกระบวนการที่ใช้โลกเสมือนเกิดขึ้น ทำให้เกิดการขายที่เร็วขึ้น
เช่น เราเดินเข้าไปที่วัตสัน อันนี้คือเกิดละ เราคุยกันเรื่องของ Augmented Reality (AR) หรือ Virtual Reality (VR) มายาวนาน ใครจะเชื่อว่าโลกเสมือนจะเอามาใช้ได้ขนาดนี้ เดินเข้าไปที่ร้านอยากแต่งหน้าตัวเอง ยืนส่อง “กระจกวิเศษ” แล้วเลือกลิปสติก เลือกสี ทามาสคาร่า ในกระจกที่มีหน้าเรา ซึ่งของเครื่องสำอางสีที่มีให้เลือกก็มีขายอยู่จริงในวัตสันนั่นแหละ ไม่ต้องมานั่งลบหน้า
ผู้หญิงจริงๆ แล้ว กลัวการลองอุปกรณ์แต่งหน้ามาก เพราะไม่รู้ว่าโดนหน้า โดนปากใครมาแล้วบ้าง แล้วตอนนั้นแต่งหน้ามาแล้วจะไปทาทับมันก็ไม่ใช่เรื่อง
ต่อไปเราเจอกระจกในห้องลองเสื้อเราจะไม่ต้องถอดเสื้อผ้า เปลี่ยนสีเปลี่ยนเสื้อในกระจกได้เลย ก็ทำให้เราขายสินค้าได้เร็วขึ้น ในจีนเกิดขึ้นเยอะแล้ว
เราจะเห็นการรวมกันของแบรนด์มากขึ้น การเข้ากันของแบรนด์ที่ไม่เกี่ยวข้องกันมากขึ้น โลกเสมือนจริงที่ใช้กับ Retail มากขึ้นด้วย
4. Stranger
สิ่งสุดท้ายที่เราจะเห็นคือ Stranger คนที่ไม่เคยทำ Retail มาทำ Retail มากขึ้น
อาจจะเจอว่าบริษัทที่ทำสื่อ เช่น VGI มีพื้นที่อยู่บนรถไฟฟ้า แทนที่จะไปขายเป็น Branner เฉยๆ ก็เป็นเอารูปสินค้ามาแปะ และมี QR Code สแกนซื้อ ซึ่งเกิดขึ้นในหลายประเทศแล้ว
เพราะฉะนั้นคนที่เข้ามาขาย Retail อาจจะเป็นบริษัทสื่อนอกบ้านอย่าง VGI ก็เป็นไปได้ AIS หรือ ไปรษณีย์ไทย หรือใครๆ ที่อาจจะเป็นตัวช่วยที่ทำให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นได้มากมาย
สรุป
“คน Retail คนในอุตสาหกรรมนี้เหนื่อยที่สุด และเหนื่อยมาหลายสิบปี และจะเหนื่อยต่อไป แต่จะสนุกเพราะได้เจอการเปลี่ยนแปลงของลูกค้าตลอดเวลา ทำให้คนทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดจะเป็นผู้ชนะในอุตสาหกรรมนี้”