Site icon Thumbsup

ทำไมเว็บไซต์ไทยไม่ควรอยู่แค่ประเทศไทย?

สวัสดีเย็นย่ำค่ำคืนวันศุกร์ครับ thumbsuper วันนี้กลับเข้ามาดูอันดับเว็บไทยที่ดรรชนีเว็บไทยอย่าง truehits อีกครั้ง เห็นความเคลื่อนไหวของอันดับในนี้แล้วทำให้ผมเริ่มตั้งคำถามกับเว็บไทยบางอย่าง และอยากจะคิดดังๆ ออกมาแสดงความเห็นในประเด็นที่ว่า “ทำไมเว็บไทยไม่ควรจะอยู่แค่ประเทศไทย” ใครคิดเห็นแตกต่างไปก็มาแลกเปลี่ยนกันนะครับ ถกกันตรงส่วน comment ได้เลย

สถิติเว็บไทย พ.ศ. นี้มีการเปลี่ยนแปลงไปหลายอันดับเหมือนกันครับ โดยทั่วๆ ไป? “สามกษัตริย์เว็บไทย” ยังคงครองอันดับเช่นเคย? Sanook.com ยังคงครองแชมป์อันดับ 1 Portal เหมือนเคย ตามมาด้วย Kapook กับ Mthai ที่แซงกันไปแซงกันมาหลายครั้ง อันดับ 4 ตามมาด้วยเว็บใหม่อย่าง Yengo จู่ๆ ก็วิ่งเข้ามาติดอันดับด้วยบริการโฆษณาออนไลน์

ส่วนอันดับอื่นๆ ก็ตามมาด้วยเว็บให้บริการบล็อกอย่าง Exteen ตอนนี้เริ่มโดน Bloggang บล็อกในเครือ Pantip แซงไปแล้ว… ที่เขียนมาทั้งหมดนี่ไม่ได้ตั้งใจจะมาอัพเดตอันดับเว็บอะไร แต่สิ่งที่อยากจะเขียนก็คือ เราจะสนใจการแข่งขันเรื่องอันดับในประเทศกันไปเพื่ออะไรถ้าหากในความเป็นจริงแล้ว เว็บที่คนไทยใช้มากที่สุดไม่ได้ถูกจัดอันดับอยู่ด้วยซ้ำ ดูง่ายๆ จากการจัดอันดับใน Alexa เลยครับ

1. Facebook
2. Google Thailand
3. Google.com
4. YouTube (ดูวิดีโอกันซะขนาดนี้)
5. Windows Live (บริการทั้งหมดของ Microsoft)
6. Blogspot (บริการ Blog ของ Google)
7. Yahoo! (โดยเฉพาะ Yahoo! Mail)
8. Sanook
9. Pantip
10. Wikipedia
11. Amazon
12. Kapook
13. Mthai
14. Manager
15. MSN.com
16. WordPress
17. ThaiSEOBoard
18. 4Shared
19. WeloveShopping
20. Twitter

จากอันดับข้างบน คุณจะเห็นว่าเว็บไทยมีเหลืออยู่เพียง 6 เว็บเท่านั้น Sanook, Pantip, Kapook, Mthai, Manager, Weloveshopping เท่านั้น (ส่วน ThaiSEOBoard ผมขอไม่นับรวมนะครับ ผมเข้าใจว่าการติดอันดับมาจากการที่เซียนๆ SEO ในนั้นปั่นขึ้นมามากกว่ามีแทรฟฟิคขนาดใหญ่จริง) แต่นอกนั้น Top 20 ของไทยเป็นแพลตฟอร์มของต่างชาติหมดเลยครับ

การเปรียบเทียบ truehits กับ Alexa แสดงให้เราเห็นว่า ใน “สนามเล็ก” ที่? truehits จัดขึ้นมา เราแข่งขันกันได้ดี ทั้งเอเยนซี่ ทั้งคนดูก็ติดตามอ่านกัน แต่พอมองไปไกลใน “สนามใหญ่” จาก Alexa เราจะเห็นได้ว่าแพลตฟอร์มต่างๆ ระดับโลกต่างเข้ามาให้บริการกับคนในประเทศได้ดีกว่าเว็บของไทย ถ้าไล่ไปเรื่อยๆ จะเห็นว่าถ้า Social ก็ต้อง Facebook, Twitter ถ้า Search Engine ก็ต้อง Google ถ้าอีเมลก็ต้อง MSN, Yahoo! บล็อกก็ต้อง WordPress กับ BlogSpot อีคอมเมิร์ซต้อง Amazon, WeLoveShopping

จากสาเหตุข้างบนนี้ เราจึงพอจะบอกได้ว่าเว็บไทยถ้ามองในระดับประเทศมันมีที่ยืน แต่ในระดับโลกมันแทบไม่มีเลยครับ ผมเลยอยากเสนอแนวคิดว่า จากนี้ไปคนทำเว็บ ทำแอพฯ ไทยควรจะเลิกคิดได้แล้วว่าทำเว็บไซต์ไทยให้คนไทยดูแล้วจบ แต่เราควรจะสร้างฐานผู้ใช้จากประเทศไทยให้แข็งแรงก่อน แล้วค่อยขยายออกสู่ระดับภูมิภาคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โตขึ้นไประดับเอเชียแปซิฟิค เอเชียทั้งหมด แล้วขยายไปอเมริกา ยุโรป ทั่วโลก

ยิ่งนึกภาพว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะมีการเปิดเสรีอาเซียน เราจะทำกันอย่างไรดีที่เราจะแข่งขันในระดับสากลได้ หรือคุณคิดว่าเราไม่จำเป็นต้องออกไปแข่งก็ได้ อยู่กันแค่นี้ดีแล้ว? แชร์กันนะครับ