ถือเป็นอีกหนึ่งวันประวัติศาสตร์ที่ต้องบันทึกไว้ เมื่อวันนี้ (10 พฤษภาคม 2562) ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขา กสทช.) ได้แถลงข่าวเวลาประมาณ 15.00 น. เผยถึงจำนวนช่องทีวีโทรทัศน์ในระบบภาคพื้นดิน (ทีวีดิจิทัล) ที่ยื่นขอใช้สิทธิ์รับเงินเยียวยาพร้อมกับคืนใบอนุญาตประกอบการทีวีดิจิทัล
จากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 4/2562 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม วันที่ 11 เมษายน 2562 รวมถึงประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการจ่ายค่าชดเชย อันเนื่องมาจากการคืนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล วันที่ 2 พฤษภาคม 2562
โดยฐากรเปิดเผยว่ามีจำนวนทีวีดิจิทัลทั้งหมด 7 ช่อง ได้แก่
- ช่องในหมวดเด็กและครอบครัว (SD) อย่างช่อง 3 Family หมายเลข 13 และช่อง MCOT Family หมายเลข 14
- ช่องในหมวดข่าวและสาระ อย่าง Spring News หมายเลข 19, Bright TV หมายเลข 20 และ Voice TV ช่อง 21
- ช่องในหมวดวาไรตี้ (SD) อย่าง Spring 26 (เดิมชื่อ NOW26) หมายเลข 26 และช่อง 3 SD ช่อง 28
ส่วนตัวเลขเงินชดเชยที่ 7 ช่องจะได้คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 3,000 ล้านบาท แต่ละช่องจะได้เงินชดเชยประมาณ 1 งวดของค่าใบอนุญาตที่ชำระมาภายในเดือนสิงหาคม 2562 โดยหลังจากแสดงความจำนงคืนใบอนุญาตแล้ว จะต้องดำเนินการ
- ส่งเอกสารให้ กสทช. ภายใน 60 วัน เพื่อให้คณะอนุกรรมการพิจารณา
- ต่อมา กสทช. จะกำหนดมาตรการการคืนใบอนุญาตและยุติการออกอากาศ
- หนังจากนั้น ทั้ง 7 ช่องต้องประชาสัมพันธ์และยุติการออกอากาศภายใน 30-45 วันหลังวันที่ กสทช. มีมติอนุมัติ
- หนึ่งวันหลังการออกอากาศวันสุดท้าย ผู้ประกอบการจะได้เงินชดเชยเยียวยา
แยกดูบริษัทไหนคืนช่องเยอะสุด และเรามองเห็นอะไรในการคืนครั้งนี้
หากเราลองแยกดูตามชื่อบริษัทที่คืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล จะได้ออกมาเป็นดังนี้
- บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด คืนใบอนุญาตช่อง 3 SD และช่อง 3 Family
- บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) คืนใบอนุญาตช่อง MCOT Family
- บริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด คืนใบอนุญาตช่อง Spring News
- บริษัท ไบรท์ ทีวี จำกัด คืนใบอนุญาตช่อง Bright TV
- บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด คืนใบอนุญาตช่อง Voice TV
- บริษัท เอ็นบีซี เน็กซ์ วิชั่น จำกัด คืนใบอนุญาตช่อง Spring 26
หากไล่เรียงดูจะพบว่าบริษัทที่คืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัลมากที่สุดคือ BEC ที่คืนไปมากที่สุดถึง 2 ช่อง ทำให้เห็นชัดแล้วว่าทิศทางช่อง 3 หลังจากนี้อาจจะออกอากาศทีวีอนาล็อกจนหมดสัญญาปี 2563 และหลังจากนั้นก็ย้ายมาออกอากาศช่อง 3 HD แบบเต็มตัว
ส่วน อสมท ก็เน้นทำช่อง 9 MCOT HD ไปเพียงช่องเดียวให้ชัดเจน และอาจโยกย้ายรายการเด็กและครอบครัวที่ตนเองถนัดกลับมาสู่บ้านหลังเดิม เพื่อช่วยให้เรตติ้งของช่องดีขึ้น
ส่วนบริษัทลูกของ บริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ค จำกัด (มหาชน) ที่คืนไป 2 ช่อง ได้แก่ Spring News 19 และ Spring 26 ก็ประกาศเน้นดันช่อง Nation TV เพียงช่องเดียว หลังจาก ดีล TV Direct และ Spring News ล่มไม่เป็นท่า พร้อมกลับเคลมในการประกาศคืนช่อง Spring 26 ว่าเป็นการแก้ปัญหาของ “อดีตผู้บริหาร” ที่ทำไว้
ทางด้าน Bright TV ยังไม่มีการเผยแพร่แถลงการณ์ออกมา แต่หากใครดูตัวเลขเรตติ้งทีวีดิจิทัลอยู่ตลอดจะพบว่า Bright TV มีตัวเลขเรตติ้งอยู่ในท้ายตารางมาโดยตลอด นั่นอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ถอดใจออกจากสมรภูมินี้ไป
ส่วนไม้เบื่อไม้เมาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ กสทช. อย่าง Voice TV ที่ได้รับผลกระทบชัดเจนจากการเป็นช่องที่แสดงจุดยืนทางการเมืองชัดเจนแบบคุณแม่ไม่ปลื้ม จน คสช. ต้องร้องเรียนเนื้อหาผ่าน กสทช. อยู่บ่อยครั้ง ส่งผลให้ Voice TV โดนทั้งปรับเงิน เปลี่ยนพิธีกรรายการวิเคราะห์ข่าว และพักการออกอากาศอยู่บ่อยครั้ง ทำให้โฆษณาต่างหายไป ส่งผลให้ Voice TV สะบักสะบอม แม้มีสายป่านยาวก็ตาม แต่สุดท้ายก็ต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์กันใหม่ไปอยู่บนทีวีดาวเทียมที่เคยรุ่งเรือง
หากสังเกตดีๆ จะพบว่าช่องเด็กและครอบครัวจะไม่มีบนหน้าจอทีวีดิจิทัลแล้ว ซึ่งเมื่อมาถึงตรงนี้แล้ว ต่างช่องต่างมีเหตุผลของตัวเองแตกต่างกันไป แต่สุดท้ายการเลือกที่ “เจ็บแต่จบ” บนฟูกที่ กสทช. วางไว้ ก็ดีกว่าปล่อยให้ตัวเจ็บไปเรื่อยๆ จนอาจ “ทนพิษบาดแผลไม่ไหว” …
กสทช. ย้ำต้องดูแลพนักงาน แต่นักวิชาการ-องค์กรสื่อยังกังวล
เลขา กสทช. ประเมินว่าจะมีพนักงานตกงานประมาณ 1,000 คน ระบุในระหว่างการแถลงข่าววันนี้ว่า นายกรัฐมนตรีก็แสดงความห่วงใยต่อพนักงานในบริษัทที่ตัดสินใจคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล โดยกำชับให้ กสทช. ดูแลเหล่าพนักงานเหล่านี้
“เมื่อมีการยุติการออกอากาศลง หมายความว่าพนักงานที่ทำงานในช่องนั้นๆ จะต้องตกงานไปด้วย ทางรัฐบาลจึงมีการออก ม.44 ในการชดเชยเงินไปให้ผู้ที่ยุติการออกอากาศ เพราะฉะนั้นขอให้ช่องที่ยื่นคืนทั้ง 7 ช่องให้ความเป็นธรรมกับพนักงานของท่านที่ต้องตกงาน อันนี้เป็นข้อห่วงใยของท่านนายกรัฐมนตรี” – ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.
สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ก็ออกแถลงการณ์ร่วมเรียกร้อง กสทช. ให้กำชับผู้ประกอบการที่คืนใบอนุญาต ได้ดำเนินการดูแลชดเชยเยียวยาพนักงานที่ตกงาน มากกว่าที่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานกำหนด เนื่องจากการคืนใบอนุญาตดังกล่าวผู้ประกอบการเองก็ได้รับเงินคืนจาก กสทช.เช่นกัน และขอให้ผู้ประกอบการชดเชยเยียวยาตามที่ กสทช. กำชับไว้ และต้องออกหนังสือรับรองการทำงานให้ด้วย และคาดการณ์ว่าจะตกงานมากกว่า 2,000 คน
ด้าน ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ระบุว่า ขอเสนอให้ กสทช. ประชุมกับผู้ประกอบการ โดยกำหนดให้แบ่งจำนวนเงินที่ได้จาก กสทช. ว่ากี่เปอร์เซ็นต์ไปช่วยพนักงานที่ถูกเลิกจ้างอย่างชัดเจน รวมถึงแนะนำว่าอาจจะตั้งกองทุนเยียวยาพนักงานในระยะยาว ให้สามารถกู้ยืมเงินดอกเบี้ยต่ำได้ในระหว่างที่หางานใหม่ เป็นต้น และขอให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ที่ระบุว่า กสทช. ควรช่วยทีวีดิจิทัลเพราะพนักงานจะตกงาน เมื่อได้เยียวยาแล้ว ก็ควรเห็นความสำคัญของพนักงานในบริษัทตนเองด้วย
รวมถึงเสนอให้สมาคมวิชาชีพสื่อควรรวบรวมฐานข้อมูลพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง โดยเฉพาะคนทำปีกดิจิทัลคอนเทนต์ เพื่อให้นายจ้างสามารถติดต่อหาคนเหล่านี้มาทำงานในที่ใหม่ได้ง่ายยิ่งขึ้น รวมถึงควรทำหลักสูตรพัฒนาคนทำงานทีวีดิจิทัลเพื่อให้พร้อมสู่พัฒนาเนื้อหาลงแพลตฟอร์มออนไลน์
ส่วนสิ่งที่พนักงานทีวีช่องต่างๆ ควรทำ แม้ไม่ได้อยู่ในดิจิทัล 7 ช่องที่ขอคืนใบอนุญาต ดร.มานะเตือนว่าก็มีโอกาสถูกปลดออก เพราะในอนาคตนั้นทีวีอาจจะไม่ได้เป็นสื่อหลักในการส่งข้อมูลข่าวสาร ต้องเร่งพัฒนาคุณภาพการทำงานของตัวเอง และมองข้ามไปถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่อาจจะช่วยให้รอดคนทีวีรอดได้ในระยะยาว
“15 ช่องที่เหลือต้องกลับมาพัฒนาเนื้อหารายการให้มีคุณภาพ หากยังมีรายการแทรกด้วยรายการขายตรงเป็นระยะๆ จนเกินไป จะผลักให้คนดูไป OTT เช่น Netflix หรือ LINE TV ดังนั้น 15 ช่องควรพัฒนาคุณภาพรายการของตัวเองด้วย ขณะที่ กสทช. ควรจับตาการโฆษณาเกินจริงเพื่อสร้างคุณภาพทีวีดิจิทัลดึงคนดูกลับมา” – ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์
ภูมิทัศน์ทีวีไม่เปลี่ยน ลุ้นเงินโฆษณากระจายไปหาช่องไหน
อย่างแรกที่เรามองเห็นเลยคือ การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นการกระตุ้นหัวใจอุตสาหกรรมทีวีแบบชั่วคราว ไม่สร้างการเปลี่ยนภูมิทัศน์สื่อทีวีได้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด (แต่ถึงอย่างไรก็ดีกว่าการไม่ทำอะไรเลย) เพราะต้องยอมรับว่า Social Media และ OTT เข้ามาแบบเต็มตัว ดึงเม็ดเงินโฆษณาจากทีวีและสื่อดั้งเดิมได้มากขึ้นเรื่อยๆ
อ่านประกอบ
- โตเต็มตัว!! DATT เผยเม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลพุ่ง 17,000 ล้าน
- สื่อใหม่ทำรายได้ผันผวน ไตรมาสแรกปีนี้เม็ดเงินชะลอตัว
แต่ที่น่าสนใจก็คือ ตัวเลขเม็ดเงินโฆษณาภาพรวมเมื่อเทียบกับปี 2561 และการคาดการณ์ปี 2562 พบว่า “ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก” แต่การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เมื่อช่องทีวีดิจิทัลน้อยลง ก็ย่อมหมายความว่าตัวหารน้อยลง ซึ่งอาจจะเป็นสัญญาณที่ดี? จริงหรือไม่?
แต่หลังจากนี้ ต้องรอดูกันว่าแล้วเงินโฆษณาหลังจากนี้จะไปอยู่ที่ช่องไหน เพราะที่ผ่านมาก็กระจุกตัวอยู่ในช่องทีวีดิจิทัลระดับ Top หน้าเดิม 1-2 ราย และหน้าใหม่ 2-3 ราย และช่องที่ยังอยู่ลำดับท้ายตาราง หลังเหลือทีวีดิจิทัลเพียง 15 ช่องจะสู้ต่อไหวหรือไม่ น่าจับตาในระยะยาว
สรุป: ปรับตัว-เพิ่มพูนทักษะดิจิทัลใหม่ๆ คือทางรอด
หลังจากนี้ ขั้นตอนการเยียวยาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลยังคงดำเนินต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดกระบวนการของมัน ต้องยอมรับว่านี่เป็นมหากาพย์ยาวนานถึง 5 ปี จากการประมูลที่ทุกคนคิดว่าคือความหวังครั้งใหม่ของวงการทีวี ประกอบกับพลาดที่ประเมินว่าเม็ดเงินโฆษณาบนทีวีในปี 2556 (ก่อนปีที่จะประมูลทีวีดิจทัล) ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นๆ อาจทำให้เราไม่ทันได้เอะใจ
จนในที่สุดเข้ามาของ Technology Disruption ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีแบบฉับพลันเข้ามาแบบไม่ทันตั้งตัว Facebook, YouTube และสื่อออนไลน์อื่นๆ ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว หลายคนอาจจะมองว่ามันมาอย่างรวดเร็วและรุนแรง หรือเพราะเราไม่ได้ตั้งรับและเตรียมตัวมาก่อนหรือเปล่า นั่นเป็นคำถามที่ชวนคิดกันต่อยาวๆ
แต่ไม่ว่าจะเพราะเหตุผลอะไรก็ตาม เรื่องราวของทีวีดิจิทัลยังคงดำเนินต่อไป เราก็ควรจะเรียนรู้และเพิ่มพูนทักษะใหม่ๆ ในด้านการสร้างคอนเทนต์ การเผยแพร่เนื้อหาสื่อสังคมออนไลน์ การตลาดดั้งเดิม การตลาดดิจิทัล และอื่นๆ กันต่อไป และ thumbsup ขอเป็นกำลังใจให้กับผู้ประกอบการและพนักงานในทีวีดิจิทัลต่อสู้กันในสมรภูมินี้กันต่อไปครับ