เกิดอะไรขึ้นกับอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล เมื่อ 5-6 ปีก่อน หลายคนมองว่าเป็นแหล่งขุมทรัพย์ใหม่ จากตัวเลขเม็ดเงินโฆษณาที่เติบโตมากขึ้น แต่ทำไมวันนี้ 7 ช่องทีวีดิจิทัลอย่าง ช่องที่ 3 Family หมายเลข 13, ช่อง MCOT Family 14, Spring News ช่อง 19, Bright TV ช่อง 20, ช่อง Voice TV ช่องที่ 21, ช่อง Spring 26 และช่อง 3 SD หมายเลข 28 ถึงของคืนใบอนุญาตกับ กสทช.
วันนี้ thumbsup มีคำตอบมาฝากให้กับทุกท่านได้ทราบกันครับ
ย้อนความหลังเมื่อครั้งประมูลทีวีดิจิทัล
หลังจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2554 ประกอบกับแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ พ.ศ.2555 และแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ฉบับที่ 1 ได้กำหนดให้ประเทศไทยเริ่มมีการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ระบบดิจิทัล ภายใน 4 ปี ในกรอบเวลาดำเนินงานคือตั้งปี 2555 ถึง 2559
ทำให้ช่องทีวีดิจิทัลในประเทศไทยได้ถือเป็นกำเนิดขึ้น โดยกำหนดจำนวนและรูปแบบช่องทีวีดิจิทัลไว้ทั้งสิ้น 48 ช่องเป็นเบื้องต้น ได้แก่
1. กลุ่มช่องประเภทบริการสาธารณะและชุมชน มีจำนวน 24 ช่อง โดยใช้วิธีการคัดเลือกคุณสมบัติ (Beauty Contest) เพื่อรับรองใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ แต่ในที่สุด ก็มีช่องที่ออกอากาศอยู่จริงแค่ 4 ช่อง ได้แก่
- สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก หรือ TV5HD1 (หมายเลข 1)
- สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย หรือ NBT2HD (หมายเลข 2)
- สถานีโทรทัศน์ Thai PBS (หมายเลข 3)
- สถานีวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา หรือ TPTV (หมายเลข 10)
2. กลุ่มช่องประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ จำนวน 24 ช่อง โดยใช้วิธีการประมูลคลื่นความถี่ (Auction) เพื่อรับรองใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ ซึ่ง กสทช. ได้กำหนดให้มีการประมูลทีวีดิจิทัลในวันที่ 26-27 ธ.ค. 56 ช่วงเวลานั้น กสทช.ได้เงินจากการประมูลมากถึง 50,862 ล้านบาท ได้แก่
- ช่องประเภทรายการเด็ก เยาวชน และครอบครัว จำนวน 3 ช่อง
- ช่อง 3 Family (หมายเลข 13)
- ช่อง MCOT Family (หมายเลข 14)
- ช่อง LOCA (หมายเลข 15)
- ช่องประเภทรายการข่าวสารและสาระ จำนวน 7 ช่อง
- ช่อง TNN 24 (หมายเลข 16)
- ช่อง THV (หมายเลข 17)
- ช่อง NEW TV (หมายเลข 18)
- ช่อง Spring News (หมายเลข 19)
- ช่อง Bright TV (หมายเลข 20)
- ช่อง Voice TV (หมายเลข 21)
- ช่อง Nation TV (หมายเลข 22)
- ช่องประเภทรายการทั่วไป ภาพคมชัดปกติ (Standard Definition : SD) จำนวน 7 ช่อง
- ช่อง Workpoint (หมายเลข 23)
- ช่อง True4U (หมายเลข 24)
- ช่อง GMM 25 (หมายเลข 25)
- ช่อง Spring 26 (หมายเลข 26) เดิมชื่อ NOW 26
- ช่อง 8 (หมายเลข 27)
- ช่อง 3 SD (หมายเลข 28)
- ช่อง MONO 29 (หมายเลข 29)
- ช่องประเภทรายการทั่วไป ภาพคมชัดสูง (High Definition : HD) จำนวน 7 ช่อง
- ช่อง 9 MCOT HD (หมายเลข 30)
- ช่อง One 31 (หมายเลข 31)
- ช่อง Thairath TV (หมายเลข 32)
- ช่อง 3 HD (หมายเลข 33)
- ช่อง Amarin TV (หมายเลข 34)
- ช่อง 7 HD (หมายเลข 35)
- ช่อง PPTV HD 36 (หมายเลข 36)
กล่าวโดยสรุปก็คือ ในเวลานั้น มีทีวีดิจิทัลทั้งหมด 28 ช่อง โดยในเวลานั้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ใครๆ ต่างคาดหวังว่าจะสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำจากอุตสาหกรรมนี้
เส้นทางทีวีดิจิทัลไม่ราบรื่นอย่างที่คิด
แต่ก็ต้องยอมรับว่าเส้นทางของทีวีดิจิทัลเริ่มไม่สดใส การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีแบบฉับพลัน หรือ Technology Disruption ส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนการดูทีวีแบบรอเวลา มาเป็นดูรายการย้อนหลังผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
25 พฤษภาคม 2558 ไทยทีวี และโลก้า ไม่สามารถจ่ายค่าประมูลงวดที่ 2 จำนวน 288.46 ล้านบาทได้ จนทาง กสทช. ต้องใช้อำนาจทางปกครองยึดใบอนุญาตของทั้ง 2 ช่อง ต่อมาได้เจ๊ติ๋ม ทีวีพูลได้ฟ้องร้อง กสทช. ต่อศาลปกครอง แต่ทางศาลดำเนินการไต่สวนด้วยการเชิญทั้งสองฝ่ายมาชี้แจง
21 กรกฎาคม 2558 กสทช. เสนอให้ ไทยทีวี และ LOCA ประกาศหาผู้รับซื้อกิจการ หรือผู้เข้าร่วมประกอบกิจการ พร้อมผ่อนปรนให้ออกอากาศทางทีวีดิจิทัลได้ไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่ 31 กรกฎาคม – 31 ตุลาคม 2558
31 ตุลาคม 2558 ทาง ไทยทีวี และ LOCA ก็ยังไม่สามารถจ่ายค่าประมูลงวดที่ 2 ได้ สุดท้าย ไทยทีวี และ LOCA ถูกตัดสัญญาณการออกอากาศตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 ทำให้มีจำนวนทีวีดิจิทัลเหลือเพียง 26 ช่อง แบ่งเป็น กลุ่มช่องประเภทรายการบริการสาธารณะ จำนวน 4 ช่อง และกลุ่มช่องประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ จำนวน 22 ช่อง
คสช.เข้ามาช่วยดิจิทัล
สถานการณ์ยังทีวีดิจิทัลยังไม่ดีขึ้น ผู้ประกอบการหลายรายยังอยู่ในสภาวะขาดทุน ทำให้ในวันที่ 20 ธันวาคม 2559 มีการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 76/2559 โดยขยายเวลาการชำระเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทีวีดิจิทัล จากเดิมจ่ายเป็นงวดภายใน 3 ปี เป็น 4 ปี สำหรับใบอนุญาตที่ประมูลในราคาขั้นต่ำ และจากเดิม 5 ปี เป็น 8 ปี สำหรับใบอนุญาตที่ประมูลเกินราคาขั้นตำ่
นอกจากนี้ ยังให้ กสทช. ช่วยจ่ายค่าเช่าเสาโครงข่ายสัญญาณดาวเทียมเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลใช้ออกอากาศอยู่ตาม “กฏ Must Carry” เพื่อให้ได้ชมทีวีดิจิทัลในทุกช่องทาง
ต่อมาในวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 มีการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. 9/2561 เพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล ใน 3 ประเด็นหลักๆ คือ พักชำระค่าใบอนุญาต 3 งวดสุดท้าย ระหว่างปี 2561-2565 หลังจากปี 2565 ให้กลับมาชำระตามเดิม รวมถึงยังเปิดทางให้ กสทช. ช่วยผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลจ่ายค่าโครงข่าย ครึ่งหนึ่งของค่าเช่าทั้งหมด เป็นระยะเวลา 2 ปี ส่วนอีกครึ่งหนึ่ง ให้ผู้ประกอบการชำระตามเดิม
ในที่สุดมาตรการคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัลเริ่มออกมา
ส่วนเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อการเกิดมาตรการคืนช่อง คงหนีไม่พ้นเรื่องราวในวันที่ 14 มีนาคม 2561 เจ๊ติ๋ม พลิกล็อกชนะคดีที่ฟ้อง กสทช. ต่อศาลปกครองไว้ ศาลระบุว่าไทยทีวีและโลก้ามีสิทธิคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล เนื่องจาก กสทช. ขยายโครงข่ายและแจกคูปองส่วนลดล่าช้า
เปิดลู่ทางให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลสามารถ ‘โอนใบอนุญาต’ ให้รายอื่นๆ ได้
ในที่สุด ในช่วงเดือนมกราคม 2562 กสทช. ตัดสินใจออกมาตรการที่เปิดทางให้คืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัลได้ โดยเริ่มทยอยออกเงื่อนไขการคืนใบอนุญาตออกมาเรื่อยๆ จนเมื่อเผยแพร่รายละเอียดออกมาครบ ก็กำหนดเส้นตายการคืนใบอนุญาตได้ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2562
ซึ่งมี 7 ช่องที่ตัดสินใจคืนใบอนุญาตมีดังนี้
- ช่อง 3 Family (หมายเลข 13)
- ช่อง MCOT Family (หมายเลข 14)
- ช่อง Spring News 19 (หมายเลข 19)
- ช่อง Bright TV (หมายเลข 20)
- ช่อง Voice TV (หมายเลข 21)
- ช่อง Spring 26 (หมายเลข 26)
- ช่อง 3 SD (หมายเลข 28)
โดยหลังจากนี้ จะเหลือทีวีดิจิทัลเพียง 19 ช่อง โดยแบ่งเป็น กลุ่มช่องประเภทรายการบริการสาธารณะ จำนวน 4 ช่อง และกลุ่มช่องประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ จำนวน 15 ช่อง
สรุปโดยคร่าวๆ
หากจะบอกว่าเป็นความผิดใครฝ่ายเดียวก็คงไม่ถูกนัก แต่ก็ต้องสรุปแบบคร่าวๆ ว่า กสทช. ก็ต้องการดำเนินงานตามแผนแม่บท แต่อาจศึกษายังไม่รอบด้าน โดยลืมมองเรื่องของ Technology Disruption และไม่อาจงัดข้อเพื่อลดจำนวนช่องทีวีดิจิทัลที่เอกชนขอมาได้
ส่วนภาคเอกชน ก็ประเมินสถานการณ์พลาดไป มองแค่ตัวเงินโฆษณาบนทีวีที่เพิ่มขึ้นอย่างเดียว โดยลืมไปว่ายิ่งคู่แข่งในอุตสาหกรรมมากรายเท่าไหร่ การแข่งขันก็จะสูงตามมากขึ้นเท่านั้น โดยเม็ดเงินที่มีอยู่อาจจะกระจุกตัวอยู่ที่ไม่กี่ช่อง
หลังจากนี้ต้องติดตามสถานการณ์การช่วยเหลือผู้ประกอบการ ผู้ใช้บริการโครงข่ายทีวีดิจิทัล จาก กสทช. รวมถึงมาตรการช่วยเหลือพนักงานที่ถูกปลดหรือสิ้นสุดสภาพการทำงานหลังนี้กันต่อไป