Site icon Thumbsup

ผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2557

สพธอ. ออกโรงเตือนหลังสำรวจพบพฤติกรรมเสี่ยงภัยออนไลน์เพียบ เล็งตั้ง one stop service ร่วมกับ กสทช.และ DSI ดูแลเหยื่อภัยคุกคามไซเบอร์ เผยคนไทยออนไลน์กว่าวันละ 7 ชั่วโมง เน้นแชท แชะ แชร์ เพศที่สามมาแรงใช้เน็ตกระจาย เป็นขาช็อปตัวแม่ 

คุณสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ.เปิดเผยผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2557 โดยปีนี้เป็นปีแรกที่มีการสำรวจพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของเพศที่สาม นอกเหนือจากแพศชายและเพศหญิง  ด้วยเหตุผลที่ว่างานสำรวจที่ผ่านมาของหลายๆ สำนัก ยังไม่มีการจัดเก็บข้อมูลของเพศที่สามอย่างชัดเจน ซึ่ง สพธอ. เล็งเห็นว่าหากมีการจำแนกเพศให้สอดคล้องกับความเป็นจริงในปัจจุบันจะทำให้ได้ผลการสำรวจที่เป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจในการที่จะผลิตสินค้าและบริการได้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการทำตลาดเฉพาะส่วน (niche market) หรือกำหนดช่องทางการขายสินค้าเฉพาะกลุ่มได้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายยิ่งขึ้น

การสำรวจครั้งนี้เป็นการสำรวจทางอินเทอร์เน็ต โดยทาง สพธอ. ได้เริ่มวางแบบสำรวจบนเว็บไซต์ต่างๆ และเครือข่ายสังคมออนไลน์ ตั้งแต่กลางเดือนเมษายน จนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2557 มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตสนใจเข้ามาตอบแบบสำรวจทั้งสิ้น 16, 596 คน แบ่งออกเป็น เพศหญิง ร้อยละ 56 เพศชาย ร้อยละ 43.1 และเพศที่สาม เพียงร้อยละ 1.3 เท่านั้น โดยสามารถแบ่งภาพรวมของการสำรวจออกเป็นประเด็นต่างๆ ดังนี้

ภาพรวมของการใช้งานอินเทอร์เน็ต
จากผลการสำรวจครั้งนี้ พบว่า ค่าเฉลี่ยของการใช้อินเทอร์เน็ตต่อสัปดาห์เพิ่มสูงขึ้นจากการใช้งานโดยเฉลี่ย 32.3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือประมาณ 4.6 ชั่วโมงต่อวัน ในปี 2556 เพิ่มขึ้นเป็น 50.4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือใช้เวลาประมาณ 7.2 ชั่วโมงต่อวัน หรืออาจจะกล่าวได้ว่า ปัจจุบันนี้คนใช้เวลาเกือบ 1 ใน 3 ของวันเพื่อใช้งานอินเทอร์เน็ต  นอกจากนี้ยังพบว่า “กลุ่มเพศที่สาม” มีจำนวนค่าเฉลี่ยชั่วโมงการใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงที่สุด อยู่ที่ 62.1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

อุปกรณ์ที่ใช้เข้าถึงอินเทอร์เน็ต (Device)
“สมาร์ตโฟน”  เป็นอุปกรณ์ที่ผู้ตอบแบบสำรวจใช้งานมากที่สุด โดยคิดเป็นร้อยละ 77.1 และมีการใช้งานโดยเฉลี่ย 6.6 ชั่วโมงต่อวัน ตามมาด้วย “คอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ” ซึ่งมีผู้ใช้งานร้อยละ 69.4 และมีค่าเฉลี่ยในการใช้งานต่อวันคิดเป็น 6.2 ชั่วโมง และสำหรับการใช้งาน “สมาร์ตทีวี” ในยุคทีวีดิจิทัลระยะเริ่มต้น พบว่า มีผู้ตอบแบบสำรวจเพียงร้อยละ 8.4 เท่านั้นที่ใช้อุปกรณ์นี้ โดยมีการใช้งานเฉลี่ย 3.4 ชั่วโมงต่อวัน

ช่วงเวลาที่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตจากอุปกรณ์ต่างๆ
ผู้ตอบแบบสำรวจกว่าร้อยละ 50 ระบุว่าช่วงเวลา 08.01 – 16.00  น.เป็นช่วงเวลาที่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตจากคอมพิวเตอร์แบบ Desktop อย่างไรก็ตาม ยังพบอีกว่าผู้ตอบแบบสำรวจกว่าร้อยละ 40 ยังมีการใช้งานสมาร์ตโฟนในช่วงเวลานี้เช่นกัน และในช่วงเวลาหลังเลิกงาน/เรียน ตั้งแต่ 16.00 – 24.00 สมาร์ตโฟนกลายเป็นอุปกรณ์ที่ถูกใช้งานเพื่อเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสูงที่สุด  นอกจากนี้ อุปกรณ์อย่างแท็บเล็ตและสมาร์ตทีวีก็ถูกใช้งานมากขึ้นในช่วงเวลานี้ มื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาอื่น

กิจกรรมการใช้งานผ่านอินเทอร์เน็ต
จากผลการสำรวจ แสดงให้เห็นว่าผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่เพื่อความบันเทิงและการสื่อสารเป็นหลัก โดย 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 การพูดคุยผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ ร้อยละ 78 อันดับ 2 อ่านข่าวหรือ e-book ร้อยละ 56 และอันดับ 3 ค้นหาข้อมูล ร้อยละ 56

ในขณะที่ผู้ใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์ จะใช้ในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล ได้แก่ การรับ-ส่งอีเมล การค้นหาข้อมูล อ่านข่าว หรือ e-book ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางการเงินยังมีการดำเนินการผ่านคอมพิวเตอร์มากกว่าอุปกรณ์เคลื่อนที่ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากความคุ้นเคยและความรู้สึกปลอดภัยในการใช้งาน รวมทั้งระบบบราวเซอร์ที่รองรับการทำงานบนคอมพิวเตอร์มากกว่า

นอกจากนี้ ประเด็นที่น่าสนใจคือ กลุ่มเพศที่สามเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนการซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่และคอมพิวเตอร์สูงกว่ากลุ่มอื่นๆ โดยใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่ซื้อสินค้าออนไลน์ร้อยละ 39.1 และ ใช้คอมพิวเตอร์ซื้อสินค้าออนไลน์ คิดเป็นร้อยละ 50.7

เครือข่ายสังคมออนไลน์ยอดนิยม
ในปีนี้เครือข่ายสังคมออนไลน์และแอปพลิเคชั่นยอดนิยม 3 อันดับแรก ได้แก่ Facebook (ร้อยละ 93.7) LINE (ร้อยละ 86.8) และ Google+ (ร้อยละ 34.6) ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2556 จะเห็นว่ามีการสลับตำแหน่งกันระหว่าง LINE (ร้อยละ 61.1) และ Google+ (ร้อยละ 63.7)

สำหรับ Instagram และ Twitter มีผู้ใช้งานเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2556 โดยในปีนี้ มีผู้ใช้งาน Instagram ร้อยละ 34.1 ในขณะที่ปี 2556 มีผู้ใช้งานเพียงร้อยละ 12 และ Twitter มีผู้ใช้งานคิดเป็นร้อยละ 16.1 ในขณะที่ปี 2556 มีผู้ใช้งานเพียงร้อยละ 8.2 เท่านั้น

ปัจจัยที่ใช้ประกอบการซื้อสินค้า/บริการผ่านอินเทอร์เน็ต
ผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการตัดสินใจซื้อ 3 อันดับแรก ได้แก่ โปรโมชั่นที่ถูกใจ ข้อมูลสินค้าจากเว็บไซต์ของผู้ขายมีมากพอต่อการตัดสินใจซื้อ และระบบความปลอดภัยของเว็บไซต์ นอกจากนี้ บุคคลที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อมากที่สุด คือ กลุ่มเพื่อนหรือคนรู้จักที่เคยซื้อสินค้าและบริการจากเว็บ ซึ่งพบว่ามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจมากกว่าความคิดเห็นของ Blogger หรือโฆษณาผ่านหน้าเว็บไซต์

ถึงแม้ว่าผลการสำรวจจะชี้ให้เห็นว่าคนไทยจะมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตมากขึ้น แต่ทาง สพธอ. ได้แสดงความกังวลว่าอาจจะเป็นการสร้างภัยให้โดยไม่รู้ตัว เนื่องจากผู้ใช้งานส่วนมากยังไม่ตระหนักถึงภัยคุกคามออนไลน์ โดยจะเห็นได้จากผลการสำรวจพฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่สุ่มเสี่ยง พบว่า กว่าร้อยละ 70 ของผู้ตอบแบบสำรวจมักจะเช็คอินเสมอ ซ้ำยังตั้งค่าบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ของตนเป็น “Public” อีกด้วย

นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังชี้ให้เห็นอีกว่าตัวเลขการซื้อสินค้าผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่มีมากขึ้นกว่าปีก่อนๆ โดยมูลค่าเฉลี่ยสูงสุดของการซื้อสินค้าอยู่ที่ 4,000 บาทต่อครั้ง และมูลค่าเฉลี่ยสูงสุดของการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่เป็นจำนวนเงินมากถึง 15,000 บาท โดยที่ผู้ใช้งานกว่าร้อยละ 75 ไม่ตั้งรหัสผ่านก่อนเข้าเครื่อง และไม่ทำการล้างข้อมูลเมื่อเลิกใช้หรือนำโทรศัพท์มือถือไปขายต่อ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ถือว่ามีความสุ่มเสี่ยงต่อการถูกนำข้อมูลส่วนตัวไปใช้โดยกลุ่มมิจฉาชีพ

อย่างไรก็ตาม ทาง สพธอ. มีนโยบายที่จะรับมือกับกระแสภัยคุกคามออนไลน์ด้วยการจัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาหรือความไม่ชอบธรรมในโลกออนไลน์แบบ One Stop Service โดยเป็นความร่วมมือกับกสทช. และกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ DSI ซึ่งอาจจะมีการทำข้อตกลง MOU กันเร็วๆ นี้

ผู้ที่สนใจอ่านรายงานฉบับเต็มสามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่