Site icon Thumbsup

ออนไลน์ช้อปปิ้งไทยโตต่อเนื่องขณะที่กรุงเทพฯ ถูก shutdown

Rakuten-Tarad-ecommerce-720x342
สำนักข่าว Tech in Asia รายงานสถานการณ์วงการอีคอมเมิร์ซไทยในแง่บวกท่ามกลางการชุมนุมทางการเมืองที่ทำให้กทม.ถูก “shutdown” ในรายงานมีการอ้างคำให้สัมภาษณ์ของ “ป้อม” ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ว่าช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เว็บไซต์ตลาดดอทคอม (Rakuten Tarad) นั้นมียอดขายเพิ่มขึ้นถึง 71%

การชุมนุมประท้วงรัฐบาลไทยด้วยการปิดถนนหลายสายในกรุงเทพมหานครซึ่งถูกเรียกกันว่า Bangkok Shutdown นั้นสร้างความกังวลว่าจะส่งผลกระทบครั้งใหญ่ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยในวงกว้าง โดยเฉพาะห้างร้านใหญ่มากมายที่ต้องปิดทำการเร็วขึ้นเพื่อช่วยเหลือพนักงานที่ได้รับความเดือดร้อนจากการปิดถนน แต่ไม่ว่าสถานการณ์การเมืองจะเลวร้ายเพียงใด หนึ่งในธุรกิจที่ยังมียอดจำหน่ายและตลาดที่ขยายตัวต่อเนื่องคือออนไลน์ช้อปปิ้ง

การสอบถามไปยังหนึ่งในบริษัทอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของไทยอย่าง Rakuten Tarad พบว่าในช่วง 3 เดือนก่อนหน้านี้ที่เริ่มมีการชุมนุมแล้ว (ตุลาคม-ธันวาคม 2013) ยอดจำหน่ายของเว็บไซต์เพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วน 71% โดยจำนวนการเปิดชมหน้าเว็บไซต์มีปริมาณเพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2012 เกิน 93%

ปริมาณเปิดชมเว็บไซต์ที่เพิ่มขึ้นนี้ได้รับอานิสงส์ส่วนหนึ่งจากการเดินทางในกทม.ที่ไม่สะดวก ทำให้ผู้ใช้บางส่วนเลือกซื้อสินค้าจากเว็บไซต์ด้วยการออนไลน์จากบ้านแทน รวมถึงความแพร่หลายของอุปกรณ์พกพาที่ทำให้แคมเปญโมบายคอมเมิร์ซของ Rakuten Tarad ได้รับความนิยมมากขึ้นต่อเนื่องตลอดปี 2013 ที่ผ่านมา

รายงานยังระบุว่า ยอดจำหน่ายของ Rakuten Tarad ที่เกิดขึ้นจากสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตนั้นเพิ่มขึ้นมากกว่า 637% ในช่วงที่เกิดการประท้วง สะท้อนว่านักช็อปปิ้งด้วยอุปกรณ์พกพาของประเทศไทยมีจำนวนมากขึ้น ซึ่งเฉพาะส่วนของ Rakuten Tarad พบว่าทราฟฟิกการเปิดหน้าสินค้าเพื่อชมบนอุปกรณ์พกพานั้นเพิ่มขึ้นมากกว่า 564%

ทั้งหมดนี้ ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ นายกสมาคมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ตลาดดอทคอม อธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นเพราะวิกฤติทางการเมืองไม่มีผลทำให้ความต้องการสินค้าของประชาชนลดลง ทำให้ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา Rakuten Tarad ไม่เคยต้องยกเลิกแผนการจัดกิจกรรมของบริษัทเลย

ที่สำคัญ สถิติเหล่านี้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าอีคอมเมิร์ซคือทางออกที่จะทำให้ธุรกิจสามารถดำเนินกิจการไปได้อย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะเกิดวิกฤติบนโลกออฟไลน์

ที่มา : Tech in Asia