ครบรอบ 1 เดือนที่ประเทศไทยขาดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขณะที่ผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 กำลังก่อตัว การพักหนี้ของภาคธุรกิจกำลังจะสิ้นสุดในเดือนตุลาคม คาดการณ์จีดีพีต่ำลงทุกครั้ง หนี้ครัวเรือนและอัตราว่างงานสูงเป็นประวัติการณ์
เริ่มต้นที่ธนาคารโลก (World Bank) ประเมินอัตราการเติบโตของประเทศไทยพบว่ามีอัตราการเติบโตน้อยที่สุดในอาเซียน แม้ว่าจะเป็นชาติที่รับมือวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี ในปีนี้อัตราการเติบโตของไทยหรือจีดีพีในระดับพื้นฐานจะติดลบ 8.3% จากปีที่แล้ว และระดับต่ำสุดที่ติดลบ 10.4% หากสถานการณ์การแพร่ระบาดย่ำแย่ลงไปอีก
ต่อเนื่องที่ข้อมูลหนี้ครัวเรือนไตรมาส 2/2563 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (Bank of Thailand) สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่หดตัวลงจากวิกฤตโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยเพิ่มสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 18 ปี อยู่ที่ 13.58 ล้านล้านบาท หรือราว 83.8% ต่อจีดีพี สูงขึ้นจากไตรมาส 1/2563 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 80.1% ต่อจีดีพี
นอกจากนี้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ได้รายงานภาวะสังคมไทยประจำไตรมาส 2/2563 พบว่าประเทศไทยมีผู้ว่างงาน 7.5 แสนคน คิดเป็นอัตราว่างงานร้อยละ 1.95 จากกำลังแรงงานราว 38 ล้านคน เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากช่วงเวลาปกติ และนับเป็นอัตราการว่างงานสูงสุดในรอบ 11 ปีหรือนับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2552
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีการรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ดี ภาคธุรกิจในประเทศเริ่มกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ แต่แหล่งรายได้สำคัญอย่างภาคท่องเที่ยวยังคงถูกจำกัดการเดินทางไม่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาท่องเที่ยวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 รวมถึงภาคส่งออกที่แม้จะเริ่มฟื้นตัวแต่ยังคงอยู่ในสภาวะติดลบ
กลายเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ซึ่งวันนี้ (2 ต.ค.) เป็นวันครบรอบ 1 เดือนที่เก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอยู่ในภาวะสูญญากาศ ไม่เพียงโครงการของภาครัฐหยุดชะงัก มาตรการเยียวยาต่างๆ ก็ไม่เกิดขึ้น ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่กระทบทุกภาคส่วน
อ้างอิง World Bank, efinancethai, กรุงเทพธุรกิจ