จับตาทิศทางสถานีโทรทัศน์ ThaiPBS เขยื้อนอีกรอบ เริ่มเปิดตัว OTT Platform สำหรับดูรายการย้อนหลังที่เคยออกทางทีวีและคอนเทนต์ที่ผลิตเองแล้วผ่านเว็บ VIPA.me ประเดิมด้วยละคร ‘ลูกเหล็กเด็กชอบยก’ ที่มีนักร้องวงไอดอลอย่าง BNK48 มาร่วมแสดงด้วย
ก่อนหน้านี้สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (ThaiPBS) ประกาศผังรายการใหม่ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 หลายรายการที่เปิดตัวมีการดึงนักแสดงดังมาเป็นจำนวนมาก แต่ยังมีเนื้อหาและสาระอยู่ภายใต้กรอบทีวีสาธารณะ
โดยละครที่มีกลยุทธ์ดึงดูดผู้ชมคนรุ่นใหม่ คงหนีไม่พ้นละคร ‘ลูกเหล็กเด็กชอบยก’ เรื่องราวของสาวน้อยวัย 18 ปี ที่อยากเป็นนักยกน้ำหนัก โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากความรู้สึกผิดเกี่ยวกับอุบัติเหตุรถคว่ำเมื่อ 8 ปีก่อน
ละครเรื่องดังกล่าวมีการดึงเอานักแสดงดัง อย่าง ปอนด์-พลวิชญ์ (ปัจจุบันสังกัดอยู่กับ นาดาวบางกอก), นัท-ณัชพล รัตนมงคล รวมถึงนักร้องวงไอดอล BNK48 ได้แก่ อร-พัศชนันท์ เจียจิรโชติ, มินมิน-รชยา ทัพพ์คุณานนต์ และ ขมิ้น-มาณิภา รู้ปัญญา
ซึ่งการประชาสัมพันธ์ละครเรื่องดังกล่าว ก็มีการเชิญชวนให้ชมย้อนหลังผ่านแพลตฟอร์ม VIPA อีกด้วย
สอดคล้องกับข้อมูลก่อนหน้านี้ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของไทยพีบีเอส ให้ข้อมูลกับ thumbsup ไว้ในช่วงกลางเดือนมิถุนายน ว่า VIPA จะเป็นบริการ Audio/Video Streaming หรือ OTT (Over-The-Top) Platform ช่องทางใหม่จากไทยพีบีเอส โดยแบ่งประเภทบริการไว้หลากหลาย เช่น
- VIPA Live รายการสด ในเหตุการณ์และการแข่งขันกีฬาสำคัญๆ
- VIPA Archive คลังรายการคุณภาพจากไทยพีบีเอส
- VIPA Original เนื้อหาพิเศษผลิตขึ้นเพื่อ VIPA เป็นการเฉพาะ
- VIPA UGC พื้นที่สร้างสรรค์ผลงานจากครีเอเตอร์ออนไลน์
โดยไทยพีบีเอสระบุว่าตัว VIPA จะเปิดให้บริการทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ซึ่งตอนนี้ (ไตรมาสที่ 3) ก็เริ่มเปิดให้บริการผ่านเว็บไซต์ พร้อมกับละครเรื่อง ‘ลูกเหล็กเด็กชอบยก’ เป็นที่เรียบร้อย
ซึ่ง รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธาณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ได้เปิดเผยในช่วงกลางเดือนมิถุนายนเช่นว่า ต้องปรับกลยุทธ์องค์กร พร้อมยึดมั่นภารกิจเพื่อสาธารณะภายใต้งบประมาณที่มีอยู่ให้สามารถทำประโยชน์และคุ้มค่าต่อสังคมมากที่สุด
รศ.ดร.วิลาสินี ยอมรับว่า พฤติกรรมการรับสื่อของเด็ก 3-6 ปี ยังดูทีวีเป็นอันดับแรก รองลงมาคือการอ่านหนังสือและดู YouTube ส่วนเด็กอายุ 7-11 ปี พบว่าใช้สื่อ YouTube มากที่สุด รองลงมาคือโทรทัศน์ ทำให้ต้องสร้างพื้นที่ที่มี Content ที่มีคุณภาพเกิดขึ้น และตอบสนองการวางใจของครอบครัวได้มากขึ้น
“อีกหนึ่งความท้าทายของไทยพีบีเอส ในขณะที่ผู้ชมรับสื่อผ่านหน้าจอโทรทัศน์มีจำนวนลดลง และหันมาชมผ่านทางออนไลน์มากขึ้น เราจึงเตรียมที่จะเผยแพร่ Content ผ่านช่องทาง OTT ซึ่งไทยพีบีเอสเรียกว่าช่อง VIPA รองรับผู้ชมทางออนไลน์ที่สนใจเนื้อหาคุณภาพในแบบไทยพีบีเอส”
– รศ.ดร.วิลาสินี กล่าว
ผอ.ไทยพีบีเอส ยังยืนยันว่าองค์กรเน้นการสร้างเนื้อหาเชิงสาระเพื่อเน้นกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น โดยวางเป้าหมายว่าเป็น Passionate Learners คือ คนที่กระตือรือร้นแสวงหาการเรียนรู้ และยังเป็นการเปิดพื้นที่ในการสร้างสรรค์ผลงานจาก Online Creator รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมบนสื่อออนไลน์อีกด้วย
น่าสนใจว่า การเดินตามรอยกระแสสื่อทั่วโลกที่มีแพลตฟอร์มของตนเอง ซึ่งสื่อสาธารณะระดับโลกอย่าง BBC ก็มีแพลตฟอร์ม Video Streaming มานานแล้ว น่าสนใจว่าการเกิดขึ้นของ VIPA หลังจากนี้จะได้รับการตอบรับไปในทิศทางใดต่อไป
เพราะตอนนี้เรามีแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งทั้งของไทย (เช่น LINE TV, AIS PLAY, TrueID ฯลฯ) และต่างประเทศ (Netflix, Viu, iFlix, WeTV, Amazon Prime Video ฯลฯ) ให้ดูมากมากมายเหลือเกิน