Site icon Thumbsup

ThaiPublica เปิดเว็บลูก “จับเท็จดอทคอม” ใครพูดโป้ปดมดเท็จ งานนี้มีเสียว

jabted

วันก่อน ThaiPublica จัดงานครบรอบ 3 ปี หัวเรือใหญ่อย่าง “สฤณี อาชวานันทกุล” ได้ออกมาประกาศว่า ทางเว็บไซต์ได้เปิดตัวเว็บลูก “จับเท็จดอทคอม” (Jabted.com) เว็บใหม่ที่เกิดมาจากแนวคิด Data Journalism ที่ช่วยให้ข่าวมีมิติที่ลุ่มลึก ทั้งยังมีความหมายกับสังคมมากยิ่งขึ้นด้วย

คำว่า Data Journalism (วารสารศาสตร์ข้อมูล) อาจจะฟังดูยากสักนิด แต่ก่อนจะอ่านกันต่อไป ขอยกคำนิยามในวิกิพีเดียมาให้ thumbsuper อ่านกันก่อน เพื่อความกระจ่าง

วารสารศาสตร์ข้อมูล (อังกฤษ: data-driven journalism หรือ data journalism) เป็นกระบวนการทางวารสาร ที่มีฐานอยู่บนการวิเคราะห์และคัดกรองชุดข้อมูลขนาดใหญ่ โดยมีจุดประสงค์เพื่อการสร้างข่าวขึ้นมาชิ้นหนึ่ง มันไม่เหมือนกับ วารสารศาสตร์ฐานข้อมูล ซึ่งส่วนมากใช้สำหรับการรายงานข่าวสืบสวนสอบสวน วารสารศาสตร์ข้อมูลจัดการกับข้อมูลเปิดที่เผยแพร่ฟรีออนไลน์ และวิเคราะห์มันด้วยเครื่องมือโอเพนซอร์ส ความแตกต่างอีกอย่างหนึ่งก็คือ วารสารศาสตร์ข้อมูลพยายามที่จะยกระดับไปสู่การบริการใหม่ๆ เพื่อสาธารณะ การช่วยเหลือผู้บริโภค ผู้บริหาร นักการเมือง ให้เข้าใจแบบแผนที่ปรากฏจากข้อมูล และทำการตัดสินใจบนฐานของข้อค้นพบเหล่านั้น ด้วยประการนี้ วารสารศาสตร์ข้อมูลจึงอาจเป็นวิถีใหม่ที่จะช่วยวางตำแหน่งนักวารสารไว้ในหน้าที่ที่มีความหมายกับสังคม

ถ้าให้พูดภาษาชาวบ้าน Data Journalism ก็คือการเอาเทคโนโลยีมาเก็บข้อมูลที่มีอยู่ในสังคมแล้วนักข่าวของสำนักข่าวนั้นๆ จะต้องเอามาเชื่อมโยงกับประเด็นข่าวหรือสมมุติฐานที่ตั้งเอาไว้ แล้วนำมาบรรจุหีบห่อการนำเสนอ พร้อมกับวิเคราะห์เชิงลึกอย่างมีชั้นเชิง โดยทาง ThaiPublica ยังได้ยกตัวอย่างถึงการทำ Data Journalism ไว้ดังนี้

ตัวอย่างการทำซีรีส์ในสหรัฐฯ คือ ซีรีส์ที่ชื่อว่า “Do No Harm” โดย Las Vegas Sun วิเคราะห์ข้อมูลบิลในโรงพยาบาลกว่า 2.9 ล้านชิ้น จากการใช้กฎหมายข้อมูลข่าวสาร ผลการวิเคราะห์พบกรณีที่ป้องกันได้ เช่น การติดเชื้อ การรับผู้ป่วยใหม่ (readmit) และข้อผิดพลาดในการผ่าตัด รวมกัน 3,600 กรณี ในจำนวนนี้มี 300 กรณีที่ผู้ป่วยตายจากความผิดพลาดที่ป้องกันได้

ซึ่งข่าวในซีรีส์นี้มีทั้งข้อเขียน แผนที่ เส้นเวลา (timeline) แสดงให้เห็นการติดเชื้อที่กระจายไปทีละโรงพยาบาล และกราฟิกที่เล่นได้ ให้คนอ่านเรียงข้อมูลตามประเภทที่ต้องการ หลังจากซีรีส์ตีพิมพ์ สภามลรัฐเนวาดาออกกฎหมาย 5 ฉบับ เพื่อความโปร่งใสในโรงพยาบาล ปี 2011

จะเห็นได้ว่าจากตัวอย่างข้างต้น เป็นการดึงเอาข้อมูลที่มีอยู่แล้ว แล้วเอาเทคโนโลยีมาจับข้อมูลเหล่านี้แล้วมาเปลี่ยนรูปร่างหน้าตาใหม่ให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ทั้งยังมีแง่มุมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการทำงานนี้ด้วย

ทาง ThaiPublica ได้อธิบายไว้ในเว็บไซต์ “จับเท็จดอทคอม” ว่าเว็บไซต์นี้ก่อตั้งด้วยความมุ่งหมายที่จะร่วมเป็นส่วนเล็กๆ ในการติดตามตรวจสอบ “คำพูด” ของบุคคลสาธารณะ โดยเฉพาะผู้มีอำนาจทางการเมือง โดยนำทักษะความเชี่ยวชาญในการสืบค้นของนักข่าวสืบสวนสอบสวน มาใช้ในการนำเสนอข้อค้นพบอย่างเป็นระบบ ผ่านการออกแบบเว็บไซต์ให้เข้าใจง่ายและสืบค้นคำพูดได้โดยสะดวก แทนที่จะปล่อยให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์สาธารณะจมหายไปในสายธารของ Social Media ทั้งหลาย

ทีมงานจับเท็จจะตรวจสอบเฉพาะ “คำพูด” ที่เกี่ยวกับข้อเท็จจริง ซึ่งสามารถค้นหาหลักฐานมาพิสูจน์ได้เท่านั้น คำพูดประเภทความคิดเห็น คำสัญญา หรือคำประกาศต่างๆ นานา เกี่ยวกับอนาคตหรือความเชื่อส่วนตัว เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือขอบเขตการทำงานของเรา

จับเท็จดอทคอมนับเป็นโครงการ data journalism หรือวารสารศาสตร์เชิงข้อมูล โครงการแรกของสำนักข่าวออนไลน์ ไทยพับลิก้า เกิดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง ไทยพับลิก้า ร่วมกับ โอเพ่นดรีม

ใครสนใจก็ลองไปร่วม “จับเท็จ” กันดูได้ครับ