Site icon Thumbsup

“ไทยรัฐ” หายใจรดต้นคอ “ผู้จัดการ” ท้าชิงแชมป์หนังสือพิมพ์ออนไลน์ไทย

ในแวดวงการทำงานของอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตไทย เว็บไซต์ประเภท “ข่าวและสื่อ” เป็นเว็บไซต์ที่มีสีสันน่าสนใจในแง่การพัฒนาไม่ใช่เล่นครับ เพราะนอกจากหนังสือพิมพ์เหล่านี้จะเป็นเจ้าของ Content เอง ยังสามารถสร้างความน่าติดตามได้จากคอลัมน์และสื่อมัลติมีเดียต่างๆ ให้เราเสพกันได้อย่างต่อเนื่อง ถ้าเราลองกลับเข้าไปดูที่ truehits ซึ่งเป็นเหมือนมาตรฐานในการวัดผลความสำเร็จด้านแทรฟฟิค บ่อยครั้ง เราจะเห็นได้ว่าเว็บไซต์ข่าวนั้นมีการแข่งขันกันสนุกสนานทีเดียว… ล่าสุด “ไทยรัฐ” แชมป์หนังสือพิมพ์ออฟไลน์ กำลังไต่อันดับ truehits หวังชิงตำแหน่ง แชมป์หนังสือพิมพ์ออนไลน์ที่ “ASTV ผู้จัดการ” ชนะไปก่อนหน้านี้ถึง 8 ปีซ้อน ปีนี้ “ไทยรัฐ” ขึ้นมาติดอันดับ 9 เรียบร้อยแล้ว ในขณะที่แชมป์เก่าอย่าง “ผู้จัดการ” นำอยู่ที่อันดับ 5

ขณะนี้ “ไทยรัฐ” มีจำนวนผู้ชมอยู่ที่ 211,362 Unique IP ต่อวัน ตาม “ผู้จัดการออนไลน์” ที่นำโด่งอยู่ที่ 322,885 Unique IP ต่อวัน ส่วนในแง่จำนวน Page View ผู้จัดการก็นำโด่งที่ 3.2 ล้าน ในขณะที่ไทยรัฐมีเพียง 1.5 ล้านต่อวันเท่านั้น ตัวเลขเหล่านี้ระบุได้ว่ากลยุทธ์ของทั้งสองค่ายมีความแตกต่างกัน แต่ที่น่าสังเกตคือทั้งสองค่าย “เอาจริง” โดยเปิดบริษัทใหม่ขึ้นมาดูแลอย่างผู้จัดการจะมี Ethnic Earth ส่วนไทยรัฐจะมี Trend VG3

ในแง่กลยุทธ์เนื้อหาข่าว ด้านผู้จัดการ ชาวเน็ตหลายคนบอกว่าติด “ซ้อเจ็ด” ในเซ็คชั่นบันเทิง กีฬา และข่าวการเมือง และมีการซิงค์กับ Cable TV ในแบบเชื่อมโยงสื่อออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกัน (ASTV, วิทยุผู้จัดการ, นิตยสาร Positioning, นิตยสาร Mars ฯลฯ) มีการดึงเอา iPad version ของสื่อสิ่งพิมพ์ในเครือมาบูรณาการ รวมถึงลิงก์ไปถึงเว็บไซต์ในเครืออีกมากมาย ส่วนไทยรัฐ มีแบรนด์ที่แข็งแกร่ง และเข้ามาแข่งขันด้วยการทำสกู๊ปข่าว เชิง editorial marketing เข้าแข่งขัน อย่างล่าสุดก็จับกระแสการเลือกตั้งโดยเปิดหน้าพิเศษขึ้นมา http://www.thairath.co.th/election เรียกได้ว่ามีอะไรจะอัพเดตกับคนอ่านมากกว่าการอัพเดตข่าวจากหนังสือพิมพ์ธรรมดาอย่างที่เคยทำมา

นอกจากนี้ถ้าเราลองดูเทคนิคลึกๆ ของแต่ละเจ้าจะเห็นว่าตั้งใจทำกันเต็มที่มากๆ เห็นได้ชัดจากการขยายช่องทางเข้าถึงผู้อ่านทั้งทาง SMS, Mobile, Search Engine

Mobile
นอกจากทั้งสองค่ายยักษ์ใหญ่จะมีเว็บไซต์เป็นของตัวเองแล้ว สมัยนี้ต้องมี Mobile version แล้วเช่นกัน ถ้าลองเปิดจาก iPad หรือ Galaxy Tab จะเห็นว่าทั้งสองค่ายรองรับการชมผ่าน Tablet แล้วทั้งคู่ ส่วนแอพพลิเคชั่นนั้น “ผู้จัดการ” จะมีแอพพลิเคชั่นทั้ง iOS และ Android ส่วน “ไทยรัฐ” มีแต่ iOS แต่รูปแบบธุรกิจจะเน้นให้ผู้อ่านสมัคร SMS ก่อน ถึงจะอ่านข่าวได้ อย่างไรก็ตามเราได้ข่าวมาว่าทีมงานไทยรัฐออนไลน์กำลังจัดทำแอพพลิเคชั่นสำหรับ Android และระบบอื่นๆ อยู่ แต่กระนั้นถึงยังไม่มีแอพพลิเคชั่นอย่างเป็นทางการออกมา ก็เริ่มมีนักพัฒนาดึง Feed ข่าวไปทำแอพพลิเคชั่นเองบ้างแล้ว

Search engine
อย่างค่ายผู้จัดการ ก่อนหน้านี้ไม่เคยปล่อยให้ Google แสดงผลข่าวของตัวเอง ล่าสุดก็ปล่อยให้ Google crawl มากขึ้น หรือเปิดให้คนสืบค้นข่าวผ่านเสิร์ชเอ็นจิ้นมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากตัวเลขว่า ในวันหนึ่งๆ จะมีคนแวะเยี่ยมชม “ผู้จัดการ” และ “ไทยรัฐ” จากการค้นหาข่าวที่ตัวเองต้องการจำนวน แม้จะไม่มากเท่าไหร่ ไม่ถึง 1% แต่ก็ถือว่าเป็นจำนวนที่มีความสำคัญ (ไทยรัฐ มีคนเข้าผ่านมาจาก search engine เดือนละ 153,005 ครั้ง (0.88%) ส่วน ผู้จัดการมีคนเข้าผ่านมาจาก search engine เดือนละ 67,655 ครั้ง (0.39%))

ไม่ตกเทรนด์ Social Media
ทั้งสองค่ายต่างให้ค่ากับการใช้ Social Media ในการนำเสนอข่าวผ่าน Twitter และทำการตลาดผ่าน Facebook นอกจากนี้ก็เปิดให้ผู้อ่านแชร์เรื่องที่ตัวเองชอบผ่าน Facebook, Twitter ในแบบพื้นๆ และอำนวยความสะดวกให้ผู้อ่านพอสมควร เช่น ผู้จัดการ จะเตรียมย่อ URL ไว้ให้แชร์ต่อได้ง่าย รวมไปถึงการปล่อย RSS Feed

ในความเห็นส่วนตัวของผม “ผู้จัดการ” เดินทางบนโลกออนไลน์มานานกว่า “ไทยรัฐ” แต่การที่ไทยรัฐสามารถตีต้ืนขึ้นมาได้เรื่อยๆ แม้จะยังไม่ใกล้เคียงมาก แต่ก็ทำให้เห็นถึงบรรยากาศการแข่งขันที่ทำให้ผู้อ่านมีโอกาสได้อ่านข่าวที่อัพเดตได้ทันใจและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น…

ถ้าแนวคิดที่ว่า “Markets are Conversations” เป็นจริง สิ่งที่ทั้งสองค่ายยังขาดก็คือการดูแลเนื้อหาในส่วนคอมเมนต์อย่างจริงจัง ถ้าเราดูในเว็บผู้จัดการจะเห็นว่าตรงส่วนคอมเมนต์ส่วนใหญ่จะเป็นคอมเมนต์แรงๆ และออกแนวลบ มีเพียงสมาชิกบางคนที่ล็อกอินและยืนยันตัวตนเท่านั้นที่ตอบอย่างสร้างสรรค์ ในขณะที่ไทยรัฐไม่ค่อยมีคอมเมนต์อะไร มีแต่ข่าวที่นำเสนอทางเดียวเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นการใช้อินเทอร์เน็ตแบบไม่เต็มประโยชน์ ถ้าจะให้เต็มประโยชน์ก็ควรจะมีคนดูแลเนื้อหาที่สร้างขึ้นโดยผู้ใช้และนำไปต่อยอดต่อไป ซึ่งจะสร้างเสริมความสัมพันธ์กับแฟนข่าวของแต่ละค่ายได้เป็นอย่างดี

วันนี้คุยกันแต่สองค่ายใหญ่นี้ก่อนนะครับ จริงอยากเขียนถึง กลุ่มเนชั่น (ที่เอาจริงมากเช่นกัน ล่าสุดเปิดมหาวิทยาลัยเนชั่นด้วย), กลุ่มมติชน ที่ล่าสุดดึงเอาผู้บริหารภายในขึ้นมากุมบังเหียนเรียบร้อย, กลุ่มโพสต์ ที่ได้มือดีจากแวดวงดอทคอมไปร่วมงานหลายคน, เดลินิวส์, ตลอดจนสื่อดั้งเดิมอื่นๆ ที่ปรับตัวเข้าสู่ดิจิตอล แต่อย่างนั้นคงเขียน 3-4 วันไม่จบแน่นอน ถ้า thumbsuper ท่านใด มีความเห็นอะไรอยากแชร์ ก็เชิญด้านล่างเลยนะครับ พวกเราน้อมรับและอ่านทุกคอมเมนต์ครับ