ใครที่กำลังถอดใจเรื่องสภาพเศรษฐกิจ บางทีอาจต้องลองฟังผลวิจัยจากสองแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ด้านการชำระเงินอย่าง Visa และ MasterCard ที่ออกมาเผยข่าวดี หลังพบทิศทางในเชิงบวกจากการขับเคลื่อนนโยบาย Cashless Society โดยพบว่าคนไทยสนใจชำระเงินผ่าน Mobile Wallet เพิ่มสูง หากมีข้อเสนอและความปลอดภัยที่ดี แถมยังพบว่าคนไทยมองอนาคตในแง่บวก เนื่องจากมีความเชื่อมั่นว่ารายได้ในอีก 6 เดือนข้างหน้าจะเพิ่มขึ้น
โดยผลสำรวจฉบับล่าสุดของ Visa เกี่ยวกับการศึกษาเรื่องทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภค แสดงให้เห็นว่า 94% ของคนไทยสนใจที่จะชำระเงินผ่าน Mobile Wallet หากมีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่น่าไว้วางใจ รวมถึงข้อเสนอจูงใจและบริการเสริมอื่นๆ เช่น แบรนด์ลอยัลตี้โปรแกรม และการสะสมแต้มต่างๆ รวมถึงใบแจ้งหนี้ดิจิทัลเพื่อติดตามค่าใช้จ่าย
นายสุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ผลการศึกษาครั้งนี้เป็นการยืนยันได้ว่าผู้บริโภคไม่เพียงแค่ต้องการการชำระเงินผ่านมือถือที่รวดเร็ว ใช้งานง่าย และปลอดภัยแล้ว แต่ยังต้องการโปรโมชั่น และฟังก์ชั่นในการสะสมหรือใช้แต้มได้ด้วย”
ทั้งนี้จากตัวเลขของ VISA พบว่า การทำธุรกรรมบนมือถือนั้น เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินคิดเป็นครึ่งหนึ่งของการทำธุรกรรมบนมือถือทั้งหมด (51 เปอร์เซ็นต์) ในขณะที่การซื้อของออนไลน์คิดเป็นสามในสิบ (31 เปอร์เซ็นต์) ในส่วนของผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินนั้นมีการใช้งานเพิ่มขึ้นจากปีก่อนกว่า 14 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้ ผลการศึกษายังชี้ให้เห็นว่า 87% ของผู้ตอบแบบสอบถาม มีการชำระเงินผ่านมือถือในปีที่ผ่านมาและ 58% ได้ใช้เป็นประจำทุกสัปดาห์ แต่อุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดในการหันมาใช้การชำระเงินผ่านมือถือคือเรื่องความปลอดภัย แบ่งออกเป็น
- ความกลัวจากการแฮ็กโทรศัพท์และการขโมยข้อมูล (34 เปอร์เซ็นต์)
- การทำโทรศัพท์หายหรือถูกขโมย (22 เปอร์เซ็นต์)
- การเข้าถึงบัญชีส่วนตัวโดยไม่ได้รับอนุญาต (17 เปอร์เซ็นต์)
- ไวรัสและมัลแวร์ต่างๆ (9 เปอร์เซ็นต์)
นอกจากนี้ VISA ยังเผยว่า QR Code จะเป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนโลกให้เข้าสู่สังคมไร้เงินสดในอนาคตด้วย
ด้านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของ MasterCard พบความเชื่อมั่นด้านรายได้ของไทยอยู่ในเกณฑ์ดี โดยผู้บริโภคชาวไทยเชื่อมั่นว่า ในช่วง 6 เดือนข้างหน้าจะได้รับรายได้ประจำและผลตอบแทนจากการทำงานเพิ่มขึ้น
แต่หากเปรียบเทียบในภูมิภาคพบว่า เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีการปรับตัวของความเชื่อมั่นผู้บริโภคสูงที่สุดในเอเชียแปซิฟิก ขณะที่อินเดียเป็นตลาดที่มีระดับความเชื่อมั่นลดลงมากที่สุดในภูมิภาค โดยมีคะแนนต่ำลงถึง 9.3 จุด