หลายปีมานี้ การทำการตลาดด้านดิจิทัลมีความสำคัญเพิ่มขึ้น ด้วย Search Algorithms เองก็ถูกพัฒนาให้สามารถรองรับซับซ้อนยิ่งขึ้นเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีของโลกอันก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่ตามมา วันนี้เรามาอัปเดตเทรนด์ของปี 2559 กัน
ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โลกดิจิทัลมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญ เพราะนี่อาจเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ผลสถิติระบุว่าในปี 2557 มีจำนวนผู้ใช้งานบนโทรศัพท์มือถือมากกว่าผู้ใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์แล้ว รวมทั้งยังคาดการณ์กันว่าจำนวนผู้ใช้จะเพิ่มสูงขึ้นอีกเท่าตัวในปี 2559 ที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่สัปดาห์นี้ เห็นได้ชัดว่าหลาย ๆ สิ่งในโลกดิจิทัลกำลังจะเปลี่ยนไปอีกครั้ง
ดังนั้น แบรนด์และธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวและเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน พฤติกรรมการใช้ รวมถึงกลุ่มเป้าหมายก็ย่อมเปลี่ยนไปเช่นกัน
The Content King Remains King – ราชา อย่างไรก็ยังคงเป็นราชา
Content Marketing จะยังคงมีบทบาทสำคัญในปี 2559 การทำ Customized Content ช่วยให้แบรนด์เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ง่ายขึ้น เพราะเป็นการเขียนคอนเทนต์โดยใช้สำนวนและถ้อยคำให้เข้ากับกลุ่มผู้ซื้อกลุ่มนั้น ๆ วิธีนี้ช่วยให้แบรนด์มีความเป็นมนุษย์ มีชีวิตชีวามากขึ้น หรือพูดอีกอย่างก็คือ ช่วยลดระยะห่างของการสื่อสารระหว่างลูกค้ากับแบรนด์ลง จนทำให้ลูกค้ารู้สึกว่ากำลังคุยกับตัวพนักงานไม่ใช่กับบริษัท ทั้งนี้แก่นของการทำ Content Marketing ยังคงอยู่เหมือนเดิม โดยเนื้อหาจะยังเป็นตัวหลักในการส่งข้อมูลที่สำคัญและมีประโยชน์ให้แก่ลูกค้าในปัจจุบันและลูกค้าในอนาคต การปรับแต่งคอนเทนต์จะมีบทบาทต่อไปและโตขึ้นโดยไม่เกี่ยงขนาดของธุรกิจ ประเภทธุรกิจ หรือแม้แต่พวกตลาดเฉพาะกลุ่ม พูดง่าย ๆ Content Marketing เปรียบเสมือนสะพานที่เชื่อมตัวแบรนด์กับกลุ่มลูกค้า อีกทั้งยังช่วยลดช่องว่างระหว่างกัน โดยเน้นความเชื่อใจซึ่งกันและกันเป็นหลัก
หลายคนเข้าใจว่า การทำ Content Marketing หลัก ๆ แล้วคือการทำให้แบรนด์ถูกจัดอันดับอยู่ในลำดับต้น ๆ บน Search Engine ซึ่งก็ไม่ผิดนัก แต่จริง ๆ แล้ว Content Marketing มีอะไรมากกว่าแค่ “การเป็นอันดับ 1 บน Google” จุดประสงค์หลักไม่ใช่เพื่อช่วยเรื่องอันดับหรือการันตีผลลัพธ์ให้แก่ลูกค้า (ROI) แต่ Content Marketing ยังช่วยส่งเสริมการทำ SEO และการตลาดแขนงอื่น ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามเนื้อหายังเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด เพราะถือเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค
และจากงานวิจัยซึ่งดำเนินการโดยสถาบันผู้เชี่ยวชาญด้าน Content Marketing (Content Marketing Institute) แสดงให้เห็นว่า
- 88% ขององค์กรที่ทำการค้ากันเองระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ (B2B) จ้างตำแหน่งที่ทำ Content Marketing โดยเฉพาะ
- 78% (ของ 88%) ขององค์กรเพิ่มปริมาณการผลิตคอนเทนต์และงบประมาณโดยรวม
- 90% ของผู้บริโภคพบว่า Custom Content (คอนเทนต์ที่ผ่านการปรับให้เหมาะกับผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม) มีประโยชน์ต่อพวกเขา
- 78% ของผู้บริโภคเชื่อว่า บริษัทที่มีการทำ Custom Content นั้นน่าเชื่อถือและเหมาะที่จะสร้างความสัมพันธ์ด้วย
- 80% ของนักธุรกิจมักจะสนใจการนำเสนอข้อมูลบริษัทในรูปแบบงานเขียนมากกว่างานโฆษณา
- การทำ Content Marketing ใช้งบประมาณน้อยกว่าการทำการตลาดเชิงรุก (Outbound Marketing) แบบเดิม ๆ ถึง 62%
ดังนั้น แบรนด์ควรจะสร้างคอนเทนต์โดยคำนึงถึงผู้ใช้มากกว่าที่จะสนใจแค่อันดับบน Google และออกแบบคอนเทนต์ที่ตรงตามกฎของ Search Engine เพียงอย่างเดียว พูดง่าย ๆ Content Marketing คือการทำ Marketing ให้แก่คอนเทนต์ที่คุณสร้างขึ้นมา ไม่ว่าจะในรูปแบบใด ๆ (บทความ, Infographic, Podcast หรือ Video) เพื่อเชื่อมโยงแบรนด์กับกลุ่มเป้าหมาย มากกว่าไปบังคับให้ผู้บริโภคต้องเจอคอนเทนต์เหล่านั้น เพียงแค่เป็นเนื้อหาที่ปรากฏบนหน้าแรกของผลลัพธ์การค้นหา
Visual Content is Pleasing to the Eyes – เล่าเรื่องด้วยภาพจะทำให้เห็นได้มากกว่า
บางคนอาจจะสงสัย Visual Content ว่ามันคืออะไร หากแปลตรงตัว Visual Content คือ การสร้างสรรค์คอนเทนต์แบบให้เห็นภาพเพื่อให้ผู้รับเข้าใจคอนเทนต์ได้ง่ายขึ้น Visual Content เป็นได้ตั้งแต่รูปภาพธรรมดาไปจนถึง Infographic และ Video ที่ซับซ้อน แบรนด์และเหล่า Visual Influencer จึงต้องร่วมกันสร้างบรรยากาศด้านบวกที่ชวนให้ตื่นตาตื่นใจเพื่อสะท้อนความจริงใจและความน่าเชื่อถือของแบรนด์ ด้วยเหตุนี้ มีการคาดการณ์ว่า Visual Content จะช่วยดึง Engagement เข้ามาสู่แบรนด์ได้มากพอสมควร
หนึ่งใน Visual Content ที่กำลังมาแรงแซงโค้งอยู่ในขณะนี้คงหนีไม่พ้น วิดีโอคอนเทนต์ (Video Content) และคาดว่า กว่า 74% ของ Traffic จากอินเทอร์เน็ตทั้งหมดในปี 2560 จะมาจาก Video ต้องยอมรับว่า Video เป็นสื่อกลางที่มีอิทธิพลอย่างมาก แต่ใช่ว่า Video เหล่านั้นจะต้องยาวเสมอไป บางทีคลิปถ่ายเองสั้น ๆ แค่ 15 วินาทีอย่างใน Instagram สามารถเล่าเรื่องราวได้ดีกว่าเรียงความ 100 บรรทัดซะอีก และไม่ใช่เพียง Instagram เท่านั้น แต่ปัจจุบัน Video Content ได้แฝงตัวอยู่ในเกือบทุก platform ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Twitter รวมถึง LinkedIn รวมถึงพี่ใหญ่อย่าง YouTube
On-the-Go with Mobile – โมบายล์ ไปไหนไปกัน
ในปี 2557 Traffic จากการใช้งานบนมือถือเพิ่มสูงขึ้นมากในกว่า 10 ประเทศทั่วโลก จนสามารถไล่ทันสถิติ Traffic บน Desktop ที่เคยมีมา และในเดือนเมษายน Google ได้อัปเดต Algorithm สำหรับการค้นหาบนมือถือโดยเฉพาะขึ้นมา คนในวงการต่างพากันเรียก Algorithm ใหม่นี้ว่า Mobilegeddon (เป็นการเล่นคำจาก Mobile และ Armageddon) ซึ่งเน้นผู้ใช้งานบนอุปกรณ์พกพาเป็นหลัก เว็บไซต์ที่อ่านบนอุปกรณ์พกพาได้ไม่สะดวกจะถูกลดอันดับลง ขณะที่เว็บไซต์ที่เป็น Mobile Friendly จะถูกเลื่อนขึ้นมาอยู่อันดับต้น ๆ ซึ่งในความจริงแล้วเราเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของอุปกรณ์พกพา อย่างพวกสมาร์ทโฟนมาได้ 2-3 ปีแล้ว แต่ไม่มีอะไรสะเทือนวงการได้มากเท่ากับปรากฎการณ์ Mobilegeddon เพราะเป็นการอัปเดตที่ถูกพัฒนาสำหรับอุปกรณ์พกพาเท่านั้น ราวกับ Google ได้ส่งสัญญาณบอกพวกเราว่า ยุคของอุปกรณ์สมาร์ทโฟนมาถึงแล้ว ยิ่งมีคนใช้สมาร์ทโฟนมากเท่าไหร่ ข้อมูลต่าง ๆ ยิ่งต้องเข้าถึงง่ายมากเท่านั้น
โดยมีการคาดว่ายอดผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนจะเพิ่มสูงขึ้นถึงกว่า 2 พันล้านคนในปี 2559 และในปี 2561 อาจสูงถึง 2.56 พันล้านคนเลยทีเดียว (ซึ่งก็เท่ากับ 1 ใน 3 ของประชากรโลก) ผู้คนจำนวนมากในหลาย ๆ พื้นที่สามารถเข้าถึงและเชื่อมต่อมือถือของพวกเขากับ Wi-Fi และเครือข่าย 4G ทำให้พวกเขาติดต่อสื่อสารกับครอบครัว เพื่อน และแบรนด์ต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกสบาย ปัจจุบันโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์สมาร์ทโฟนต่างๆ ไม่ใช่ของใช้หรูหรา แต่เป็นสิ่งที่ต้องมีติดตัวไว้ สำหรับบางคนอาจเปรียบเป็นอวัยวะชิ้นที่ 33 ได้ด้วยซ้ำ สมัยนี้ใคร ๆ ก็อยากออนไลน์อยู่ตลอด เอาง่าย ๆ แค่มองรอบ ๆ ตัวตอนนี้ดู ทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน ห้างสรรพสินค้า รถไฟฟ้า หรือแม้แต่บนรถเมล์ จะมีสักกี่คนที่ไม่ใช้งานสมาร์ทโฟนบ้าง
ในแง่ธุรกิจ แบรนด์เองก็ต้องพัฒนาเว็บไซต์ให้เป็น Mobile Responsive ด้วย โดยมีข้อมูลว่าเว็บไซต์ที่เป็น Mobile Optimized มีสถิติการเข้าชมจากนักช็อปออนไลน์มากกว่าเว็บไซต์ที่ไม่ได้ทำ มากถึง 160 % เพราะผู้คนชอบและสนุกกับการเข้าถึงเว็บไซต์ต่าง ๆ ได้ทุกที่ทุกเวลา ถ้าหากเว็บไซต์ของคุณไม่ Responsive นั่นแปลว่า คุณเสียลูกค้าที่จะเข้ามาในอนาคตอย่างแน่นอน หากแบรนด์ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากพอ คุณเตรียมใจไว้เลยว่าลูกค้ากว่า 14% จะไม่ทำธุรกิจร่วมกับแบรนด์ของคุณแน่ ๆ
ปัจจุบันมือถือทำอะไรได้มากกว่าแค่ส่งผ่านข้อมูลให้แก่ลูกค้า เราสามารถสั่งซื้อของพร้อมทั้งจ่ายเงินผ่านแอปได้เลย หลายคนคงเคยได้ยินผ่านหูกันมาบ้างกับ “Apple Pay” เป็นแอปพลิเคชันที่ Apple พัฒนาขึ้นเพื่อให้ลูกค้าสามารถพกกระเป๋าสตางค์ดิจิทัลติดตัวไปได้ทุกที่ เพียงกดปุ่มไม่กี่ครั้งก็ซื้อของได้ง่ายๆ ขณะที่ Apple Pay เป็นที่รู้จักและถูกใช้อย่างแพร่หลายในประเทศแถบตะวันตก คนฝั่งเอเชียรวมทั้งไทยอย่างเราก็ได้แต่คอยว่า เมื่อไหร่ที่ Apple Pay จะเข้ามาให้เราได้ใช้สักที
Talk to Me, Digital Assistances – คุยกับฉันสิ เราคือผู้ช่วยดิจิทัล
ผู้ช่วยดิจิทัล หรือ Digital Assistances เป็นอีกคุณสมบัติที่คาดว่าจะมาแรงในปี 2559 นี้ ผู้ใช้สมาร์ทโฟนทั้งหลายเช่น iPhone และ Nokia Lumia คงจะคุ้นเคยกับชื่อ Siri และ Cortana เป็นอย่างดี Digital Assistance ที่ว่านี้ทำงานเสมือนเป็น Search Engine บนมือถือ (โดยไม่ต้องไปพิมพ์คีย์เวิร์ดค้นหาสิ่งต่าง ๆ ในอุปกรณ์ค้นหาให้ยุ่งยาก) ผู้ช่วยดิจิทัลอย่าง Siri และ Cortana อาจเป็นอีกฟังก์ชั่นหลักที่ทำงานเข้ากันได้ดีกับ Hummingbird Algorithm ของ Google ซึ่งเป็นชุดคำสั่งหนึ่งที่ช่วยค้นหาจากคำถามหรือข้อสงสัยต่าง ๆ ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่ใช้ Digital Assistance ก็มักจะออกคำสั่งในรูปแบบ “คำถาม” มากกว่า เช่น “ร้านกาแฟที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่ไหน” ระบบก็จะเสนอคำตอบ พร้อมบอกเส้นทางที่ใกล้ที่สุด ขึ้นรถเมล์สายอะไร และแนะนำร้านอื่น ๆ เป็นตัวเลือกให้อีกด้วย เดี๋ยวนี้ไปเที่ยวไหนก็ไม่ต้องแบกแผนที่หรือคู่มือท่องเที่ยวให้พะรุงพะรังแล้ว แค่ใช้มือถือเครื่องเดียวแล้วถาม Digital Assistance เอา
ในอนาคตอันใกล้ Digital Assistance จะสามารถตอบสนองต่อคำสั่งที่มีคีย์เวิร์ดยาวระดับปานกลางจนถึงยาวมาก และจะถูกพัฒนาให้ฉลาดยิ่งขึ้น แม่นยำมากขึ้นจนสามารถระบุคำสั่งและให้คำตอบที่ผู้ใช้พอใจได้ ไม่นานมานี้ Google ได้ปล่อยแอปพลิเคชั่น Google App ออกมา ซึ่งช่วยค้นหาผลลัพธ์ที่ถูกต้องและมีคุณภาพให้แก่ผู้ใช้ได้เหมือนมีคนจริง ๆ มาเป็นผู้ช่วยเลยหล่ะ
Virtual Realities are Real – นี่แหละโลกเสมือนจริง!
ขณะที่คนส่วนใหญ่โฟกัสเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีให้เจริญก้าวไกล Virtual Reality กลับโฟกัสที่การนำเทคโนโลยีมาสร้างสรรค์สิ่งสวยงามแทน คนส่วนใหญ่อาจคิดว่า เราใช้ Virtual Reality เพื่อสนองความต้องการของเหล่าเกมเมอร์ที่ต้องการความเป็นส่วนตัวและอยากได้ประสบการณ์เล่นเกมส์แบบสมจริง แต่สำหรับนักการตลาด Virtual Reality อาจกลายเป็นคุณสมบัติสุดเจ๋งเลยก็ว่าได้ อย่างปีที่แล้ว Facebook เพิ่งได้เข้าซื้อบริษัทพัฒนาแว่นสามมิติ Oculus กว่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ แว่นนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของความแปลกใหม่สำหรับนักการตลาด Virtual Reality ที่อาจช่วยคุณสานสัมพันธ์อันดีกับลูกค้าของคุณ เช่น คุณอาจจะทักทายกับลูกค้าของคุณได้โดยไม่ต้องไปเคาะหน้าประตูบ้านหรือนัดเจอกันข้างนอก หรือหากลูกค้าของคุณมีปัญหาด้านสุขภาพและอยากปรึกษาคุณหมอแบบส่วนตัวสักหน่อย Virtual Reality ก็อาจเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยให้คุณหมอและคนไข้สามารถพูดคุยกัน แม้จะอยู่ที่บ้าน
อย่างไรก็ดี ก็ยังเร็วไปที่จะกำหนดว่า Virtual Reality จะสามารถช่วยนักการตลาดในแง่ใดได้บ้าง แต่ด้วยความที่โลกดิจิทัลพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ก็เป็นไปได้มากที่จะมีการต่อยอดไอเดียเพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในอนาคต
Wearable Technology is a Fashion Statement – ไฮเทคแค่ไหน ใส่แล้วต้องสวยด้วย
ข้อสุดท้ายนี้ ไม่พูดถึง Wearable Technology คงไม่ได้ คำนิยามของ Wearable Technology คืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกออกแบบให้สามารถพกพาหรือสวมใส่บนร่างกายได้นั่นเอง ตัวอย่างเช่น สมาร์ทวอทช์ (Smartwatch) ที่วางขายตามท้องตลอด ณ ขณะนี้สามารถส่ง Notification มาเตือนผู้ใช้ได้ด้วย (โดยการ Sync ข้อมูลจากบัญชีอีเมล์และปฏิทินของผู้ใช้) วัดระดับการเต้นของหัวใจและคอยเฝ้าระวังให้ ทั้งยังช่วยหาทิศทาง รองรับระบบ GPS และอีกมากมาย ผู้ที่บุกเบิกตลาดเทคโนโลยี Wearable คาดการณ์ไว้ว่า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ลักษณะนี้จะได้รับการยอมรับมากขึ้นในปี 2559 อีกราว 28% ดังนั้น บริษัทที่กำลังปรับแผนการตลาดหรือกำลังคิดค้นวิธีเข้าหาลูกค้า คุณต้องหาวิธีที่จะสื่อสารกับพวกเขาให้ได้ภายใน 2 วินาที
ในอนาคต อาจมีโอกาสที่ Wearable Technology จะขยายตลาด และสร้างสรรค์ออกมาในรูปแบบ Accessories อื่น ๆ เช่น สร้อยคอ ต่างหู แหวน หรืออาจปักลงบนเสื้อผ้าโดยตรง ทั้งยังกันน้ำ ทนทานต่อสภาพอากาศและการเสื่อมสภาพจากการสวมใส่อีกด้วย บางทีในอนาคต Wearable Technology อาจจะพัฒนาไปถึงขั้นที่สามารถช่วยชีวิตผู้ใช้งานได้เลยก็เป็นได้
ปี 2559 นับเป็นปีที่เทคโนโลยีจะก้าวกระโดดไปอีกขั้น มีหลายสิ่งให้เราต้องค้นหาในปี 2559 ด้วยความก้าวหน้าด้านอุปกรณ์แกดเจ็ตและความคิดสร้างสรรค์จากบรรดานักบุกเบิกอุตสาหกรรมเฉพาะด้าน เหล่านักการตลาดดิจิทัลมีช่องทางมากมายที่สามารถติดต่อสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายของตน อย่างที่รู้กันเทคโนโลยีไม่เคยหยุดนิ่ง สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาเพื่อตอบสนองและรองรับความต้องการของเหล่าผู้ชมที่หลงใหลในเทคโนโลยี
บทความแปล-เขียนโดย นางสาวนริสา เพิงมาก – Content Project Manager ที่ Syndacast ดิจิทัล เอเจนซี่ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดออนไลน์ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในเอเชีย
แหล่งข้อมูล:
http://digitalmarketingmagazine.co.uk/digital-marketing-features/digital-marketing-trends-to-watch-in-2016/2749
http://www.zestdigital.com/top-digital-marketing-trends-for-2016/
http://www.zestdigital.com/what-you-need-to-know-about-video-on-social-media/
http://www.forbes.com/sites/jaysondemers/2015/09/29/the-top-7-online-marketing-trends-that-will-dominate-2016/
http://localvox.com/blog/2016-digital-marketing-trends/
บทความนี้เป็น Advertorial