Site icon Thumbsup

GSMA ชี้ Mobile Economy สร้างงานให้ APAC 16 ล้านตำแหน่ง รายได้ภาษีรวม 1.66 แสนล้านดอลล์

งานวิจัยล่าสุดของสมาคม GSM หรือ GSMA ในชื่อ The Mobile Economy: Asia Pacific 2017” ชี้ตลาดในเอเชียกำลังเร่งพัฒนาเทคโนโลยีมือถือ 5G เพื่อนำมาใช้ในเขตชุมชนเมืองที่มีผู้คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น โดยคาดว่าภายในสิ้นปี 2020 จะมีจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือรายใหม่เพิ่มขึ้นถึงราว 753 ล้านรายทั่วโลก และ 27% หรือ 206 ล้านรายจะอยู่ในตลาดอินเดียขณะที่อีก 21% หรือ 155 ล้านรายอยู่ในตลาดจีน ส่งผลให้มูลค่าตลาดการสื่อสารเคลื่อนที่ในเอเชียแปซิฟิกสูงถึง 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 5.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของทั้งภูมิภาค

“อุตสาหกรรมมือถือในภูมิภาคเอเชียจะเป็นกลไกสำคัญในการขยายจำนวนผู้ใช้บริการทั่วโลกตลอดช่วงปีที่เหลือของทศวรรษนี้ โดยมีอินเดียและจีนเป็นหัวเรือใหญ่ และจะสามารถสร้างการสื่อสารเพื่อเชื่อมต่อลูกค้ารายใหม่ ๆ จำนวนกว่า 500 ล้านรายทั่วภูมิภาคได้ภายในปี 2020” นายแมตส์ แกรนรีด ผู้อำนวยการทั่วไปของสมาคมจีเอสเอ็มกล่าว พร้อมคาดการณ์ว่าผู้ให้บริการชั้นนำในเอเชียจะกลายเป็นกลุ่มแรกๆ ของโลกที่จะเปิดให้ใช้เครือข่าย 5G ในเชิงพาณิชย์ได้ก่อนสิ้นสุดทศวรรษนี้

นอกจากนั้น ตัวเลขของ Unique Mobile Subscribers ของทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกคาดว่าจะเพิ่มจำนวนจาก 2.7 พันล้านราย ณ สิ้นปี 2016 มาเป็น 3.1 พันล้านรายในปี 2020 หรือเท่ากับสองในสามของการขยายตัวทั่วโลกด้วย

ทั้งนี้ เมื่อดูจาก 5 อันดับต้นของประเทศที่มีสัดส่วนผู้ใช้มือถือสูงที่สุดในโลก จะเห็นได้ว่าเป็นประเทศในเอเชียอยู่ถึง 4 ประเทศ ได้แก่ ฮ่องกง ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และไต้หวัน แต่ในขณะเดียวกัน เอเชียก็มีประเทศที่การเข้าถึงของมือถือต่ำสุดด้วยเช่นกัน อาทิ เกาหลีเหนือ

โดยตลาดเทคโนโลยีและบริการการสื่อสารเคลื่อนที่ก่อให้เกิดรายได้ทางเศรษฐกิจมูลค่าสูงถึง 1.3 ล้านล้านเหรียญ (ประมาณ 44.1 ล้านล้านบาท) ในเอเชียแปซิฟิกเมื่อปีที่ผ่านมา เทียบเท่าร้อยละ 5.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวม ของภูมิภาค และเป็นที่คาดการณ์ว่าตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.6 ล้านล้านเหรียญ (ประมาณ 54.3 ล้านล้านบาท)  ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 5.4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวม ในปี 2020

สำหรับในปี 2016 ที่ผ่านมา ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบสัญญาณเคลื่อนที่ในภูมิภาคเอเชียสามารถสร้างงานได้ถึงราว 16 ล้านตำแหน่ง ทั้งทางตรงและทางอ้อม และมีส่วนช่วยอย่างมหาศาลในการระดมทุนให้กับภาครัฐ และมีการประเมินว่าภาคส่วนนี้มอบความช่วยเหลือทางการเงินแก่ภาครัฐในรูปของภาษีที่จ่ายให้กับรัฐบาลเป็นมูลค่าสูงถึงราว 1.66 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 5.6 ล้านล้านบาท) ในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ในส่วนนี้รายงานดังกล่าวไม่มีการชี้แจงว่าเป็นภาษีที่จ่ายให้กับรัฐบาลประเทศใด และเป็นจำนวนเท่าใดเอาไว้ให้ทราบ เป็นเพียงตัวเลขโดยรวมของทั้งภูมิภาคเท่านั้น

“ระบบนิเวศของอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ในเอเชียมีวิวัฒนาการที่รวดเร็ว ก่อให้เกิดบริการ และการใช้งานรูปแบบใหม่ๆ ที่จะพลิกรูปแบบการใช้ชีวิต การทำงาน การเล่น และการสื่อสาร ของผู้คนที่แตกต่างหลากหลายในภูมิภาคนี้” นายแมตส์ แกรนรีด กล่าวเพิ่มเติมว่า “การที่เราจะใช้ระบบสัญญาณเคลื่อนที่เป็นพลังขับเคลื่อนให้เกิดมูลค่าที่เด่นชัดทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมได้อย่างเต็มที่นั้น เราต้องขอให้ทางรัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายทั้งหลายให้ความร่วมมือกับอุตสาหกรรมระบบสัญญาณเคลื่อนที่ เพื่อร่วมกันพัฒนาระบบนิเวศดิจิทัลที่ก้าวล้ำและแข็งแกร่ง บนพื้นฐานของกรอบแนวทางข้อกำหนดที่เอื้อต่อการพัฒนาในอนาคต”

จะเห็นได้ว่า อุตสาหกรรมมือถือของภูมิภาคนี้มีส่วนช่วยต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและสังคมในเอเชียอย่างมาก การเพิ่มขึ้นของจำนวนสมาร์ทโฟนและการใช้อินเตอร์เน็ตบนมือถือที่เพิ่มขึ้น ราคาที่เข้าถึงได้ง่าย และมีเนื้อหาที่สอดคล้องกับบริบทท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น จึงก่อให้เกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็วของบริการบนมือถือต่าง ๆ อาทิ วีดีโอ โซเชียลมีเดีย อีคอมเมิร์ซ และบริการทางการเงินในรูปแบบต่าง ๆ การเจาะตลาดอินเตอร์เน็ตบนมือถือในเอเชียแปซิฟิกได้เพิ่มทวีคูณในช่วงห้าปีที่ผ่านมา โดยสามารถเข้าถึงประชากรในพื้นที่ได้เกือบครึ่งของทั้งภูมิภาคเมื่อสิ้นปี 2016

สำหรับท่านที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้ที่นี่ www.gsma.com/mobileeconomy/asiapacific/