Site icon Thumbsup

เล่าเรื่องเบื้องหลัง 4 ธุรกิจระดับโลก ที่จะปลุกไฟในตัวคุณ

Guy Kawasaki เคยกล่าวว่า​ “การคิดเป็นเรื่องง่าย การลงมือทำนั้นยากกว่า” การสร้างธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ คุณต้องมีทั้งความอดทน พยายาม และจิตวิญญาณของนักสู้ นี่คือเหตุผลว่าทำไมสตาร์ทอัปเกือบ 90% จึงประสบความล้มเหลว

ใน Silicon Valley เจ้าของธุรกิจจะไม่จมอยู่กับความล้มเหลว ตรงกันข้าม พวกเขาแทบจะเฉลิมฉลองด้วยซ้ำ เมื่อก้าวพลาด

ต่างจากโลกตะวันออกของเรา ที่มักจะเก็บสิ่งเหล่านี้มาเป็นแรงกดดัน ทำให้หลายๆ คนไม่กล้าลุกขึ้นสู้ ความล้มเหลวที่นักธุรกิจในโลกตะวันตกเจอ อาจจะทำให้เขาได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากขึ้น เมื่อเริ่มต้นธุรกิจใหม่ เพราะนักลงทุนจะรู้สึกว่าเจ้าของธุรกิจเหล่านี้ได้รับบทเรียนจากความผิดพลาดแล้ว และเขาจะต้องแข็งแกร่งขึ้นอย่างแน่นอน

ลองมาอ่านจุดเริ่มต้นของธุรกิจดังๆ ในตอนนี้ ที่อาจจะดูไม่เข้าท่าในตอนแรก แต่มันก็ไปได้สวย ว่ากันว่าการอ่านเรื่องราวแบบนี้จะปลุกจิตวิญญาณนักสู้ในตัวเราได้

Angry Birds

ช่วงต้นปี 2000 คนคลั่งเกมกลุ่มหนึ่งในฟินแลนด์ตัดสินใจที่จะเปลี่ยนความหลงใหลของพวกเขาให้กลายเป็นวิดีโอเกม พวกเขาสร้างเกมกันแบบวันต่อวัน มีความหวังว่า อย่างน้อยที่สุดก็คงต้องมีสักเกมที่ฮิตติดลมบน

เวลาผ่านไป 6 ปี กับจำนวนผลงานรวมทั้งสิ้น 51 เกม ไม่มีเกมไหนเลยที่จะทำให้ผู้คนชื่นชอบ เหมือนเป็น 6 ปีที่สูญเปล่า แต่ในที่สุด เกมที่ 52 ก็ตอบแทนความอดทนและความพยายามของพวกเขาอย่างคุ้มค่า

มันมีชื่อว่า Angry Birds เกมที่ได้รับความนิยมสูงสุดในระยะเวลาหนึ่ง ประชากรโลกนับพันล้านคนสนุกไปกับมัน แน่นอนว่าพวกเขาสร้างประวัติศาสตร์ได้สำเร็จ

YouTube

Steven Chen หนึ่งในพนักงานรุ่นแรกๆ ของ Facebook ตัดสินใจลาออก หลังจากเข้าไปร่วมงานได้ไม่กี่สัปดาห์ เพราะเขารู้ตัวว่ามันไม่ใช่ที่สำหรับเขา

Chen อยากจะเริ่มธุรกิจของตัวเอง โดยที่เขามีภาพในหัวว่ามันต้องเป็นพื้นที่สำหรับวิดีโอ ซึ่ง Matt Cohler คนที่เลือกเขาเข้ามาทำงานใน Facebook ไม่ยอมซื้อไอเดียนี้ ซ้ำยังพยายามเปลี่ยนใจเขาอีกต่างหาก โดย Cohler บอกว่า Chen ตัดสินใจได้แย่มาก หากคิดที่จะลาออก

“Facebook จะต้องยิ่งใหญ่มาก และมันก็มีเว็บไซต์วิดีโอจำนวนมากในท้องตลาด ถ้าคุณลาออก คุณจะต้องเสียใจไปตลอดชีวิต” นั่นคือสิ่งที่ Cohler พูดกับเขา

โชคดีที่ Chen แน่วแน่กับการตัดสินใจในครั้งนี้ เขาเริ่มทำ YouTube ของตัวเอง และ Google ก็ตัดสินใจเข้าซื้อกิจการในปี 2006 ด้วยเงินราวๆ 5 หมื่นล้านบาท

Lamborghini

เกษตรกรและช่างซ่อมเครื่องยนต์ชาวอิตาเลียนชื่อ Ferruccio เขาเป็นเจ้าของโรงงานรถแทรกเตอร์ ธุรกิจไปได้สวย และเขากลายเป็นหนึ่งในคนที่รวยที่สุดในประเทศ

Ferruccio ซื้อรถเฟอร์รารี่มาใช้ แล้วเขาก็พบปัญหาบางอย่าง หลังจากพยายามซ่อมด้วยตัวเอง มหาเศรษฐีอิตาเลียนรายนี้ก็เลยรู้สึกว่าเฟอร์รารี่ใช้ระบบคลัชท์ที่คุณภาพต่ำ เมื่อเทียบกับรถแทรกเตอร์ของเขา

ตามประสาคนรวยมากๆ เขาแก้ปัญหาด้วยการไปคอมเพลนกับเจ้าของบริษัทเฟอร์รารี่โดยตรง ผลที่ได้คือ เจออีกฝ่ายตอกกลับมาว่า Ferruccio เป็นคนทำการเกษตร และปัญหาก็อยู่ที่ตัวเขานั่นแหละ ไม่ใช่รถ!

และก็เป็นการแก้แค้นแบบคนรวยอีกเช่นกัน Ferruccio ตัดสินใจที่จะสร้างรถยนต์ที่มีคุณภาพดีกว่า เพื่อที่จะเอาชนะเฟอร์รารี่ และความพยายามของเขาก็เป็นผลสำเร็จ รถของ Ferruccio เป็นรถที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลกอีกแบรนด์หนึ่ง และทำรายได้ทิ้งห่างเฟอร์รารี่ โดยที่เขาใช้นามสกุลของตัวเองมาตั้งเป็นชื่อแบรนด์ มันคือคำว่า Lamborghini

Honda

Soichiro Honda ทำงานเป็นช่างเครื่องในอู่ซ่อมรถ เขามีหน้าที่ปรับจูนและเตรียมเครื่องยนต์ให้พร้อมสำหรับการแข่งขัน ในปี 1937 เขาเริ่มต้นธุรกิจผลิตวงแหวนลูกสูบ และได้รับการคัดเลือกให้เป็นซัพพลายเออร์ทำลูกสูบให้กับรถยนต์ของโตโยต้า ความดราม่าบังเกิดเมื่อโตโยต้าตัดสินใจยกเลิกสัญญา เหตุผลคือลูกสูบของเขามีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน

หลังจากถูกยกเลิกสัญญา เขาไม่ยอมแพ้ แต่เลือกที่จะปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยเขาเดินทางไปทั่วญี่ปุ่นเพื่อขอเยี่ยมชมโรงงานหลายแห่ง นั่นคือที่มาของสูตรสำเร็จในการควบคุมคุณภาพของ Honda และเขาก็ได้รับเลือกให้เป็นซัพพลายเออร์อีกครั้ง

หลังจากนั้น โตโยต้าก็เข้ามาถือหุ้น 40% ในบริษัทของ Honda

มรสุมชีวิตของเขายังไม่จบ เพราะต่อมาอีกไม่นาน โรงงานแห่งหนึ่งของ Honda ก็ถูกโจมตีด้วยระเบิดจากกองทัพสหรัฐฯ และแผ่นดินไหว

ดังนั้น เขาจึงขายหุ้นที่เหลือทั้งหมดให้กับโตโยต้า และใช้เงินทุนที่ได้มาไปกับการก่อตั้งสถาบันวิจัยทางเทคนิคของ Honda ในเดือนตุลาคม 1946

และมันก็กลายเป็นหนึ่งในบริษัทยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ที่มา : e27