คุณสายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา ได้พูดถึงวงการบันเทิงไทยกับ thumbsup เอาไว้ว่าเป็นวงการที่มีเอกลักษณ์และ “มีความทำอะไรคือไทยแท้ ” อยู่ ซึ่งในปี 2018 ที่ผ่านมาก็มีความเคลื่อนไหวอันน่าสนใจมากมายในวงการหนัง ละครไทย เพลง วิทยุ รวมไปถึงสิ่งพิมพ์ เราจึงลองสรุปภาพรวมพร้อมทั้งเหตุการณ์สำคัญต่างๆ เอาไว้ในบทความนี้ให้ลองอ่านกันค่ะ
แน่นอนว่าวงการบันเทิงคืออีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่มีเม็ดเงินไหลเวียนอยู่มหาศาล โดยในแต่ละสื่อต่างก็แย่งชิงรายได้ด้วยกลยุทธ์หลากหลาย โดยมีปรากฎการณ์เด่นๆ ที่น่าจับตามองอยู่หลายเรื่องเลยทีเดียว
3 ปรากฎการณ์เด่นวงการบันเทิงไทย
“บุพเพสันนิวาส” กวาดรายได้ทะลุเป้า
ละครไทยแนวย้อนยุคอิงประวัติศาสตร์สมัยยุคสมัยพระนารายณ์ ซึ่งสร้างคำพูดติดปากอย่าง “ออเจ้า” ไปทั่วทั้งเมือง และทำให้ชุดไทยขายดิบขายดีในช่วงที่กระแสของละครกำลังมา
ความสนุกและความน่ารักของพระนางทำให้มีเรตติ้งขึ้นแท่นมาเป็นอันดับ 1 ของละครไทย โดยมีเรตติ้งเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ 8.0
และอีกหนึ่งเหตุผลที่เรายกให้ละครไทยเรื่องนี้เป็นหนึ่งปรากฎการณ์บันเทิงที่สำคัญ นั่นเพราะทำรายได้รวมไปประมาณ 500 ล้านบาท โดยมาจากทั้งค่าโฆษณาและหลายๆ ส่วนรวมกัน
รายได้จากค่าโฆษณา
มีค่าโฆษณาสูงถึง 270 ล้านบาท โดยมาจากค่าโฆษณาช่วงไพรม์ไทม์ของช่อง 3 ที่ประมาณไว้ 480,000บาท/นาที มีการออกอากาศทั้งหมด 18ตอน (รวมตอนพิเศษ) และโฆษณาเฉลี่ยตอนละ 31.25 นาที
รายได้อื่นๆ
- LINE Sticker
- สินค้า Limited จากละคร
- งานอีเวนต์
ดารานําคว้าพรีเซ็นเตอร์
ทางด้านดารานำอย่าง เบลล ราณี ก็มีงานโฆษณามากมายหลายตัวที่เข้าต่อจากกระแสละครจบไม่ว่าจะเป็น AIS, SCB, เมืองไทยประกันชีวิต, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), 7-Eleven เป็นต้น ส่วนโป๊ป ธนวรรธน์ ก็ไม่น้อยหน้าเพราะมีงานโฆษณาจากกลุ่ม TRUE, เครื่องสำอางค์ BSC, Betagro, Air Asia, Cathy Doll, 7-Eleven และอีกมากมาย
BNK48 ทำรายได้แบบไม่ต้องเสี่ยงทาย
วงไอดอลน้องสาวของ AKB48 จากประเทศญี่ปุ่น ที่มีความน่ารักสดใสของสมาชิกแต่ละคนเป็นจุดเด่น จนสามารถคว้าหัวใจของเหล่า “โอตะ” หรือแฟนคลับ ไปพร้อมทั้งรายได้ไปไม่น้อย โดยจิรัฐ บวรวัฒนะ ประธานบริษัท BNK48 Office เคยให้สัมภาษณ์ว่า บริษัทลงทุนเป็นจำนวนเงิน 200 ล้านบาท ภายในปี 2560 และ 2561 และตั้งเป้าว่าจะต้องคืนทุนได้ในภายปี 2562
สำหรับโครงของบริษัทนั้นแบ่งเป็น 2 ส่วน และมีผู้ถือหุ้นแตกต่างกัน โดยประเมินกันว่าปัจจุบันวงมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 520.7 ล้านบาท
BNK48 Office
- Rose Media Entertainment 55%,
- Plan B Media 35%
- AKS 10%
(ผลิตสินค้า ดูแล และจัดการวง)
BNK Production
- Workpoint 50%
- BNK48 Office 49.99
- จิรัฐ บวรวัฒนะ 0.01%
(ผลิตรายการโทรทัศน์ รายการออนไลน์ ธุรกิจจัดอีเวนท์ และคอนเสิร์ต)
รายได้หลักมาจาก
- ขาย Sponsorship ให้แบรนด์สินค้า
- ขายสินค้า Official
- ขายบัตรคอนเสิร์ต
- เงินทุนจากบริษัทคูลเจแปน (สนับสนุนเงินทุนให้ AKB48 ด้วย)
ด้วยความสำเร็จอย่างงดงามของ BNK48 จึงไม่แปลกที่มีงานพรีเซ็นเตอร์สินค้าต่างๆ เข้ามามากมาย เช่น TruePoint, Fujifilm, A.P. Honda Racing, Jele Beautie, Yayoi, Lactasoy ฯลฯ
นาคี 2 ต่อยอดความสำเร็จจากละคร
ภาพยนต์ไทยที่ต่อยอดจากความสำเร็จของละครเรื่อง นาคี ที่เคยออกอากาศทางช่อง 3 เมื่อ พ.ศ. 2559 โดย พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง ผู้กำกับของละครเรื่องนี้เล็งเห็นว่าสามารถเติบโตไปได้มากกว่านี้ ดังนั้นจึงตัดสินใจนำโครงเรื่องมาเรียบเรียงบทใหม่ทั้งหมด และนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เพื่อออกฉายใน พ.ศ. 2561
รายได้เปิดตัวสูงเป็นอันดับ 1
- วันแรกกวาดรายได้ไป 17.77 ล้านบาท (ทำสถิติเป็นภาพยนต์รายได้เปิดตัวสูงที่สุดอันดับ 1 ในปี พ.ศ. 2561)
- รายได้รวม 5 วันแรก 73.54 ล้านบาท
- รายได้สัปดาห์แรก 120.06 ล้านบาท
- รวมรายได้ทั่วประเทศอยู่ที่ 441.2 ล้านบาท
“สื่อทีวี” และ “ดิจิตอลทีวี” ทำยังไงก็ไปไม่ถึงดวงดาว
หากติดตามวงการบันเทิงไทยมาอย่างต่อเนื่อง จะพบว่ามีความพยายามเปลี่ยนจาก “ยุคอนาล็อกทีวี” แบบดั้งเดิมไปเป็น “ดิจิทัลทีวี” แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าที่วางไว้จากหลายๆ ปัจจัยด้วยกัน จนทำให้หลายเจ้าที่เข้าประมูลดิจิตอลทีวีต่างต้องกลับมารักษาแผล ด้วยการปรับตัวลดค่าโฆษณาลง หรือรายการทีวีบางเจ้าที่ไปไม่ไหวก็ต้องมีหลุดผัง หรือย้ายช่องไปเลย
รายการทีวีที่หลุดผังในปี2018
- ร้องแลกไข่
- เกมพันหน้า
- จันทร์พันดาว
- ที่นี่หมอชิต
- ฮัลโหลซุปตาร์
- ดันดารา
- ดาวกระจาย
- Money Channel (หยุดออกอากาศในปี 2562)
รายการทีวีย้ายช่องในปี2018
- The Face Thailand
- The Voice Thailand
- Thailand’s Got Talent 2018
- ถ่ายทอดสดการประกวด Miss Universe
- กิ๊ก ดู๋ สงครามเงาเสียง
โดยรายการข้างต้นย้ายไปลงที่ช่อง PPTV
วิกฤติของสื่อทีวีไทย
“สื่อสิ่งพิมพ์” ที่ในตอนนี้มีแต่ทรงกับทรุด
นอกจากนั้น “สื่อสิ่งพิมพ์” ก็ต่างปิดตัวกันไปหลายเจ้า เนื่องจากไม่สามารถแบกรับต้นทุนของสิ่งพิมพ์ที่สูงขึ้นได้ จนมีนิตยสารชื่อดังหลายหัวที่หายไปจากแผงหนังสือไปอย่างน่าเสียดายไม่ว่าจะเป็น Starpics, Student Weekly, Secret, Maxim, Attitude
วิกฤติของสื่อสิ่งพิมพ์ไทย
หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ที่อยู่คู่คนไทยมานานอย่าง “ไทยรัฐ” ก็ถึงคราวต้องปรับเปลี่ยนองค์กรครั้งใหญ่ เพราะมีการออก “โครงการลาออกด้วยความสมัครใจ โดยได้รับความช่วยเหลือ” เพราะไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายในยุคที่มีความเปลี่ยนแปลงไหว
“สื่อออนไลน์” บูมแทนที่ “สื่อเดิม”
ปี 2018 ยังเป็นปีที่ “สื่อออนไลน์” ค่อยๆ เติบโตขึ้นมาแทนที่สื่อดั้งเดิม เพราะมีจุดเด่นเรื่องต้นทุนและการเสนอคอนเทนต์ด้วยความรวดเร็ว และเข้ากับไลฟ์สไตล์ในการใช้สมาร์ทโฟนของคนไทย และสามารถทำเงินได้จากค่าโฆษณาที่หลายๆ แบรนด์ที่เปลี่ยนมาลงในสื่อออนไลน์แทน เช่น MangoZero, The Cloud, The Standard, The Matter ฯลฯ
“สื่อวิทยุ” ปรับตัวใหม่ให้สดใสรับไลฟ์สไตล์ผู้ฟัง
- Atime คลื่นวิทยุในเครือของแกรมมี่มีการปรับแบรนด์ให้ดูทันสมัยขึ้น และมีรูปแบบรายการคล้ายรายการทอล์กโชว์ ดึงดูดกลุ่มคนฟังที่เป็นคนรุ่นใหม่
-
BEC Tero Radio มีการแยกทางกับ “Virgin Group” แบรนด์วิทยุจากอังกฤษ โดยเปลี่ยนจาก Virgin Hitz เป็นHITZ 955 และ Virgin Star FM ไปเป็น STAR FM
ส่อง “สื่อเดิม” ที่ปรับตัวรับมือกับโลกปัจจุบันได้ดี
- Banlue Group ปรับตัวเองจากหนังสือการ์ตูนไทยเล่มบางที่เราคุ้นเคยกันดี ไปสู่สื่อออนไลน์เป็นเจ้าแรกๆ แบบไม่รอให้ถึงความวิกฤติแล้วค่อยปรับตัว ทำให้ในปัจจุบันบันลือกรุ๊ปมีสื่อมากมายทั้ง The MATTER, Bunbooks, Salmon House, M.O.M ฯลฯ
- Mono Group เป็นสื่อที่ฝ่ากระแสและนำตัวเองไปนั่งในใจของคนดูได้ โดยช่อง Mono 29 มีการวางแผนคอนเทนต์อย่างดีด้วยการนำภาพยนต์ขวัญใจอย่าง Harry Potter มาฉายแบบติดกันรวดในช่วงที่ Fantastic Beats กำลังจะเข้าฉาย และการเสนอข่าว “ถ้ำหลวง” แบบรวดเร็ว ฉับไว ถึงที่ของ MThai
- RS จากธุรกิจเพลงกลายมาเจ้าของช่อง 8 แต่วันนี้ได้ยื่นเรื่องต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อย้ายหมวดบริษัทจาก “กลุ่มสื่อ” ไปเป็น “กลุ่มพาณิชย์” โดยเปลี่ยนมใาขายสินค้าในธุรกิจ “สุขภาพและความงาม” ผ่านแบรนด์ “ไลฟ์ สตาร์” ผ่านทางรายการต่างๆ ที่ตัวเองมีในมือ
- Workpoint เน้นการทำข่าวสั้นสรุปข่าวแบบเข้าใจง่าย และดึงความน่าสนใจด้วยภาพ ข้อความสั้นๆ ทำให้ Workpoint News มียอดไลค์เพจกว่า 2 ล้าน นอกจากนั้นยังได้สิทธิ์ผลิตรายการให้ Facebook และ Confetti Thailand ด้วย
มองรายได้อนาคตสื่อไทย
PwC คาดว่ามูลค่าการใช้จ่ายผ่านอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงของไทยปี 2565 อาจไปถึง 4.8 แสนล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีในช่วง 5 ปีข้างหน้า (2561-2565) อยู่ที่ 6.5%
ซึ่งโฆษณาออนไลน์จะเป็นตลาดที่เติบโตมากที่สุด รวมไปถึงสื่อใหม่ๆ อย่าง Game-eSport, VDO on Demand ที่จะกลายมาเป็นแหล่งรายได้หลักอันดับต้นๆ ของอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงไทยในอนาคต และสวนทางกับสื่อดั้งเดิมกำลังเผชิญกับแนวโน้มรายได้ที่ถดถอยลงไป
นอกจากนั้น thumbsup ยังได้สอบถามมุมมองจากสื่อบันเทิงออนไลน์ ที่มีการติดตามข่าวสารในอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องด้วย
คิดว่าภาพรวมบันเทิงไทยปี 2018 จะเป็นอย่างไร?
เพจ “ดาราปัง หนังเปรี้ยง” :
ภาพรวมธุรกิจสื่อในไทยของปี 2018 เกิดการเปลี่ยนแปลงแพลตฟอร์มมาอยู่บนออนไลน์ทั้งหมด ทุกที่มีช่องทางออนไลน์เป็นของตัวเองเกือบทั้งหมด หรือมีสื่อโซเชียลของตัวเอง เพื่อนำเสนอคอนเท้นต์ของตัวเอง ถ้าชัดเจนสุดคือสื่อโทรทัศน์ หนัง ละคร ที่แต่ละช่องเริ่มมีเว็บ Streaming เป็นของตัวเอง ทั้งย้อนหลังและ Original Content ลงเว็บตัวเอง
รวมถึงการไปร่วมกับ Streaming เจ้าใหญ่ๆ อาทิ LineTV, Vui หรือ Netflix, ส่วนเพลงก็มีความทำน้อยได้มาก และอิสระมากขึ้น จนเพลงไทยเริ่มไปไกลถึงต่างประเทศก็เพราะออนไลน์ แทบไม่เห็นใครทำอัลบั้มแล้ว ทำเป็น Single แล้วปล่อยออนไลน์เกือบทั้งหมด และเห็นการทำเพลงกันเองมากขึ้นกว่าแต่ก่อน
การเคลื่อนไหวทางโลกออนไลน์เลย ทั้งข่าวกระแสต่างๆ ไปไวมาก ข่าวดารามาแรงมากๆตั้งแต่ต้นปี ยันท้ายปี มี hashtag เกิดใหม่เพียบ และข่าวบันเทิงสมัยนี้ไม่ได้มาจากแหล่งข่าวหรือปาปารัสซี่อีกต่อไปแล้ว แต่นักข่าวบันเทิง จับเหตุการณ์บนโซเชี่ยลแอคเค้าท์ของดารา เพื่อนำมาเขียนข่าวแทน เช่นงานแต่ง ข่าวคบ ข่าวเลิก เกาเหลากัน คลิปสัมภาษณ์ คลิปหลุด รูปหลุด ล้วนเกิดบนโลกออนไลน์หมดเลย ซึ่งมีทั้งข่าวจริง และปั่นเอากระแส
สิ่งที่น่าตื่นเต้นของวงการบันเทิงไทยปี 2018 คือการที่ดาราย้ายค่าย ย้ายช่อง รวมถึงนักแสดงอิสระมากขึ้น และดาราเริ่มผลิตและสร้างสรรค์รายการของตัวเองในสื่อออนไลน์ เพื่อเป็นช่องทางโปรโมทตัวเองและขายโฆษณา ดารา นักแสดงในไทยเริ่มยึดติดกับช่องน้อยลงแล้ว ในขณะที่สื่อทีวีก็ถดถอยแล้วหันมาจับออนไลน์กันหมด อาทิ ช่อง 3 มี Mello, ช่อง 7 มี bugaboo, ช่อง Workpoint และ One มี Youtube หลายล้านซับ, Mono29 มี Monomax, ช่อง GMMTV มีป้อนคอนเท้นต์ลง LineTV และ Netflix
และด้วยความที่ออนไลน์ ซึ่งเป็นช่องทางที่คนดูเลือกดูมากที่สุด คุณภาพของละคร/ซีรี่ส์ เลยดีขึ้นมากๆ ไม่มีอีกแล้วเสือกระดาษ มีแต่เสือสมจริง นาคีตัวใหญ่ยักษ์จนกลายเป็นหนังฟอร์มใหญ่ในโรงได้ไม่มีพลอตไม่จำเจอีกต่อไป ไม่มีอีกแล้วดาราวัยรุ่นเล่นเป็นพ่อแม่ จนเกิดการคัมแบ็คของดารารุ่นใหญ่ๆมากขึ้น เพื่อความสมบทบาทมากกว่าที่ละครเคยเป็นมา
เราจะได้เห็นอะไรในปี 2019 ของอุตสาหกรรมบันเทิงไทย
เพจ “ทีวีไทยเล่นใหญ่ไปไหน” :
ภาพรวมสื่อปีหน้า คิดว่าจะมาทางการโปรโมทผ่านสื่อโซเชียล สื่อออนไลน์ สำนักข่าวต่างๆ มากขึ้น ส่วนข้อมูลจะเป็นแบบกระแสมาเร็วไปไว แต่คิดว่าจะมีคอนเทนต์ที่จริงจังมากกว่าปีที่ผ่านมานะ เพราะว่าคนเริ่มมองหาเนื้อแท้ที่มันชัดเจนกว่ากระแสในช่วงแรกที่เราเห่อโซเชียลกันแล้วอ่ะ ถึงเวลาสื่อออนไลน์ต้องจับคอร์ที่แท้ทรูแล้ว
ด้านการเปลี่ยนแปลงที่จะมาถึงปีนี้จนถึงปีหน้า ก็จะเป็นการขยับขยายปรับคอนเทนต์ต่างๆ ของพวกช่องหลัก เพราะหัวเรือใหญ่ดูท่าว่าจะเบนเข็มออกไปจากช่อง 3 ช่อง 7
ส่วนกลยุทธ์ของ PPTV ก็น่าจับตามาก เพราะถึงเวลาที่ผู้ผลิตรายการ กับทางช่องต้องช่วยกันหาโฆษณาเข้าช่องแล้ว ซึ่งการช่วยกันแบ่งรายได้จากโฆษณา ลดต้นทุนการเช่าพื้น ทำให้ทุกฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันต่อไปอย่างมีความสุขได้ ในปีหน้าก็ลุ้นว่า PPTV จะขึ้นมาเป็นแกนนำหลักในวงการได้แล้ว ประกอบกับการได้ผู้บริหารอย่าง ได้ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ มาคุมทีมบริหารใหม่
“ทางรอด” ของสื่อไทยในวันที่ถูกเทคโนโลยี Disrupt
พี่ฉอด สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา ผู้บริหารบริษัท Change2561 ได้พูดถึงเรื่องการถูก Disrupt ของคนทำสื่อในยุคปัจจุบันว่าวันนี้อาจจมีแพลตฟอร์มต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย แต่ก็ยังมองภาพว่า “แพลตฟอร์มคือแพลต์ฟอร์ม” และ “คอนเทนต์คือคอนเทนต์” ดังนั้นในมุมคนทำคอนเทนต์ไม่ว่าจะดูจากแพลต์ฟอร์มไหนใดๆ ก็ตาม นั้นควรแค่ทำคอนเทนต์ให้ดีและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ชม สิ่งเหล่านี้จะทำให้มีโอกาสที่กำลังจะเติบโตอยู่
ในมุมมองของเราก็เห็นด้วยกับพี่ฉอด-สายทิพย์ ในด้านการทำคอนเทนต์ออกมาให้ดีที่สุด เพราะ “เนื้อหา” คือหัวใจสำคัญของการทำสื่อ และคงต้องจับตามองต่อไปในปี 2562 ที่น่าจะมีเรื่องของการทำคอนเทนต์ออกมาแข่งขันกันในสมรภูมิออนไลน์อันดุเดือด ซึ่งไม่แน่ว่าสื่อที่เราเสพอยู่ทุกวันนี้อาจจะหายไปในปีหน้าที่จะถึงนี้ก็ได้
ข้อมูลจาก :