หลังมีกระแสบอกลาแบรนด์ผ่านหน้าแฟนเพจมานับสัปดาห์ สำหรับ Thoth Zocial Obvoc ผู้ให้บริการด้านเครื่องมือและบริการวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับภาคธุรกิจ ก็ได้ประกาศรีแบรนด์ใหม่เป็น WISESIGHT เพื่อเดินหน้าธุรกิจด้านการวิเคราะห์ข้อมูลที่ไม่ใช่แค่เฉพาะในไทย แต่จะใช้มาเลเซียเป็นฐานในการขยายสู่ตลาดAPAC ขณะที่ไทยยังคงเป็น Head Office เช่นเดิม
โดยการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ กล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวซ์ไซท์ จำกัด เล่าว่า การรีแบนด์ดิ้งในครั้งนี้ คือการลาออกจากแบรนด์เก่า เพราะชื่อเดิม Thoth Zocial Obvoc นั้นยาวไป ก็เลยมองหาชื่อใหม่ ที่น่าจะช่วยสื่อภาพธุรกิจใหม่ให้ชัดเจนกว่าเดิม
“ชื่อ WISESIGHT นั้น ไม่ได้ใหม่ เพราะเราใช้ชื่อนี้ในต่างประเทศมา 1 ปีแล้ว และเพื่อขยายธุรกิจไปต่อใน APAC จึงสรุปกันว่าจะใช้ชื่อเดียวกัน โดยภาพลักษณ์และทิศทางการบริหารนั้น จะสื่อความหมายถึงการมองเห็นข้อมูลอย่างชาญฉลาด กล้าหาญและรวดเร็ว ผ่านตัวอักษร W วงกลมและเพชรด้านบนของโลโก้”
จุดเด่นของเครื่องมือ
ทั้งนี้ รูปแบบการบริหารจะแบ่งออกเป็น 4 ด้าน ประกอบด้วย
- WISESIGHT INSIGHTS คือ การใช้เครื่องมืออย่าง Zocial Eye, Metric, และ Research มาเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลให้ลูกค้านำไปกำหนดกลยุทธ์การสื่อสารและการตลาดได้อย่างตรงประเด็นและกลุ่มเป้าหมาย
-
WISESIGHT CRM เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ลูกค้าแก้ปัญหา ตอบข้อสงสัยและความสัมพันธ์ระยะยาว ผ่านเครื่องมือWarroom และ Monitoring ช่วยให้องค์กรสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าได้ทันท่วงที
-
WISESIGHT CONVERSION เมื่อแบรนด์ต้องการเข้าถึงความต้องการที่แท้จริงของกลุ่มเป้าหมายผ่านข้อมูลเชิงลึกรายบุคคล เครื่องมือPrecision จะช่วยเก็บข้อมูลและวิเคราะห์เพื่อจัดกลุ่มเป้าหมายได้ดีขึ้น เพื่อสร้างความภักดีต่อแบรนด์
-
WISESIGHT ACADEMY นำข้อมูลทั้งหมดมาจัดหลักสูตรสอนทักษะด้านโซเชียลให้แก่ผู้สนใจด้วยความร่วมมือกับ BINARY คาดว่าจะมีการเปิดสอนในเดือนสิงหาคมนี้
โอกาสโตใน APAC
ทางด้านของ พเนิน อัศววิภาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากขยายตลาดต่างประเทศตั้งแต่ต้นปี 2560 ด้วยวิธีลงทุนเต็มรูปแบบ พบว่า มาเลเซียเป็นทางเลือกท่ีดีเพราะมีความหลากหลายของภาษาและวัฒนธรรมที่สามารถช่วยในการขยายไปยังประเทศอื่นๆ ได้ดีกว่า และได้มีการแต่งตั้งให้ Shakthi DC ผู้อำนวยการภูมิภาคมาร่วมบริหารงาน ซึ่งขณะนี้ถือว่าได้ดำเนินธุรกิจจนผ่านจุดคุ้มทุนแล้วและกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องสู่ระดับเอเชียแปซิฟิก ด้วยกลยุทธ์ Hyper Localization
“ไม่ใช่ว่าทุกประเทศจะใช้สื่อออนไลน์ของต่างชาติเพียงอย่างเดียว แต่ละประเทศต่างก็มีสังคมออนไลน์ของตนเอง อย่างไทยมีพันทิป จีนมีเว่ยป๋อ มาเลเซียก็มีเหลายักษ์และคาลี่ ที่เปรียบเสมือนพันทิปและจีบันของไทย นี่จึงเป็นจุดเด่นที่เรามีมากกว่าเครื่องมือของชาวต่างชาติ เพราะเป็นเครื่องมือที่เข้าถึงสังคมออนไลน์ท้องถิ่นได้จริงๆ”
ทั้งนี้ จุดแข็ง 3 ด้าน ที่บริษัทจะนำมาใช้ในการขยาย APAC ประกอบด้วย
1. เทคโนโลยี – ระบบการเก็บข้อมูลขนาดใหญ่หรือ Big Data ที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นระบบที่ออกมาเพื่อรองรับการเก็บข้อมูลในระดับท้องถิ่นที่ลงลึกอย่างละเอียด
2. ภาษา – ความเข้าใจความซับซ้อนของภาษาเป็นหัวใจของการใช้ประโยชน์จากข้อมูลโซเชียล เราได้ปรับกระบวนการทั้งหมดทั้งในส่วนเทคโนโลยีและการปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าของภาษาเพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลที่แม่นยำสูงสุด โดยเรารองรับภาษาหลักทั้งหมดในภูมิภาค
3. วัฒนธรรม – การทำงานกับคนท้องถิ่นที่เข้าใจวัฒนธรรมของตลาดเป็นอย่างดี ทำให้เราสามารถบุกตลาดได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
กล้า ยังทิ้งท้ายอีกว่า ในขณะนี้ทางบริษัทมีลูกค้าทั้งในไทยและต่างประเทศไม่น้อยกว่า 150 แบรนด์และเอเจนซี่ในกว่า 20 อุตสาหกรรม ตั้งแต่ปีที่ผ่านมาก็โตไม่น้อยกว่า 30% เชื่อว่าในปีนี้ก็ยังโตต่อเนื่องเช่นกัน เพราะในยุคต่อไปเรื่องของการนำแชทบ็อทมาตอบคำถามลูกค้าจะไม่ใช่เรื่องว้าวอีกแล้ว แต่กลายมาเป็นคอร์บิสิเนสที่โตขึ้นได้ด้วย การมีฮาร์ดแวร์และระบบวิเคราะห์หลังบ้านมาทำงานร่วมกันจะช่วยให้การตอบโต้กับลูกค้าจนถึงนำเสนอโปรดักส์ใหม่ๆ จะทำได้ดีขึ้นเช่นกัน