TikTok ถือว่าเป็นแอปวีดีโอสั้นยอดนิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งเขาพยายามที่จะเดินหน้าเพิ่มขีดความสามารถในการเติบโตและเป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มช่องทางการขายในช่วงที่โควิด-19 ยังคงแพร่ระบาดและผู้คนยังใช้งานดิจิทัลกันอย่างมหาศาล
ในช่วงที่ผ่านมา TikTok ได้ปรับรูปแบบโฆษณาแบบ Interactive ให้แบรนด์และลูกค้าตอบโต้กันได้มากขึ้น มุ่งหวังให้นักการตลาดและ Media Buyer สามารถที่จะสร้างสรรค์โฆษณาให้ตรงใจกับกลุ่ม Gen Z ที่มีจำนวนมากกว่า 100 ล้านคนต่อเดือนในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก ซึ่ง TikTok ใช้การเชื่อมโยงระหว่างคอนเทนต์ประเภทร้องและเต้นเพื่อเพิ่มความสนใจให้กับผู้ชม
“เป็นเรื่องยากในการสร้างเนื้อหาเดียวแต่เข้าถึงคนได้ทุกกลุ่ม” Nick Tran หัวหน้าฝ่ายการตลาดของ TikTok กล่าว โดยการสร้างสรรค์โฆษณาเพื่อกระตุ้นให้กลุ่มผู้ชมอายุน้อยตัดสินใจซื้อเป็นเรื่องท้าทายกว่าการเข้าถึงผู้ชมที่มีกลุ่มอายุมากกว่า เพราะกลุ่มคนอายุน้อยมีทางเลือกในการเข้าถึงแพลตฟอร์มต่างๆ และเปรียบเทียบความน่าสนใจของแต่ละครีเอเตอร์ก่อนตัดสินใจซื้อ
Tran ยังย้ำอีกว่า TitTok ไม่ได้เป็นแค่แพลตฟอร์มเพื่อความบันเทิงเพียงอย่างเดียวแต่กำลังเป็นอีกหนึ่งช่องทางการขายด้วย ซึ่งบริษัทมีการลงทุนอย่างมากในการทำงานร่วมกับธุรกิจค้าปลีกชื่อดังอย่าง Walmart ที่เพิ่งเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจซื้อสินค้าได้จากในแอป TikTok เลย ไม่ต้องเปลี่ยนไปเข้าแอปอื่นๆ รวมทั้งยังเพิ่มโอกาสทางการขายและตัดสินใจซื้อได้อย่างรวดเร็ว ถือว่าเป็นอีกหนึ่งโอกาสทางการขายที่วงการอีคอมเมิร์ซจะต้องสะเทือน
ในปีที่ผ่านมา มีแบรนด์สินค้าสัญชาติอเมริกันได้เข้ามาทดลองขายสินค้าผ่าน TikTok กันบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็น กางเกงเลกกิ้งของ American Eagle น้ำแครนเบอรี่ Ocean Spray และ Feta Cheese ที่คลิปไวรัลใน TikTok ช่วยเพิ่มประสบการณ์ทางการขายใหม่และเพิ่มยอดขายเป็นอย่างดี
ในช่วงของการทดลองตลาดนี้ หากแบรนด์อื่นๆ สนใจจะเข้ามาทดลองสามารถใช้แฮชแท็ก #TikTokMadeMeBuyIt (TikTok Made Me buy it) ได้ เพื่อช่วยให้อัลกอริธึ่มของระบบหลังบ้านทำงานได้ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม TikTok พยายามอย่างมากที่จะแยกตัวเองออกจากการเป็นเพียงแพลฟตอร์มที่ดูวิดีโอได้อย่างเดียว แต่จะต้องมีความสามารถในการใช้งานได้ไม่ต่างจากคู่แข่ง ทั้งฟีดการแสดงผลวีดีโอแบบเต็มหน้าจอที่ไม่ต้องเปิดใช้งานเสียง เช่นเดียวกับเน็ตฟลิกซ์ เฟสบุคหรือทวิตเตอร์ หรือแม้แต่ Reels ในอินสตาแกรมที่เริ่มมีการให้บริการวีดีโอสั้นแบบ TikTok เมื่อสิงหาคมที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ผู้บริหารกลยุทธ์ด้านการตลาดยังคงผสมผสานช่องทางการใช้จ่ายและคอนเทนต์แบบออแกนิกมาแสดงเนื้อหาร่วมกันให้แก่ผู้ใช้งาน เพื่อลดความรู้สึกบังคับขายมากเกินไป โดยอาศัยระบบหลังบ้านและการฟีดโฆษณาด้วย data-driven ads เพื่อช่วยให้แบรนด์เห็นความสร้างสรรค์และเล่าเรื่องราวการขายได้ดีขึ้น
พฤติกรรมการซื้อสินค้าผ่านแอปพลิเคชั่นกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงของการแพร่ระบาดโควิด-19 ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญ หากแพลตฟอร์มไหนสามารถเพิ่มการเข้าถึงและกระตุ้นให้คนอยากซื้อได้ดีกว่า ก็จะยิ่งเป็นตัวเลือกให้คนนึกถึงไม่ต่างจากการเพิ่มความสามารถระหว่างการรับชมและตระกร้าสินค้าของ Amazon และ Youtube
แม้ว่าภาพรวมทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นกลับมาอีกครั้ง TikTok ก็มั่นใจว่าหลังจากเหตุการณ์กลับมาปกติ จะยังเป็นแอปที่โดนใจผู้ใช้งานได้เช่นเดิม จากข้อมูลการสำรวจของ Kantar พบว่า 88% ของผู้ใช้งานในสหรัฐอเมริกายังคงตั้งใจที่จะใช้เวลาในแอปเท่าเดิมหรือมากกว่านั้น เพราะกลุ่มผู้ใช้งาน TikTok กว่า 30% มองว่าพวกเขาลงการใช้งานแพลตฟอร์มแบบเดิมอย่างทีวีหรือสตรีมมิ่งอื่นๆ
ที่มา : Marketingdive