ข้อมูลจาก MediaBrix ในปี 2563 ระบุว่า ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่มีการรับชมคอนเทนท์ประเภทวิดีโอ โดย 55% มีการรับชมทุกวัน 90% ชื่นชอบวิดีโอสั้นแนวตั้ง และ 72% เรียนรู้ผลิตภัณฑ์และรู้จักบริการต่างๆ ผ่านคอนเทนท์ประเภทวิดีโอ ด้าน SteamElement ในปี 2563 ระบุว่า Live-streaming กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นโดยพบว่า มีการเพิ่มขึ้นของคอนเทนท์จากการ Live-steaming ถึง 99% เทียบจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 และปี 2563 สะท้อนให้เห็นว่า คอนเทนท์วิดีโอได้เข้ามาช่วงชิงเวลาของกลุ่มผู้ชมในโลกออนไลน์
ทั้งนี้ TikTok เติบโตของจำนวนผู้ใช้และการใช้เวลาบนแพลตฟอร์ม โดยข้อมูลจาก App Annie เปรียบเทียบการใช้แพลตฟอร์ม TikTok ระหว่างเดือนมกราคมปี 2564 กับเดือนมกราคมปี 2563 พบว่า ในประเทศไทย มีการดาวน์โหลด TikTok เพิ่มสูงขึ้นถึง 44% และมีการเพิ่มขึ้นของการใช้เวลาบนแพลตฟอร์มของผู้ใช้แต่ละคนสูงถึง 71%
โดยมีระยะเวลาการใช้งานในแต่ละครั้งเพิ่มสูงขึ้น 47% รวมถึงล่าสุดได้มีการสำรวจความรู้สึกของผู้ใช้คนไทยที่มีต่อ TikTok โดย Kantar ในปี 2563 พบว่า 83% ของผู้ใช้รู้สึกว่า TikTok เป็นแพลตฟอร์มผู้นำกระแส และ 82% มองว่า TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่เป็นบวกและทำให้ผู้ใช้รู้สึกดีเมื่อได้ใช้เวลาบนแพลตฟอร์ม จากข้อมูลเหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่ยืนยันสะท้อนภาพความสำเร็จและโอกาสของ TikTok ในประเทศไทยได้อย่างน่าสนใจ
สุรยศ เอี่ยมละออ Head of Consumer Marketing เปิดเผยว่า ในปี 2564 ถือเป็นช่วงเวลาที่ผู้ใช้และครีเอเตอร์บน TikTok ซึ่งเป็นส่วนสำคัญใน Ecosystem มีการเติบโตและแข็งแกร่งขึ้นในทุกมิติ โดยมีการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ใช้โดยเฉพาะในกลุ่มอายุ 18 – 34 ปี ที่ปัจจุบันมีสัดส่วนมากกว่า 50% ของจำนวนผู้ใช้ทั้งหมดในประเทศไทย อีกทั้งความหลากหลายของคอนเทนท์บน TikTok ทั้งคอนเทนท์ความบันเทิงและสาระความรู้ที่เติบโตและได้รับความนิยมมากขึ้น สร้างกระแสให้เกิดเป็นไวรัลได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีการแจ้งเกิดให้กับครีเอเตอร์ดาวรุ่งหน้าใหม่มากมาย พร้อมนำไปสู่การสร้างอาชีพจากการเป็นครีเอเตอร์ของ TikTok
นอกจากการเป็นแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นที่ตอบโจทย์พฤติกรรมการรับชมคอนเทนท์และเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้ใช้และครีเอเตอร์ TikTok ยังเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยส่งเสริมให้แบรนด์และธุรกิจในประเทศไทยประสบความสำเร็จในการทำการตลาดดิจิทัลทั้งเพื่อการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย การสร้างการรับรู้ การมีส่วนร่วม และการสร้างยอดขายอีกด้วย
โดยตั้งแต่การเปิดตัว TikTok For Business โซลูชันการตลาดดิจิทัลในประเทศไทยเมื่อเดือนมิถุนายนปี 2563 ที่ผ่านมา เป็นเวลาเกือบ 8 เดือนแล้ว ที่ TikTok For Business ได้สร้างความสำเร็จให้กับทั้งแบรนด์ชั้นนำและธุรกิจขนาดกลางและเล็กมากมายจากหลายอุตสาหกรรมที่เข้ามาทำการตลาดบน TikTok ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค, อาหารและเครื่องดื่ม, อสังหาริมทรัพย์, สุขภาพและความงาม, การสื่อสารและอุปกรณ์, อีคอมเมิร์ซ, ท่องเที่ยว, บริการเดลิเวอรี่, เกมออนไลน์ เป็นต้น
สิรินิธิ์ วิรยศิริ Head of Business Marketing กล่าวว่า ในปี 2564 TikTok For Business มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมและสนับสนุนนักการตลาดและนักโฆษณาในทุกมิติภายใต้แนวคิด “Moving beyond Reach to Relevance” ที่ต้องการให้นักการตลาดและแบรนด์ต่างๆ ที่เข้ามาทำการตลาดดิจิทัลบน TikTok ไม่ใช่เพียงแค่การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเท่านั้น แต่ยังสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้ที่มีความสนใจและเกี่ยวข้องกับแบรนด์ได้ เพื่อให้เกิดการมีปฏิสัมพันธ์ที่มีความหมายกับแบรนด์และผลิตภัณฑ์ต่างๆ
สำหรับในปี 2564 TikTok For Business ยังคงมุ่งมั่นเป็นส่วนหนึ่งที่จะส่งเสริมให้แบรนด์และธุรกิจทุกขนาดสามารถเติบโตและประสบความสำเร็จบนแพลตฟอร์ม TikTok ผ่าน 3 กลยุทธ์ ได้แก่
- การนำเสนอข้อมูลเชิงลึกและเครื่องมือเพื่อเป็นประโยชน์กับนักการตลาด: โดยมีเป้าหมายเพื่อการส่งเสริมการทำงานให้นักการตลาดสามารถวางแผนกลยุทธ์การตลาดดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ผ่านการนำเสนอข้อมูลเชิงลึกที่เป็นประโยชน์สำหรับการเติบโตธุรกิจ ผ่านกิจกรรมในหลายรูปแบบทั้งการจัดงานสัมมนาออนไลน์ การแชร์ข้อมูลเชิงลึก และการให้โซลูชันที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับนักการตลาด อาทิ TikTok Unboxed กิจกรรมสัมมนาออนไลน์เพื่อแชร์ข้อมูลเชิงลึกในแต่ละอุตสาหกรรม และการจัดทำข้อมูลเชิงลึกที่เกี่ยวข้องกับการทำการตลาดดิจิทัลให้เหมาะสมกับเทศกาลต่างๆ เพื่อแชร์ให้กับนักการตลาด และการสร้างสรรค์โซลูชัน Creator Market Place ที่รวบรวมข้อมูลของครีเอเตอร์เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักการตลาดได้เชื่อมโยงกับครีเอเตอร์บน TikTok ได้อย่างสะดวกและง่ายดาย
- การสนับสนุนและสร้างการเติบโตให้กับ SME: มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ประกอบการ SME สามารถสร้างความสำเร็จและการเติบโตให้กับธุรกิจบนแพลตฟอร์ม TikTok ผ่านกิจกรรมเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจต่อการใช้งานโซลูชัน TikTok For Business และเทคนิคการทำการตลาดดิจิทัลให้ประสบความสำเร็จในปัจจุบัน ได้แก่ การจัดงานสัมมนาออนไลน์ Grow with TikTok และ Starter Lab ที่จะปูพื้นฐานความเข้าใจด้านการใช้ TikTok For Business การแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกที่เกี่ยวกับการตลาด SME ในแต่ละประเภทธุรกิจ นอกจากนี้ยังมีการร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล, สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจ เป็นต้น ในการสร้างสรรค์กิจกรรมให้ความรู้และเทคนิคการทำตลาดดิจิทัลที่ทันสมัยกับ SME รวมถึงการเปิดตัวศูนย์ข้อมูลสำหรับ SME ผ่านทางเว็ปไซด์เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการใช้งาน TikTok For Business พร้อมด้วยตัวอย่างความสำเร็จของธุรกิจต่างๆ ทาง http://www.tiktok.com/business/th/smbcenter พร้อมด้วยการเปิดช่องทางการติดต่อทีมงาน TikTok For Business สำหรับ SME ผ่านทาง LINE Official Account: @tiktokforbusiness
- การสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพให้กับอุตสาหกรรมครีเอทีฟ: เพราะการสร้างสรรค์แคมเปญการตลาดบน TikTok จำเป็นต้องมีความคิดสร้างสรรค์ จึงเป็นที่มาให้ TikTok For Business สร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อการสนับสนุนอุตสาหกรรมครีเอทีฟและการสร้างงานครีเอทีฟสำหรับการทำโฆษณาและการตลาดดิจิทัลให้มีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น ผ่านการจัดกิจกรรมและการให้เครื่องมือสำหรับการสร้างสรรค์งานครีเอทีฟบน TikTok ได้แก่ การจัดงานสัมมนาออนไลน์ การจัดทำ Creative Play Book คู่มือแนะนำการทำครีเอทีฟ และ ทีมงาน Creative Lab Support Team ที่จะให้คำแนะนำและความช่วยเหลือในด้านการสร้างสรรค์แคมเปญการตลาดหรือการโฆษณาบน TikTok
ที่ผ่านมามีแบรนด์และธุรกิจจำนวนมากในหลากหลายอุตสาหกรรมที่ประสบความสำเร็จจากการใช้ TikTok For Business เพื่อการต่อยอดธุรกิจและเชื่องโยงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่าง แคมเปญ #สนุกซ่าไม่มีซ้ำ จากแบรนด์มิรินด้า ซึ่งเป็นครั้งแรกของการใช้ Branded Effect ในประเทศไทย ให้ผู้ใช้มาร่วมสนุกกับ hashtag campaign ที่ทำให้เกิดการสร้างการจดจำให้กับแบรนด์และผลิตภัณฑ์
จนสามารถสร้างปรากฏการณ์ยอดวิวสูงถึง 100 ล้าน และมีการสร้างสรรค์วิดีโอภายใต้แคมเปญ #สนุกซ่าไม่มีซ้ำ สูงถึง 1.26 แสนวิดีโอ และแบรนด์เครื่องสำอางชั้นนำสัญชาติเกาหลีอย่าง Etude ที่ทำโฆษณาในรูปแบบ customized ad บน TikTok ที่นอกจากจะได้รับการตอบรับที่ดีแล้วยังถือเป็นโฆษณาที่มีประสิทธิภาพด้วยต้นทุนต่อการคลิกโฆษณา (CPC) ลดลงกว่า 40% แต่อัตราการคลิกต่อจำนวนการมองเห็น (CTR) สูงขึ้นถึง 18% และพบว่ามีผู้เข้ามาซื้อสินค้าทางช่องทางอีคอมเมิร์ซของแบรนด์เพิ่มสูงขึ้นถึง 9 เท่า