Site icon Thumbsup

บริษัทแม่ของ TikTok เตรียมผลิตสมาร์ทโฟนของตัวเอง

ByteDance บริษัทแม่ของแอป TikTok จากประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ มีแผนจะผลิตสมาร์ทโฟนของตัวเอง หลังจากเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ได้เข้าซื้อสิทธิบัตรบางส่วนจาก Smartisan บริษัทผลิตสมาร์ทโฟนรายเล็ก

โดยแผนการพัฒนาสมาร์ทโฟน สื่อท้องถื่นรายงานว่าจะใช้ระยะเวลา 7 เดือน และ Wu Dezhou อดีตผู้บริหาร Smartisan จะเข้ามาควบคุมโครงการดังกล่าว และดึงพนักงานบางส่วนมาจากการซื้อสิทธิบัตรด้วยเช่นกัน

จริงๆ แล้ว ByteDance ยังมีแอปยอดนิยมอีกหลายตัว เช่น Lark แอปจัดตารางเวลาใกล้เคียงกับ Slack, Flipchat แอปคอลแบบวิดีโอ, Toutiao แอปอัพเดทข่าว แต่ถึงอย่างไร TikTok ก็เป็นแอปของบริษัทที่ได้รับความนิยมสูงสุด ซึ่งแอปดังกล่าวเป็นแพลตฟอร์ม Video Sharing แบบสั้นๆ ไม่เกิน 15 วินาที

เป็นไปได้ว่า ByteDance อาจจะเห็นว่าการสู้กับผู้เล่นรายใหญ่อย่าง Baidu และ Tencent อาจจะเริ่มมองหาช่องทางอื่นๆ เพื่อสู้ในตลาดอื่นๆ ที่ยังพอมีหวังว่าจะสร้างรายได้อีกทางได้ เช่น ตลาดของสมาร์ทโฟน เป็นต้น

ก่อนหน้านี้ ByteDance ยังลงทุนในส่วนอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับ Social Media ด้วย โดยได้ว่าจ้างพนักงานบางส่วนจากสตาร์ทอัพ JukeDeck ซึ่งเชี่ยวชาญในด้านการสร้างเพลงจาก AI มาอีกด้วย

เมื่อบริษัทไอทีอยากมีสมาร์ทโฟน แต่อาจลืมไปตลาดนี้ใหญ่ยิ่งนัก

หากย้อนดูข้อมูลก่อนหน้านี้จะพบว่า บริษัทไอทีหลายแห่งต่างลองผลิตอุปกรณ์ของตัวเองอย่าง “สมาร์ทโฟน” ขึ้นมามากมาย ซึ่ง ByteDance ไม่ใช่เจ้าแรกที่ทำเรื่องนี้

ย้อนกลับไปในปี 2556 Meitu แอปถ่ายรูป-เซลฟี่จากจีนก็ทดลองเปิดตัวโทรศัพท์สำหรับผู้ที่ชอบถ่ายรูป ชูจุดขายว่าถ่ายภาพได้คมชัด โฟกัสได้เร็ว พร้อมเลือก Filter ที่เหมาะให้อัตโนมัติ โดยแน่นอนว่าโทรศัพท์รุ่นนี้ใช้ Influncer ชื่อดังในจีนโปรโมท

แต่ก็เราทุกท่านก็ทราบกันดีกว่า ตลาดสมาร์ทโฟนในประเทศจีนมีการแข่งขันสูง ซึ่งในเวลานี้ ตลาดดังกล่าวก็ยังไม่มีผู้ชนะแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเสียทีเดียว

และเมื่อตัดภาพมาดูที่บริษัทไอทีขนาดใหญ่อย่าง Facebook, Google และ Amazon ก็จะเห็นความพยายามในการกระโดดสู่ตลาดสมาร์ทโฟนเช่นกัน

เริ่มจาก Facebook แม้จะไม่ได้เปิดตัวโทรศัพท์ แต่ในปี 2556 ก็เปิดตัว Launcher บน Android เพื่อเป็นหน้ากากที่ครอบหน้าจอ อำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ Facebook แต่เปิดได้ไม่ถึงพี่ แอปดังกล่าวก็ยุติการให้ดาวน์โหลดไป

ส่วน Google ก็เปิดตัวมือถือ Pixel และ Android One เพื่อรองรับกับระบบปฏิบัติการ Android ที่ตัวเองสร้างขึ้นมาได้สำเร็จ แต่การสร้าง Social Media อย่าง Google+ กลับล้มเหลวไม่เป็นท่า โดยเพิ่งปิดตัวไปเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา

แม้แต่ Amazon ยังเคยเปิดตัวโทรศัพท์ในชื่อ ‘Fire Phone’ ในปี 2557 มาแล้ว แต่ในที่สุด Amazon ก็ขาดทุนจากโปรเจกต์นี้ไปมากถึง 5,239,825,000 ล้านบาท (170 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) หลังจากนั้นก็เริ่มปลดพนักงานในตำแหน่ง Smartphone Engineer ออก และยกเลิกการวางขายสมาร์ทโฟนดังกว่าในปี 2558 

ซึ่ง Ben Wood นักวิเคราะห์ด้านเทคโนโลยีของ CCS Insight ระบุว่าเป็นเรื่องยากอย่างยิ่งที่ผู้เล่นรายใหม่ๆ จะเบียดตัวเข้าไปชิงส่วนแบ่งในตลาดสมาร์ทโฟน เพราะตอนนี้ก็มีแบรนด์ขนาดใหญ่อย่าง Apple, Samsung และ Huawei ทุ่มเงินด้านการตลาด (Marketing) นับล้านปอนด์เพื่อสู้ศึกนี้อย่างต่อเนื่อง

ที่มา: BBC และ Reuters