Site icon Thumbsup

TikTok แชร์เทคนิคให้แบรนด์สร้างตัวตนให้เกิดบนแพลตฟอร์มสร้างโอกาสการสื่อสาร

TikTok แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นยอดนิยม ยังคงมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องและมีผู้ใช้งานกำลังจะถึงพันล้านคนในสิ้นปีนี้ แม้จะเจอปัญหาแบนการใช้งานในอินเดีย แต่ก็ยังมีฐานผู้ใช้งานในประเทศอื่นๆ จนทำให้มีกลุ่มผู้ใช้งานมากเป็นอันดับท็อป 5 ของแอปประเภทโซเชียลมีเดีย

ด้วยการเติบโตนี้ ทำให้นักการตลาดสนใจที่จะหาโอกาสจากแพลตฟอร์ม เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคหรือกลุ่มเป้าหมาย ด้วยวิธีการที่เหมาะกับแพลตฟอร์มนี้ ขณะเดียวกัน ก็ไม่อาจนำกลยุทธ์เหล่านี้ไปใช้กับแพลตฟอร์มหรือแคมเปญร่วมกับแพลตฟอร์มอื่นได้ แล้วคุณจะปรับใช้กลยุทธ์ให้เหมาะกับแบรนด์ของคุณบน TikTok อย่างไร มาดูกันค่ะ

Becca Sawyer หัวหน้าฝ่ายโซลูชันธุรกิจขนาดเล็กระดับโลกของ TikTok สรุปสิ่งที่น่าสนใจ ดังนี้

ซึ่งทีม TikTok จะบอกเสมอว่า การสร้างและแชร์เนื้อหาบน TikTok สำหรับเจ้าของธุรกิจหรือแบรนด์นั้น ผู้ให้บริการอยากแนะนำให้ลองใช้เครื่องมือต่างๆ ที่มีบน Tiktok for business เพราะมีเครื่องมือให้ใช้งานที่หลากหลาย เช่น เทมเพลตการถ่ายคลิปวิดีโอที่ร่วมมือกับ Vimeo ในการช่วยธุรกิจขนาดเล็กสร้างสร้างสรรค์คอนเทนต์ประเภทวิดีโอให้มีคุณภาพดีกว่าเดิม ด้วยวิธีการทำงานไม่กี่ขั้นตอน

นอกจากนี้ TikTok ยังแนะนำอีกว่า หลังจากที่แบรนด์เปิดบัญชีผู้ใช้งานในนามของแบรนด์แล้ว ไม่ควรเน้นหนักที่การขายสินค้าทุกครั้ง แต่ควรสร้างการมีส่วนร่วมเหมือนผู้ใช้งาน สร้างตัวตนให้อยู่บนแพลตฟอร์ม สร้างสรรค์คอนเทนต์ใหม่ๆ อยู่เสมอ อัพเดทคลิปใหม่ๆ และปรับคอนเทนต์ให้ยืดหยุ่นแบบไดนามิกตามแพลตฟอร์ม

รวมทั้งการสร้างบรรยากาศให้ผู้ติดตามไม่เพียงเข้าร่วมการสนทนา แต่ต้องสร้างโอกาส หรือเปิดการสื่อสารหรือสร้างการสนทนาใหม่ๆ อยู่เสมอ

ไม่ว่าจะเป็น รีวิวสินค้า ละครสั้น หรือ Vlog แบบสนุกๆ แบรนด์ก็ควรสร้างชิ้นงานด้วยความสร้างสรรค์ หรือสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ชม แต่อย่าคิดแค่ว่าจะสร้างงานโฆษณาแบบ Tie in ที่คาดหวังให้คนคลิกซื้อสินค้าเสมอไป

แม้ว่า TikTok จะเป็นแพลตฟอร์มที่สร้างความบันเทิงและสนุกสนานแก่ผู้รับชม จุดกระแสส่งต่อหรือชาเลนจ์ให้ผู้ใช้งาน อยากทำตามกันแบบบอกต่อกัน การสร้างความท้าทายใหม่ๆ ให้คนอยากทำตามก็เป็นอีกเรื่องที่ท้าทายมาก

ยกตัวอย่าง แบรนด์เสื้อผ้า GAP ทำกระแสเสื้อฮู้ดสีน้ำตาลให้เป็นกระแสไวรัล โดยใช้แฮชแท็ก #gaphoodie มีผู้เข้าชมมากกว่า 6.7 ล้านครั้ง และสร้างโอกาสในการขายได้อย่างล้นหลาม จนเป็นแคมเปญที่จะทำต่อยอดร่วมกับ TikTok ต่อเนื่องในการเปิดตัวเสื้อฮู้ดครั้งต่อไป

หรือทางแบรนด์อาหาร KFC ท่ียังเจอการแข่งขันสงครามอาหารแซนด์วิชไก่ โดย KFC ได้ใช้อินฟลูเอนเซอร์บน TikTok อย่าง Lili Hayes มาช่วยแนะนำแซนด์วิชไก่ตัวใหม่ มียอดไลค์มากกว่า 1.1 ล้านครั้ง ในขณะที่ #trythekfcsandwich มียอดดูและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กว่า 208 ล้านครั้ง

และยังมีการใช้ TikToker อีกหลายคนเพื่อมาช่วยจุดกระแสให้คนอยากไปซื้อกินบ้าง รวมทั้งมีการใส่แฮชแท็กชัดเจนว่าเป็นการโฆษณา แต่หากคอนเทนต์ดีจริง ก็ไม่ต้องกังวลว่าผู้ติดตามจะรู้สึกไม่ดีกับแบรนด์

สุดท้ายนี้ คำแนะนำสำหรับมือใหม่ที่อยากเริ่มต้นทำการตลาดบน TikTok ก็คือ การสร้างเนื้อหาของแบรนด์ควรมีลักษณะและความรู้สึกเช่นเดียวกับโพสต์แบบบุคคลทั่วไปบนแพลตฟอร์ม และเนื้อหาของแบรนด์คุณ จะต้องมีพื้นฐานมาจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์ม อย่างน้อยก็ช่วยจุดกระแสให้ผู้ใช้งานอยากมีส่วนร่วมหรือจุดประเด็นในการสนทนาใหม่ๆ ได้