ใครที่แวะไปเยี่ยมเยือน Central World กันบ่อยๆ คงต้องเคยผ่านตากับชื่อของ “TK Park” ห้องสมุดมีชีวิตขนาดยักษ์ที่ตั้งอยู่บนชั้น 8 Dazzle Zone ของศูนย์การค้าดังกล่าวกันมาบ้าง และใครที่เป็นสมาชิกก็คงสัมผัสได้ดีถึงการเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีข้อมูลขนาดมหึมาให้ศึกษา และมี Facilities อื่นๆ ที่ตอบโจทย์ของนักเรียนรู้ได้อย่างลงตัว
ในวันที่ประเทศไทยต้องการก้าวสู่ Thailand 4.0 ห้องสมุดยักษ์ใหญ่แห่งนี้ก็ไม่พลาดที่จะขานรับนโยบายของภาครัฐด้วยการเดินหน้าเข้าสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้ในยุคดิจิทัลเต็มไปรูปแบบ เห็นได้จากการประกาศแผนการดำเนินงานปี 60 ภายใต้แนวคิด “การเรียนรู้ในยุคดิจิทัล” หรือ “Learning in Digital Age” ซึ่งเป้าหมายก็คือ การพัฒนาศักยภาพประชากรของประเทศให้มีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 อย่างการคิด วิเคราะห์ และสร้างสรรค์สู่การพัฒนาอาชีพในอนาคต โดยจะมีการขยายเครือข่ายอุทยานการเรียนรู้ TK park ทุกระดับ โดยให้ความสำคัญพิเศษกับจังหวัดชายแดนใต้
คุณราเมศ พรหมเย็น รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) หรือ TK park กล่าวว่า จากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 และ นโยบายสู่ Thailand 4.0 ที่มีเป้าหมายสำคัญในการเสริมสร้างและพัฒนาประชากรให้มีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่สามารถสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมใหม่ โดยนำฐานความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาต่อยอดพัฒนาเพื่อยกระดับประเทศสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว และมีรายได้ระดับสูงใน 20 ปีข้างหน้านั้น
การดำเนินงานของ TK park ในปี 2560 ได้ขานรับและมีทิศทางมุ่งเน้นในการปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน การเรียนรู้ พร้อมกับปรับกระบวนการให้บริการเพื่อตอบโจทย์ยุคดิจิทัลด้วยการสนับสนุนการเรียนรู้ผ่านช่องทางออนไลน์ของหน่วยงาน ทั้งเว็บไซต์ Digital TK, ห้องสมุดออนไลน์ (TK Public Online Library), สร้างสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ฯลฯ
ในส่วนห้องสมุดออนไลน์ (TK Public Online Library) ก็มีหนังสือทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งองค์ความรู้ประเภทต่างๆ และสารพันบันเทิง รวมทั้งรูปแบบมัลติมีเดียมากกว่า 10,000 เล่ม ปัจจุบันมีสมาชิกรวม 23,000 คน มีปริมาณการยืมอ่านรวม 70,000 ครั้งตั้งแต่เปิดให้บริการตลอด 1 ปีกว่าด้วย
ปัจจุบันอุทยานการเรียนรู้ของหน่วยงานเครือข่ายที่เปิดให้บริการได้อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว 19 แห่ง และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 นี้ มีกำหนดเปิดให้บริการใหม่อย่างน้อย 2 แห่งที่สำคัญ ได้แก่ อุทยานการเรียนรู้ปัตตานี (ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย) และ อุทยานการเรียนรู้นครราชสีมา (TK Square Korat) โดยอุทยานการเรียนรู้ของหน่วยงานเครือข่ายที่เปิดให้บริการแล้วนั้นจะกำหนดให้มีการเชื่อมโยงระบบห้องสมุดอัตโนมัติ ระบบฐานข้อมูลหนังสือและสื่อการเรียนรู้ต่างๆ เข้ากับอุทยานการเรียนรู้ต้นแบบเพื่อที่ผู้เข้าใช้บริการของ TK park เครือข่ายสามารถสืบค้นและนำไปศึกษาได้อย่างสะดวก
ก้าวต่อไปของ TK park จึงอาจเป็นการมองไปข้างหน้าเพื่อสนับสนุนให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างยั่งยืน แม้ในยุคที่ข้อมูลดิจิทัลเข้ามาแทรกอยู่ในไลฟ์สไตล์เต็มไปหมดเช่นทุกวันนี้