Site icon Thumbsup

แก่ไปไม่จน!! ทางรอดก่อนวัยเกษียณ ช่วยแก้ปัญหาคนไทยไร้เงินออม

ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ “สังคมสูงอายุ” แต่คนไทยกลับตกอยู่ในสภาวะไร้เงินออม  อีกทั้งยังวางแผนเกษียณผิดพลาด  แล้วเราควรจะวางแผนอย่างไรในวันที่มีกำลัง เพื่อไม่ให้แก่ตัวลงแล้วใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก

ลองมาฟังเรื่องนี้จาก คุณสมโพชน์ เกียรติไกรวัล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทโตเกียวมารีนประกันชีวิต (ประเทศไทย)  บริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการวางแผนเกษียณจากญี่ปุ่น

ทำไมคนเราต้อง “วางแผนเกษียณ”

คุณสมโพชน์ : สังคมไทยมักบอกว่าแก่แล้วให้ลูกให้หลานเลี้ยง  แต่สังคมปัจจุบันครอบครัวเริ่มเล็กลงไม่เหมือนสมัยก่อนที่เป็นครอบครัวใหญ่  ขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพก็สูงขึ้น  มันก็ต้องเป็นเรื่องที่เราต้องตั้งโจทย์ว่าคนในยุคนี้เมื่อเกษียณอายุแล้วคุณจะอยู่ยังไง

คนชอบคิดว่าการเกษียณ “เป็นเรื่องไกลตัว”

คุณสมโพชน์ : นั่นแหละคือปัญหา!! หลายครั้งที่เราบอกว่าเรื่องเกษียณไกลตัว  แต่ในปี 2564 หรืออีก 3 ปีข้างหน้าจะมีคนไทยที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปถึง 13 ล้านคน   คิดเป็น 20% ของพลเมืองประเทศไทย ฉะนั้นถึงบอกว่าเด็กในยุคปัจจุบันจะต้องเข้มเเข็งกว่าอดีต

เพราะต้องเตรียมตัวเองให้พร้อมสำหรับการเข้าไปดูแลคนในครอบครัว  ถ้าหากวันนึงพ่อแม่เราดูแลตัวเองไม่ได้เราต้องไปช่วยดูแลต่อ  ทำให้ต้องเตรียมเงินให้เยอะขึ้น  เพราะอะไรที่มัน ฉุกเฉินอาจจะเกิดขึ้นก็ได้  แต่ต้นเรื่องของปัญหาคือคนเหล่านี้ไม่มีการออมเงิน

“การออม” คือหัวใจสำคัญ

คุณสมโพชน์ : สิ่งที่ผ่านมาที่เราไม่ได้ทำมานานเลยก็คือ “การรณรงค์ให้สังคมไทยรู้จักเก็บออม”  ถ้าไปบอกให้คนที่ใกล้เกษียณเก็บให้ทันก็คงเป็นเรื่องหนักเหมือนกัน เพราะคงต้องใช้เงินออมขนาดใหญ่  โดยการเกษียณของคนๆ หนึ่งต้องใช้เงินไม่น้อยว่า 3 ล้าน 5 ล้าน 10ล้าน ขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้ชีวิต  เลยมองกลับมาว่าถึงเวลาที่เราต้องไปรณรงค์กับคนรุ่นใหม่แล้ว

รัฐบาลปัจจุบันนี้ก็ยอมรับว่าออมน้อยลง  จนระบบเงินออมในประเทศไทยเกือบจะล้มเหลวแล้ว  เพราะคนไทยที่ผ่านมาระยะหลังนั้นเริ่มไม่ค่อยออมเงิน  จนกระทั่งระบบเงินออมของประเทศนั้นมันลดลงไปมาก  นี่คือสิ่งที่รัฐบาลเองก็พยายามจะสื่อออกไปแต่คนก็ไม่ค่อยสนใจ  ถ้าเทียบกันสังคมญี่ปุ่นจะพบว่าคนญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการเก็บออมเงินสูงมาก

ทำไมคนสมัยนี้เก็บเงินไม่ค่อยได้

คุณสมโพชน์ : เพราะคนรุ่นใหม่เติบโตในสังคมที่ถูกชักจูงให้ใช้เงิน  ในเรื่องของการใช้จ่าย ไลฟ์สไตล์ต่างๆ ที่ทั้งกินทั้งเที่ยว สิ่งล่อตาล่อใจ  แล้วบางคนไม่พอไปมีรูดบัตรเครดิตก็มีหนี้อีก  เพราะงั้นคนรุ่นใหม่จะมีหนี้เยอะจนไม่ต้องพูดถึงเงินออม  มันคงน่าตกใจถ้าเราไม่รณรงค์ให้คนรุ่นใหม่เก็บออมเงินที่คุณได้ในแต่ละเดือนให้มันเกิดประสิทธิภาพ  ในการที่จะทำให้คุณอยู่ได้ในอนาคต

เราเห็นหลายคนที่ไม่เก็บออมเงิน  ไม่ว่าจะเป็นดารา นักกีฬาดังๆ ที่เคยได้เงินมากมาย  ปัจจุบันนี้ล้มละลายไม่มีเงินเก็บออม  เพราะที่ผ่านมาได้เงินเยอะแล้วก็ใช้จ่ายจนหมด  ผมมองว่าสังคมถึงจุดที่ต้องมาคิดว่าอย่ามองแต่เรื่องความสุข ณ ปัจจุบันทั้งหมด  อย่างเราจะไปดูหนังสักเดือนละ 3 เรื่อง ดูสัก 2 เรื่อง  หรือเดือนละเรื่องก็ได้ให้มันลดลงหน่อย

ใช้ชีวิตเต็มที่ แต่บั้นปลายชีวิตเต็มทน

คุณสมโพชน์ : เราลองนึกภาพคนสูงอายุแล้วไม่รู้จะพึ่งใคร  แต่ถ้าเกิดเขามีเงินในกระเป๋าสักหมื่นสองหมื่นบาทต่อเดือนนั้นเขาอยู่ได้นะ  แล้วเราจะทำยังไงให้สังคมไทย คนไทยมีเงินใช้เดือนละสักหมื่นสองหมื่นบาทหลังเกษียณอายุต่อเดือน   เพราะลำพังการพึ่งภาครัฐเดือนละ 600 บาทนั้นค่อยข้างลำบาก

การ “วางแผนเกษียณ” VS “ลงทุน”

คุณสมโพชน์ : การลงทุนต่างๆ มันมีความเสี่ยง มีกองทุนไหนที่บอกว่าหุ้นลงแล้วกองทุนยังได้กำไรอยู่เพราะฉะนั้นถึงบอกว่าเงินอาจจะแบ่งไปลงทุนได้  แต่มันจำเป็นต้องมีการแบ่งเพื่อป้องกันความเสี่ยงด้วย  ถ้าเกิดเจ็บป่วยขึ้นมาต้องไปขายกองทุนไหม แล้วถ้าเกิดเป็นโรคร้ายแรงขึ้นมาก็ต้องเอากองทุนไปขายไหม  แต่ถ้าเป็นประกันชีวิตมันครอบคลุมไปทุกเรื่องไม่กระทบกระเทือนกับเงินออม

แต่ถ้าเกิดไปซื้อกองทุนอย่างเดียวนั้นก็มีความเสี่ยง ขณะเดียวกันถ้าเกิดการเจ็บป่วยขึ้นมาระหว่างทาง ก็อาจต้องขายกองทุนเอามารักษาตัวเอง เพราะฉะนั้นการออมมันก็จะไม่ถึงปลายทาง เนื่องจากการออมถูกดึงออกไปก่อนจากสิ่งที่เข้ามาในระหว่างทาง

วิธีวางแผนเกษียณคือต้องแบ่งเงินให้ได้โดยคุณจะเอาเงินไปลงทุนสัก 90% แล้วเอาเงินไปซื้อประกัน 10% ก็ได้นะ  ไม่ได้บอกให้เอาเงินทั้งหมดไปซื้อประกันในการซื้อประกันก็มองความจำเป็นว่าต้องการการคุ้มครองสักเท่าไหร่ ที่จะมีเงินเอาไว้ใช้หลังเกษียณสักเท่าไหร่ ส่วนที่เหลือจะไปเล่นกองทุนหุ้นก็ได้

ประกันชีวิตที่ออกแบบมาเพื่อ “การเกษียณ”

คุณสมโพชน์ : ประกันชีวิตเนี่ยหรือการซื้อกรมธรรม์ที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนเกษียณอายุอย่าง Pension เป็นการวางแผนเพื่อเตรียมตัวเองให้พร้อมสำหรับการเกษียณอายุที่ไม่มีความเสี่ยง  โดยเป็นการซื้อผลิตภัณฑ์สำหรับ protection และวางแผนการเกษียณให้กับตัวเอง

ซึ่งการทำประกันชีวิตทำให้ระหว่างที่เราอายุน้อยๆ ก็สามารถออมเงิน  รวมถึงมีการ protection เรื่องของการเวลาเสียชีวิต เกิดเจ็บป่วย อุบัติเหตุ โรคร้ายแรง ในระหว่างที่คุณยังทำงานอยู่  และถ้าคุณเสียชีวิตครอบครัวก็ยังได้รับการคุ้มครองจากวงเงินที่มีประกันชีวิต

ในทุกวันนี้โรคภัยไข้เจ็บเยอะเเยะ  เราตอบไม่ได้ว่าจะไม่ป่วยเลย  ฉะนั้นคนที่อยู่ในวัยทำงานนั้น  ยิ่งมีครอบครัวด้วย  ยิ่งมีความสำคัญ  ต้องทำ เพื่อเป็นการปกป้องครอบครัวและปกป้องตัวเอง

แต่คนไทย “เกลียดประกัน”

คุณสมโพชน์ : ส่วนหนึ่งก็เจอกับการขายในอดีตที่ขายกันไม่ค่อยเคลียร์  หรือขายกันโดยไม่เข้าใจว่าสิ่งที่เขาซื้อมันเป็นประโยชน์กับตัวเขายังไง  ในบางครั้งการประกันในอดีตก็ต้องเรียกว่า “ขอ” ช่วยซื้อหน่อย  ก็ทำให้เขาไม่รู้คุณค่า แต่กับตัวแทนของเราตอนไปขายนั้นเราจะพูดเรื่องสินค้าที่เกี่ยวกับการวางแผนการเกษียณอายุต่างๆ เหล่านี้ แล้วกรมธรรม์ก็จะไม่ขาดอายุ

คุณสมโพชน์บอกกับเราว่าสังคมที่น่าอยู่ คนในสังคมจะต้องดูแลตัวเองได้  ถ้าเค้าสามารถที่จะดูแลตัวเองได้  ไปไหนก็ไม่ต้องไปกังวล  ถ้าเราก็มีเงินในกระเป๋าแม้จะไม่รวยมากแต่พออยู่พอกินได้  ถ้าคนในประเทศไทยเป็นอย่างนี้ได้สังคมไทยจะมีความสุขมาก  และมันต้องเริ่มต้นที่ตัวเรา ถ้าออมได้ไม่ว่ามากหรือน้อยก็ดีกว่าไม่ทำ  เพราะทำแล้วมันจะนำไปสู่ความรู้สึกที่ดีที่เราเกษียณอายุ