เทคโนโลยีและธุรกิจบนโลกใบนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วขึ้นทุกปี การเข้าร่วมงานอีเว้นท์เพื่ออัพเดทเทรนด์และความรู้ต่างๆ จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง หนึ่งในอีเว้นท์ที่คนสายธุรกิจมีเดีย ดนตรี และเทคโนโลยี ไม่พลาดที่จะเข้าร่วม คงหนีไม่พ้นงาน South by Southwest หรือ SXSW นั่นเอง
ถือเป็นโอกาสอันดีอย่างยิ่งที่ Thumbsup.in.th ได้คุยกับผู้บริหารนิตยสารและผู้จัดงานดนตรีที่ได้ไปร่วมงาน SXSW อย่าง ‘พงศ์สิริ เหตระกูล’ กรรมการผู้บริหารเครือนิตยสารแม่บ้าน ที่มีนิตยสารหลายแบรนด์อยู่ในมือ ไม่ว่าจะเป็นนิตยสารแม่บ้าน, Nylon Thailand, Time Out Bangkok และอื่นๆ เป็นต้น รวมถึงยังเป็นผู้จัดงานดนตรีอย่าง Sofar Sounds Bangkok อีกด้วย
วันนี้เขาจะมาเล่าถึงการเดินทางร่วมกับทีมงาน Fungjai ไปอีเว้นท์ใหญ่ที่รวมเทรนด์ที่คนทำธุรกิจต่างๆ (โดยฉพาะสายเทคโนโลยี, คอนเทนต์, มาร์เก็ตติ้ง และดนตรี) ควรจับตาและให้ความสำคัญอย่างยิ่ง มาให้ชาว Thumbsuper ได้ฟังกันครับ
แล้วถ้าปัญญาประดิษฐ์มันมีความสามารถสูงมากแบบนี้ มนุษย์เรายังมีพื้นที่ไหนที่เหลืออยู่ให้เก่งกว่าปัญญาประดิษฐ์บ้างหรือเปล่า การใช้ความรู้สึกและสัญชาติญาณ (Empathy) คือสิ่งที่มนุษย์ยังทำได้ดีกว่าปัญญาประดิษฐ์ อย่างน้อยก็ในระยะนี้พักใหญ่ๆ
‘พงศ์สิริ เหตระกูล’ คือใคร?
ทุกวันนี้ ‘พงศ์สิริ เหตระกูล’ หรือ ‘ต้อม’ เป็นเจ้าของมีเดียแบรนด์อยู่หลายแบรนด์ เช่น Time Out Bangkok, Nylon Thailand, นิตยสารแม่บ้าน และมีอีกหลายๆ แบรนด์ในบริษัท ปัจจุบันพงศ์สิริดำรงตำแหน่งกรรมการผู้บริหารเครือนิตยสารแม่บ้าน
นอกจากทำธุรกิจสื่ออย่างนิตยสารและสื่ออนไลน์แล้ว เขายังทำงานอีเว้นท์ มิวสิคเฟสติวัล ปาร์ตี้ คอนเสิร์ตต่างๆ ไปจนถึงงานคอนเสิร์ตเล็กๆ ที่จัดเอง อย่างงานชื่อ Sofar Sounds Bangkok อีกด้วย
SXSW คืองานอะไร ทำไมคนทำธุรกิจต้องให้ความสนใจ?
ต้องยอมรับว่ามีเดียและธุรกิจคอนเทนต์เป็นอะไรที่ถูก Disrupt ตลอดเวลา แพลตฟอร์มที่มาอยู่ในอุตสาหกรรมนั้นๆ 4-5 ปีเปลี่ยนทีเดี๋ยวนี้ แล้วเราก็อยากจะรู้ก่อนว่าอะไรจะเกิดขึ้น
SXSW ต้องเรียกว่าเป็น Trendsetter ของโลก เขามักจะมีคำพูดไว้ว่า อะไรก็ตามที่เกิดใน SXSW แล้วดังได้ อีกสัก 6 เดือนมันจะดังทั่วโลก ดังนั้นแล้ว ผมคิดว่ามันจะเป็นที่ที่ถ้าเราไปแล้ว เราน่าจะได้รู้สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกนี้ก่อนคนอื่นเขา สักปีนึงถึงสองปี
ส่วนใหญ่หัวข้อที่ผมเข้าไปฟัง มักจะเป็นหัวข้อที่กำลังดังอยู่ใน SXSW ปีนั้น ถ้าสัก 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ เรื่องที่ดังก็เป็นเรื่อง AI (ปัญญาประดิษฐ์) VR (เทคโนโลยีจำลองสภาพเสมือนจริง) เดี๋ยวนี้เขาก็จะมีศัพท์อื่นๆ ที่ไปไกลกว่า VR (Beyond VR) อย่างฝั่ง Experiential หรือการสร้างประสบการณ์ต่างๆ แล้วเหมือนกัน
ในงาน SXSW พูดถึง VR อย่างไรบ้าง?
ผมว่าผมอาจจะต้องเกริ่นเรื่อง VR ก่อนเนอะว่ามันคืออะไรกันแน่ หลักๆ ก็คือ VR หรือ Virtual Reality เหมือนกับหนังเรื่อง Ready Player One เลย VR คือการสร้างโลกเสมือนขึ้นมา แล้วมีอุปกรณ์ชิ้นนึง ก็มักจะเป็นแว่นเอาไว้ใส่ให้เราเข้าไปอยู่ในโลกเสมือน
VR ในปัจจุบันเขาพูดกันในแง่ว่าจะมา disrupt วงการ experiential content (คอนเทนต์ที่เสริมสร้างประสบการณ์ในการรับรู้) แล้ว experiential content มีทั้งคอนเสิร์ต ปาร์ตี้ การท่องเที่ยว มิวสิคเฟสติวัล อีเว้นท์ใหญ่ๆ ซึ่งคอนเทนต์เหล่านี้เป็น experiential content ที่กำลังจะถูกทำให้เป็นจริงได้ง่ายขึ้นด้วยเครื่องมือ VR
แทนที่เราบอกว่า เราจะต้องย้ายคนไปอยู่ในที่ที่นึง เพื่อจะได้รับประสบการณ์ทั้งหลาย อย่างการท่องเที่ยว งั้นเรานั่งอยู่กับบ้าน ใส่แว่นอันนึง แล้วก็เสียตังค์ไม่เท่าไหร่ เปิดคอนเทนต์ๆ นึงดู แล้วไปดำน้ำกับปลาวาฬในมหาสมุทรลึกก็ได้ คุณกระโดดเล่นบนดาวอังคารก็ได้ คุณไปฟังคอนเสิร์ตบนวงแหวนดาวเสาร์ได้
แต่สิ่งที่มันจะเป็นข้อดีของ VR สุดๆ เลย คือมันเปิดทางให้เกิดประสบการณ์ที่ไม่สามารถเกิดในโลกความเป็นจริงได้ เรื่องใหญ่ของ VR ก็ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณอยากจะดูคอนเสิร์ตของ Red Hot Chili Peppers ที่ปีระมิตกีซ่า ผมคิดว่าดูมันส์สุดๆ คงประมาณนั้น
สิ่งที่ภาคธุรกิจควรระวังตัวจากการเข้ามาของ VR
แต่ก่อนธุรกิจดนตรี ต้องใช้คำว่าเคยถอยมาเยอะ เมื่อก่อนเขาเคยสร้างรายได้จากซีดี จากการขายเพลง ทุกวันนี้มันก็ขายซีดีไม่ได้แล้ว เขาก็ถอยมาสเต็ปนึงแล้ว อาจจะได้จากสตรีมมิ่งบ้าง แต่ก็ถอยมาสเต็ปนึงแล้ว
ยังเหลือสิ่งที่เขามีรายได้อยู่ นั่นคือการขายโชว์ ทีนี้คือการขายโชว์ครั้งละหลักแสนเนี่ย 4-5 ปีข้างหน้ามันเป็นไปได้ว่ากำลังจะถูกทดแทนด้วย VR
ถ้าเราอยากจะดูโชว์ของวงนี้ สมมุตินะ Bruno Mars จะมาเมืองไทย เราต้องใช้ตังค์ประมาณสัก 5-6 พันบาทถ้าอยากจะไปนั่งอยู่ข้างหน้า เราเกิดบอกว่าวันนี้ คุณดู Bruno Mars นั่งอยู่ตรงนี้ 5 เมตรจากคุณ เอามือไปแตะเขาได้ ไม่ไ่ด้มีความรู้สึกไปแตะจริงๆ นะ แต่เอื้อมไปได้ในราคาพันเดียว น่าจะมีคนเอานะ
คือวงการดนตรีมันจะเกิดอย่างนั้นขึ้น อย่างน้อยสิ่งที่วงการดนตรีต้องเตรียมตัวกันหน่อย คือ เงินที่เคยทำได้จากฝั่งโชว์ มันอาจจะต้องไปสร้างจากแพลตฟอร์มอื่น แล้วยังไม่มีใครพูดได้ว่า มันจะสร้างเงินได้เท่ากันหรือน้อยลงหรือมากขึ้น ไม่แน่ใจ
สิ่งผมกังวลคือทุกครั้งที่มีเทคโนโลยีใหม่ขึ้นมา เจ้าของเทคโนโลยีมันได้เงิน แต่คนสร้างคอนเทนต์ได้เงินน้อยลง
SXSW พูดถึง AI มากน้อยแค่ไหน?
ต้องเรียกว่า SXSW มีคนสาย creative อยู่เยอะ Startup เอย Creative People อยู่เยอะมาก ตอนนี้ AI มันเริ่มสร้างความหวาดกลัวให้คนสาย creative เพราะว่าเมื่อสักประมาณ 3-4 ปีที่แล้ว อยู่ดีๆ มันเริ่มมีเคสว่า AI สร้างสรรค์ได้ดีกว่าคนมากๆ มาหลายครั้ง
ข่าวใหญ่ๆ เลย ก็อย่าง AI เล่นโกะชนะ ซึ่งโกะเป็นเกมที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์เยอะ สมมุติเราเดินหมาก มาหมากนึง มันมีความเป็นไปได้หลังจากนี้อีกหลายสิบหลายร้อยความเป็นไปได้มากเลย และพอหลังจากหลายร้อยนั้น มันก็ข้ามไปอีกสเต็ปนึง ข้ามไปอีกสเต็ปนึง กลายเป็นพันเป็นหมื่นไปแล้ว เพราะงั้นคนที่จะมองสเต็ปได้ไกลขนาดนี้ ตอนนี้คอมพิวเตอร์ทำได้เก่งกว่าคนแล้ว
ทีนี้หลักการที่ว่า ถ้าเกิดเรานิยามคำว่า “ความคิดสร้างสรรค์” คือความสามารถในการเลือกเส้นทางอื่นๆ ความสามารถในการหาทางเลือก ถ้าเกิดว่าความคิดสร้างสรรค์คือนิยามนั้น วันนี้ AI เก่งกว่าคนแล้ว AI แต่งเพลงแล้วก็ได้ AI แต่งหนังสือก็ได้
ผมเคยเห็น AI บีทบ็อกซ์แข่งกับคน แล้วมันบีทบ็อกซ์ยากกว่าคนอีก แล้วมันฟังดูมนุษย์ ไม่ได้ดูแข็งเหมือนคอมพิวเตอร์เล่นดนตรี มันฟังดูมนุษย์แล้ว ความสามารถด้าน creative อื่นๆ AI มันเริ่มเก่งกว่าคนแล้ว ก็เลยเริ่มตั้งคำถามแล้วว่า แล้วฉันจะมีที่อยู่ไหมเนี่ยมนุษย์สาย creative ทั้งหลาย
ว่าด้วย A.I. ที่เล่นดนตรีได้และหมากล้อมวีดีโอนี้เป็นตอนจบของหนึ่งในพรีเซนเทชั่นงาน SXSW 2018 ที่ผมตกใจที่สุดในฐานะนักดนตรี“When AI, Beatboxing & Mixed Reality Collide” เป็นพรีเซนเทชั่นที่นักพัฒนาและสตูดิโอออกแบบเจ้าหนึ่งขื่อ The Mill มาแสดงความสามารถของ A.I. ที่บีทบอกซ์ได้ โดยการสาธิตนี้ เขาให้ Harry Yeff แชมเปี้ยนบีทบอกซ์ชาวอังกฤษ (ในวงการชื่อ Reep One) มาบีทบอกซ์คู่กับเสียงที่สร้างโดย A.I.สิ่งที่เห็นในวีดีโอคือ Harry จะบีทบอกซ์ก่อนประมาณ 2 ห้อง และเขาจะปล่อยให้ A.I. บีทบอกซ์โต้กลับมาเป็นจำนวนห้องเท่ากัน (นาทีที่ 0.14 – 1.12) ช่วงกลางๆจะเป็นการโต้กันแบบปล่อยให้มีช่องว่างหายใจบ้างหรือเล่นสวมกัน และช่วงหลังสุด (ประมาณนาทีที่ 2.00 – 2.50) จะเป็นการบีทบอกซ์โต้กันยาวๆประมาณฝ่ายละ 8 ห้อง หรือ 4 ห้อง และจบด้วยการให้ A.I. เล่นลากยาวไปโดยมี Harry ด้นสดสวนเข้ามาเป็นระยะๆ(วิธีสังเกตง่ายๆ ให้ดูช่วงที่ Harry ปล่อยไมค์จากปาก แต่ยังมีเสียง beatbox อยู่ คือ A.I. เป็นผู้ผลิตเสียงนั้นกลับมา)สิ่งที่ตกใจคือ A.I. ตัวนี้ไม่ได้โต้กลับมาเป็นโน๊ตเดียวกัน แต่เป็นการโต้กลับแบบ “คิดต่อมาให้” คือไม่ว่า Harry จะบีทบอกซ์อะไรไป A.I. ตัวนี้จะฟังประโยค และตอบกลับมาด้วยประโยคที่มีสำเนียงเดียวกันแต่เพิ่ม variation ให้แตกต่าง (โดยเกือบทุกครั้งจะเรียกได้ว่ายากกว่าที่ Harry ร้องไปทีแรกเสียอีก)A.I. ตัวนี้มีวิธีการทำงานคร่าวๆดังนี้1. รับฟังเสียงที่ input เข้ามา (ในกรณีนี้คือเสียงบีทบอกซ์)2. แยกเสียงเหล่านั้นเป็นไฟล์ midi (แยกสูง-กลาง-ต่ำ-สั้น-ยาว ออกจากกันเป็นประเภทๆ)3. เข้าไปค้นใน sound bank ว่าจังหวะที่ input มาให้นี้ มี “ความเป็นไปได้อื่นๆ” แบบใดอีกบ้าง – ตัวนี้คือเทคโนโลยีสำคัญ เพราะ sound bank นี้ไม่ได้เกิดจากการป้อนข้อมูลด้วยคน แต่เป็นการปล่อยให้เครื่องจักรเรียนรู้ความเป็นไปได้นี้ด้วยตัวเอง (machine learning)4.เลือกความเป็นไปได้หนึ่งที่เหมาะกับ input นี้ แล้วร้องตอบกลับมาและจากการสอบถาม ขั้นตอนทั้งหมดนี้จะถูกวิเคราะห์เสร็จ 1 ห้อง ก่อนที่ input จะเล่นจบเสมอ นั่นแปลว่าถ้ากำลังเล่นโต้กันที่ 4 ห้อง ช่วงที่ Harry ร้องจบห้องที่ 3 ยังไม่ทันจะขึ้นห้องสุดท้ายดี A.I. ตัวนี้ก็รู้แล้วว่าจะเล่นอะไรตอบกลับมาสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นไปไม่ได้ในฐานะนักดนตรีมาโดยตลอด เพราะเครื่องจักรด้านดนตรีที่เคยเห็นมาจนถึงตอนนี้ ถึงแม้จะมีข้อได้เปรียบมนุษย์อยู่บ้าง โดยเฉพาะความคงที่ด้าน Timing (ซึ่งกลายเป็นข้อเสียด้วยซ้ำ เพราะทำให้ดนตรีแข็งทื่อ) แต่เครื่องจักรไม่น่าจะมีความสามารถด้านความคิดสร้างสรรค์ได้เหมือนมนุษย์แต่นั่นก็อยุ่ที่ว่า เราจะนิยาม “ความคิดสร้างสรรค์” ว่าอย่างไรเพราะถ้าเรานิยามความคิดสร้างสรรค์คือ “ความสามารถในการเลือกทางเดินที่เป็นไปได้” วันนี้เครื่องนี้พิสูจน์แล้วว่าไม่น่าจะมีนักดนตรีคนไหนวิเคราะห์ความเป็นไปได้ ได้ไกลกว่าที่ A.I. กำลังทำอยู่เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงการแข่งหมากล้อมครั้งประวัติศาสตร์ ระหว่าง Alpha Go ที่เป็น A.I. กับ Lee Sedol นักหมากล้อมระดับโลก (ปัจจุบันอยู่ที่อันดับ 8 ของโลก) วันนั้นเป็นวันที่มนุษย์ต่างตกตะลึง เพราะท่ามกลางความคาดหวังของคนทั่วโลก Lee Sedol ได้พ่ายแพ้ให้กับ A.I. ในการแข่งหมากล้อมถึง 4-1 ทั้งๆที่ตัวเองประกาศไว้อย่างมั่นใจว่าจะชนะ 5-0 ซึ่งหลักการทำงานของ Alpha Go นั้นก็ก็เป็นไปในทางเดียวกับ A.I. ที่เล่นดนตรีได้ตัวนี้ คือปล่อยให้เครื่องจักรเรียนรู้ความเป็นไปได้ในการเล่นด้วยตัวเอง และภายในเวลาสั้นๆ A.I. ก็จะเรียนรู้และจำทางเดินที่เป็นไปได้ในจำนวนที่มากกว่ามนุษย์คนใดจะไปถึงได้ (Alpha Go ยังมีความสามารถอีกอย่างที่อาจจะไม่ได้ใช้กับงานดนตรีวันนี้ คือการมอง “เกมถัดไป” ไว้ล่วงหน้า ในการแข่งกับ Lee Sedol นั้น Alpha Go มองเกมไว้ประมาณ 150 หมากล่วงหน้า)ใครกันจะไปจดจำรูปแบบการเดินหมากได้เท่าคอมพิวเตอร์ และใครกันจะไปมองเกมล่วงหน้าได้ไกลกว่าคอมพิวเตอร์ เช่นเดียวกัน คงไม่มีนักดนตรีคนไหนจดจำรูปแบบการเล่น (เช่น pattern กลองในจังหวะต่างๆ) ได้มากไปกว่าคอมพิวเตอร์ในวงการหมากล้อม สิ่งที่น่าตกใจขึ้นไปอีกคือ Alpha Go Lee (ตั้งชื่อรุ่นตามตัวที่แข่งชนะ Lee Sedol) วันนี้ก็ถูกโค่นแล้วด้วย A.I. ตัวใหม่ชื่อ Alpha Go Zero และแพ้แบบย่อยยับถึง 100 ต่อ 0 โดยที่ Alpha Go Zero ผู้น้อง เพิ่งเรียนรู้วิธีการเล่นมาแค่ 3 วันเท่านั้น พัฒนาสูงไปจนกระทั่งเรียกได้ว่ามีหวังน้อยมากที่เราจะเห็นนักหมากล้อมมนุษย์ไปเล่นแข่งกับ A.I. แล้วชนะได้อีกและถึงแม้จะเป็น A.I. คนละตัวกัน แต่ถ้าเราลองมาเปรียบเทียบด้วยเรื่องราวเดียวกันแบบคร่าวๆ นั่นอาจจะแปลว่าถ้าเราปล่อยให้เครื่องจักรเรียนดนตรีด้วยตัวเอง เครื่องจักรนี้ก็อาจจะสามารถกลายเป็นนักดนตรีที่เก่งที่สุดในโลกในแง่ความหลากหลายของการเล่น ภายในการเรียนดนตรีแค่ 3 วันแล้วนักดนตรีจะตกงานมั้ย? มนุษย์ยังมีข้อได้เปรียบอะไรอยู่หรือเปล่า?ถ้ากลับไปที่หมากล้อม ผมคิดว่าคำตอบนี้อยู่ในหมากที่ 78 ของเกมที่ 4 – เกมเดียวที่ Lee Sedol เอาชนะ Alpha Go ได้ในการแข่งหมากล้อมครั้งนั้น หมากที่ 78 ของเกมที่ 4 มีคนเรียกการเดินหมากนั้นว่า “divine move” คือเป็นการเดินระดับเทพที่ไม่น่าจะมีมนุษย์คนไหนคิดออกมาได้ และตัว Alpha Go เองก็คาดไม่ถึง เพราะคิดว่ามีโอกาสเพียง 1 ใน 10,000 เท่านั้นที่มนุษย์จะเลือกเดินหมากนี้ และกลายเป็นหมากเซอร์ไพรส์ที่กดดันให้ Alpha Go วิเคราะห์หนทางชนะไม่เจอ จนต้องยอมแพ้ไปเมื่อใกล้จบเกมและเมื่อนักข่าวสัมภาษณ์ Lee Sedol ว่าทำไมถึงเลือกเดินหมากดังกล่าว เขาบอกว่าในช่วงเวลานั้น นั่นคือหมากเดียวที่เขานึกออกและรู้สึกมั่นใจ (ทั้งๆที่เครื่องบอกว่ามีโอกาสเดินแบบอื่นอีกเป็น 10,000 โอกาส) และเมื่อ “รู้สึก” ได้ดังนั้นแล้ว เขาก็เดินเลยเป็นการเดินโดยสัญชาติญาณ ที่เครื่องจักรยังไม่มีความสามารถที่จะเข้าใจในตอนนี้กลับมาที่เครื่องจักรดนตรี นักพัฒนาจาก The Mill เองก็บอกว่า การเล่นดนตรีด้วยอารมณ์ความรู้สึกนั้น ก็ยังเป็นสิ่งที่เครื่องจักรในปัจจุบันทำไม่ได้ กล่าวคือเครื่องไม่ได้เล่นออกมาด้วยอารมณ์เศร้า สนุก หรือตื่นเต้น แต่เป็นการตอบกลับมาจากการเลือกความเป็นไปได้เท่านั้น (คิดว่าเพื่อนนักดนตรีหลายคนฟังคงรู้สึกคล้ายผม ท่อนที่เครื่องจักรเล่นมันฟังดู “ไม่มนุษย์” เท่าไหร่)และนักพัฒนาเองก็ยอมรับว่าตราบใดที่เรายังวิเคราะห์ความซับซ้อนของอารมณ์ความรู้สึกมนุษย์ไม่ได้ เครื่องจักรก็ยังจะไม่สามารถเล่นดนตรีด้วยอารมณ์ความรู้สึกได้ เช่นเรายังบอกไม่ได้ว่าส่วนผสมที่เป็น factor ของความเศร้ามีอะไรบ้าง และด้วยบริบทแบบใดถึงกระตุ้นให้ส่วนผสมเหล่านี้ทำงาน และเหตุการณ์ใดต้องเศร้าน้อยหรือมาก และด้วยระดับความเศร้านั้น ตัวโน๊ตที่เลือกออกมาเล่นควรเป็นแบบใด และควรมีความซับซ้อนของตัวโน๊ตมากน้อยขนาดไหน แต่ด้วยความเก่งกาจของนักพัฒนา A.I. ปัจจุบัน ผมคิดว่าในอนาคตอีกไม่นานข้างหน้า เราน่าจะค่อยๆเห็นการพัฒนามาในทิศทางนี้เรื่อยๆแต่ไม่ว่าเรื่องราวจะเป็นอย่างไร หุ่นยนต์จะเล่นดนตรีได้จริงๆและเล่นได้ดีกว่าคนหรือไม่ ผมชอบคำตอบของพี่ Krating Poonpol ว่าแก่นของอนาคต ไม่ใช่การไปนั่งแข่งว่าใครจะเก่งกว่ากัน (เพราะ A.I. มันเก่งกว่าเราในบางเรื่องแน่ๆอยู่แล้ว ไม่ควรจะไปแข่งในเรื่องที่มันเก่งกว่า) แต่แก่นของอนาคตคือ “Human & Machine Hybrid Activity” การร่วมมือกันเพื่อใช้ความสามารถของแต่ละฝ่าย เพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์ที่สวยงามสุดมากกว่า (ฟัง presentation เต็มของพี่กระทิงได้ที่ https://youtu.be/21FlpSY9A10)เป็นอนาคตที่น่าติดตามและคุ้มค่าที่จะรอ ผมก็อยากเห็นการแสดงคอนเสิร์ตร่วมกันระหว่างคนและหุ่นยนต์ที่เล่นดนตรีได้ดีจริงๆสักทีเหมือนกัน
โพสต์โดย Pongsiri Hetrakul เมื่อ วันอังคารที่ 3 เมษายน 2018
สิ่งที่ภาคธุรกิจควรระวังตัวจากการเข้ามาของ AI
ดังนั้นแล้ว Production เบื้องต้น ไม่ต้องการระดับของงานศิลปะที่สูงมาก เช่น การทำเพลงโฆษณา เช่นการเขียนก๊อปปี้ในวงการโฆษณา มันมีความเป็นไปได้สูงว่า AI จะมา
จริงๆ แล้วที่เขาตกใจกันก็เพราะ ก่อนหน้านี้คนเขาปฏิเสธเรื่องนี้กัน เขาปฏิเสธว่า ไม่ AI มันต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้สิ อย่างมากมันก็คิดเลขเร็วกว่าเรา อย่างมากมันก็ process ข้อมูลทางสถิติได้เร็วกว่าเรา แต่ว่ามันย่อมคิดเองหรือ creative ไม่ได้ วันนี้มัน creative ได้และมันเก่งกว่าเราแล้ว
ทุกวันนี้ทุกคนอาจจะมีคำถามนะครับว่า แล้วถ้าปัญญาประดิษฐ์มันมีความสามารถสูงมาก มนุษย์เรายังมีพื้นที่ไหนที่เหลืออยู่ให้เก่งกว่าปัญญาประดิษฐ์บ้างหรือเปล่า
การใช้ความรู้สึกและสัญชาติญาณ (Empathy) คือสิ่งที่มนุษย์ยังทำได้ดีกว่าปัญญาประดิษฐ์ อย่างน้อยก็ในระยะนี้พักใหญ่ๆ ดังนั้นถ้าเกิดจะถามว่า เราจะมีความสามารถมากกว่าปัญญาประดิษฐ์ได้มากกว่าตรงไหน
คำตอบก็คือ Empathy มันคือสิ่งที่เราต้องรักษาไว้ แล้วก็พัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ จะเป็นสิ่งที่ในอนาคต ปัญญาประดิษฐ์ยังแย่งงานเราไม่ได้