Toyota เผยตัวเลฃสถิติการจำหน่ายรถยนต์ปี 2564 พร้อมคาดการณ์ตลาดรถยนต์ไทยปี 2565 อยู่ที่ 2.84 แสนคัน พร้อมประกาศวิสัยทัศน์เตรียมนำรถยนต์ไฟฟ้า สู้ศึกตลาดรถยนต์ในปี 2573 นี้
มร. โนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า อย่างที่ทุกท่านทราบกันดีว่าปี 2564 เป็นปีที่สถานการณ์โรคโควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์อย่างต่อเนื่อง
อีกทั้งยังเกิดปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิต เช่น ปัญหาชิปขาดตลาด ด้วยเหตุนี้ ยอดขายรวมภายในประเทศจึงอยู่ที่ราว 759,119 คัน หรือลดลง 4.2% เมื่อเทียบกับปี 2563
ดังนั้น สถิติการขายรถยนต์ในปี 2564 เมื่อเทียบยอดขายระหว่างปี 2564 กับปี 2563 พบว่า
- ปริมาณการขายรวม 759,119 คัน ติดลบ 4.2%
- รถยนต์นั่ง 251,800 คัน ติดลบ 8.4%
- รถเพื่อการพาณิชย์ 507,319 คัน ติดลบ 1.9%
- รถกระบะ 1 ตัน (รวมรถกระบะดัดแปลง) 393,476 คัน ติดลบ 3.9%
- รถกระบะ 1 ตัน (ไม่รวมรถกระบะดัดแปลง) 341,452 คัน ติดลบ 6.4%
“สำหรับยอดขายของโตโยต้าในปี 2564 นั้น ยอดขายรวมของเราอยู่ที่ประมาณ 239,723 คัน หรือลดลง 1.9% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และเรายังคงครองส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 1 หรือเท่ากับ 31.6% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมด ซึ่งหากว่ากันตามตรง ถือว่าต่ำกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ แต่ถ้าเราดูยอดขายของปีที่แล้วจะเห็นได้ว่าสถานการณ์ของเราเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นมา
สืบเนื่องมาจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่งขึ้น ตลอดจนการดำเนินกิจกรรมทางการตลาดที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตแบบใหม่ เช่น การขายผ่านช่องทางออนไลน์ ถ้าเราลองดูที่ยอดขายของโตโยต้าในระหว่างช่วงไตรมาสที่ 2 ถึงไตรมาสที่ 4 จะเห็นได้ว่าส่วนแบ่งทางการตลาดของเราอยู่ที่ 32.5% ซึ่งเป็นระดับที่ไกล้เคียงกับในปี 2562 หรือช่วงก่อนที่โรคโควิด-19 จะระบาด โดยในส่วนของยอดขายของไฮลักซ์ รีโว่ นั้น มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 39.1% ซึ่งสูงกว่าของปี 2562 ในขณะที่ เอทีฟ และ ยาริส นั้น ก็สามารถครองอันดับ 1 ในตลาดรถ อีโคคาร์”
“ในส่วนของตลาดรถยนต์อเนกประสงค์ โตโยต้ามียอดขายรวมทั้งปีเป็นอันดับ 1 ถึง 2 ปีซ้อน ด้วยยอดขายที่สูงเป็นประวัติการณ์ของโคโรลลา ครอส ส่วนฟอร์จูนเนอร์เองก็มียอดขายเป็นอันดับ 1 ในตลาดรถกระบะดัดแปลงต่อเนื่องมาเป็นเวลา 10 ปี ในขณะเดียวกัน คัมรี ก็ครองอันดับ 1 ในตลาดรถยนต์ขนาดกลาง ส่วนไฮเอซก็ครองอันดับ 1 ตลอดกาลเช่นกันสำหรับในตลาดรถตู้ ซึ่งเราขอแสดงความขอบคุณต่อลูกค้าคนสำคัญและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านที่ได้สนับสนุนเราเป็นอย่างดีเสมอมา”
สถิติการขายรถยนต์ของโตโยต้าในปี 2564
- ปริมาณการขายโตโยต้า 239,723 คัน ทำให้มีส่วนแบ่งตลาด 31.6%
- รถยนต์นั่ง 62,403 คัน ทำให้มีส่วนแบ่งตลาด 24.8%
- รถเพื่อการพาณิชย์ 177,320 คัน ทำให้มีส่วนแบ่งตลาด 35.0%
- รถกระบะ 1 ตัน (รวมรถกระบะดัดแปลง) 151,501 คัน ทำให้มีส่วนแบ่งตลาด 38.5%
- รถกระบะ 1 ตัน (ไม่รวมรถกระบะดัดแปลง) 128,639 คัน ทำให้มีส่วนแบ่งตลาด 37.7%
แนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปี 2565
อย่างไรก็ตาม เมื่อกล่าวถึงแนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปี 2565 คุณยามาชิตะคาดว่า “เป็นไปได้ว่าโควิด-19 จะยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เราคาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะกลับคืนสู่สภาวะปกติอย่างค่อยเป็นค่อยไปพร้อมๆ กับการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจโดยรวมทั้งหมด นอกจากนี้ ประชาชนเองก็เรียนรู้วิธีการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับสถานการณ์โรคโควิด-19 ให้ได้อย่างปลอดภัยแล้ว ส่วนปัญหาชิ้นส่วนการผลิตขาดตลาดก็จะค่อยๆ คลี่คลายลงเช่นกัน เราคาดหวังว่าอุตสาหกรรมยานยนต์จะกลับคืนสู่สภาวะปกติและคาดการณ์ว่ายอดขายรถยนต์ในปี 2565 จะอยู่ที่ 860,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 13.3% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว”
ปริมาณการส่งออกรถยนต์และการผลิตของโตโยต้าในปี 64 และเป้าหมายปี 65
ในด้านการส่งออกรถยนต์ ในปี 2564 โตโยต้าได้ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปไปราว 292,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 35.5% จากปี 2563 โดยยอดรวมการผลิตรถยนต์สำหรับการขายภายในประเทศและการส่งออกในปี 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 514,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 16.1% จากปี 2563
“สำหรับเป้าหมายการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปของโตโยต้าในปี 2565 นี้ เราคาดว่าความต้องการของตลาดต่างประเทศจะเพิ่มสูงขึ้น โดยเราตั้งเป้าปริมาณการส่งออกรถยนต์อยู่ที่ 371,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 27.2% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และเราตั้งเป้าการผลิตรถยนต์ทั้งหมดของปี 2565 อยู่ที่ ราว 647,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 25.9% จากปีที่ผ่านมา
ทิศทางดำเนินงานในไทยและกลยุทธ์สู่อนาคต
มร. ยามาชิตะ กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมาครบ 60 ปี และเรากำลังเตรียมพร้อมก้าวเข้าสู่อนาคตที่สดใสยิ่งขึ้น พร้อมปรับเปลี่ยนตัวเราเองสู่การ ‘เป็นผู้นำพาการขับเคลื่อนยุคใหม่เพื่อเสริมสร้างความสุขของผู้คน และความยั่งยืนของสังคม’ เราขอให้คำมั่นว่าจะมอบความสุขให้กับประชาชนชาวไทยและ ‘เติบโตเคียงคู่ไปกับสังคมไทย’ ผ่านการนำเสนอยานยนต์เพื่อการขับเคลื่อน ตลอดจนบริการและโซลูชั่นส์ต่างๆ เพื่อส่งเสริมการขับเคลื่อนด้วยเช่นกัน
โดยเราได้ออกแบบโลโก้ฉลองครบรอบ 60 ปีที่มาพร้อมกับแท็กไลน์ ‘Move Your World’ หรือในภาษาไทยคือ ‘ร่วมขับเคลื่อนอนาคต’ เพื่อสะท้อน ‘พลังและการขับเคลื่อนไปข้างหน้า’ แสดงให้เห็นว่าในอนาคต โตโยต้าจะนำเสนอยานยนต์พลังงานไฟฟ้าเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ตลอดจนสร้างสรรค์เทคโนโลยีการเชื่อมต่อเพื่อให้ลูกค้าได้รับการบริการที่ยอดเยี่ยมสมบูรณ์แบบ”
นอกจากนี้ กลยุทธ์ด้านยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ ยังได้ประกาศไว้ว่าโตโยต้าจะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ครบทั้ง 30 รุ่น ภายในปี 2573 โดยรวมไปถึงรถซีรีส์ bZ จำนวน 5 โมเดล ซึ่งมาพร้อมกับแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นมาสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่โดยเฉพาะ โตโยต้ามุ่งมั่นที่จะขายรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ให้ได้ทั้งสิ้น 3.5 ล้านคัน ภายในปี 2573
ทั้งนี้ โตโยต้าทุ่มเงินลงทุน 1.2 ล้านล้านบาทเพื่อพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ โดยที่เงิน 0.6 ล้านล้านบาทนั้นเป็นการลงทุนด้านแบตเตอรี่ และยังลงทุนอีก 1.2 ล้านล้านบาท สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด รถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอินไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้าแบบเซลล์เชื้อเพลิง ภายในปี 2573
ในประเทศไทยนั้น โตโยต้าเป็นผู้ริเริ่มแนะนำเทคโนโลยีด้านยานยนต์ไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2552 โดยครองส่วนแบ่งการตลาดอยู่ถึง 80% และมีการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าของโตโยต้ามากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน เราสามารถลดคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปได้ 148,000 ตัน ซึ่งเท่ากับการปลูกต้นไม้ 2 ล้านต้น
อีกทั้งในปีที่แล้ว เรายังได้ทำการแนะนำ เลกซัส UX300e ซึ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ และ เลกซัส NX450h+ ซึ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอินไฮบริด สำหรับแบรนด์โตโยต้า เรามีแผนที่จะทำการแนะนำ bZ4X ซึ่งถือเป็นรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกของซีรีส์ bZ ออกสู่ตลาดภายในปีนี้
ยิ่งไปกว่านั้น เราจะพยายามส่งเสริมให้มีการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศให้มากยิ่งขึ้น เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตหลักสำหรับการประกอบรถยนต์ไฟฟ้าอีกหลากหลายรุ่นต่อไปในอนาคต ซึ่งความมุ่งมั่นดังกล่าวสอดคล้องกับแนวทางของภาครัฐที่มุ่งเดินหน้าส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้า การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ตลอดจนการบรรลุเป้าหมายการลดคาร์บอนให้เป็นศูนย์
นอกจากนี้ เรายังได้มีการประสานความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรที่มีเป้าหมายเดียวกัน เพื่อพยายามผลักดันการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนโดยครอบคลุม ‘ตลอดทั้งวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์’ ยกตัวอย่างเช่น ‘โครงการพัฒนาเมืองต้นแบบที่ยั่งยืนโดยปราศจากมลภาวะ’ ซึ่งเราจะสาธิตให้เห็นถึงการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าหลากหลายประเภทในการเดินทางคมนาคม ภายในเมืองพัทยา และเราได้เริ่มต้นศึกษาความเป็นไปได้ในการริเริ่มใช้โครงสร้างพื้นฐานพลังงานสะอาด เช่น ไฮโดรเจน พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานชีวภาพ ใน ‘นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด’ อีกด้วย