Site icon Thumbsup

เปลี่ยนขยะให้เป็นเงิน กระตุ้นคนไทยรักษ์โลกแบบ Trash Lucky

เรื่องของการรักษ์โลกด้วยการแยกขยะนั้น เป็นเรื่องที่หน่วยงานภาครัฐอย่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เกี่ยวกับการจัดแยกขยะ นำขยะกลับมารีไซเคิลยาวนานหลายปี แต่ก็มีเสียงตอบรับจากประชาชนน้อยมาก จนมาถึงยุคปัจจุบันที่มีการยกเลิกใช้งานถุงพลาสติก นำพลาสติกกลับมาใช้งานซ้ำ พกแก้ว ถุง ขวด มาใช้งานซ้ำเพราะอย่างน้อยก็ช่วยให้ประชาชนตระหนักมากขึ้นว่าโลกของเราแย่ลงไปทุกวัน ด้วยมลภาวะ สภาพอากาศที่แปรปรวน

Trash Lucky เป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพที่ทำเรื่องการแยกขยะ โดยให้ประชาชนแยกขวดพลาสติกออกจากขยะประเภทอื่นๆ จากนั้นทาง Trash Lucky จะมีทีมไปรับขยะรีไซเคิลเหล่านี้ จากนั้นจะได้รับคูปองชิงโชคเพื่อลุ้นรับรางวัลใหญ่

ทีมงาน thumbsup ได้รับเกียรติสัมภาษณ์คุณณัฐภัค อติชาตการ ผู้ก่อตั้ง Trash Lucky ที่จะมาเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ Trash Lucky ให้เราฟังอย่างน่าสนใจเลยทีเดียว

Trash Luck คืออะไร

คุณณัฐภัค : Trash Lucky เป็นสตาร์ทอัพที่เชิญชวนให้คนไทยหันมาแยกขยะรีไซเคิลและลุ้นรางวัล วิธีการคือเริ่มแยกขยะ ส่งมาแลกเป็นตั๋วจับสลาก เรารับพลาสติกที่เป็นขวดน้ำใส ขวดนมขาวขุ่น ภาชนะ PP ที่ไมโครเวฟได้และกระป๋องอลูมินั่มแค่ส่งมาก็จะได้ตั๋วรางวัลตามปริมาณที่ส่งมา รางวัลใหญ่เป็นทองหนึ่งสลึง รางวัลถัดมาก็เป็นบัตรกำนัลช้อปปิ้งทั้งหลาย เป้าหมายของเราก็คือการสร้างแรงจูงใจให้คนหันมารีไซเคิลห่างไกลจากหลุมฝังกลบและทะเลครับ

เหตุผลที่สร้าง Trash Lucky ขึ้นมา

คุณณัฐภัค : ผมเนี่ยเป็นคนรักทะเลอยู่แล้ว ชอบเซิร์ฟ ชอบดำน้ำ และเบื่อหน่ายกับการเก็บขยะพลาสติกลงทะเลทุกที ในแต่ละปีจะมีขยะกว่า 8 ล้านตันต่อปี ประเทศไทยมีการทิ้งขยะลงทะเลเป็นอันดับที่ 6 ของโลก ผมก็เลยคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนไทยหันมาแยกขยะและรีไซเคิล ไม่ทิ้งขยะพลาสติก ถ้าเราจะเปลี่ยนให้เป็นขยะรางวัลแต่ละปีคนไทย 20 ล้านคน ซื้อลอตเตอรี่เป็นเงิน 2.5 แสนล้านบาท ถ้าเราทำสำเร็จเรื่องมูลค่าพลาสติกอาจจะเปลี่ยนมุมมองให้คนหันมาเห็นคุณค่า แทนที่จะไปลงท่อน้ำก็มาทำขยะรีไซเคิลกับเรา

คนไทยกลุ่มไหนใส่ใจเรื่องรักษ์โลก

คุณณัฐภัค : คนกลุ่มที่จะใส่ใจพวกเรื่องขยะ กลุ่มแรกคือ Eco lover คือกลุ่มที่รักษ์โลกรักสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว คนพวกนี้เค้าอยากจะหาช่องทางที่เชื่อถือได้ว่าวัสดุที่มันรีไซเคิลได้เนี่ยเมื่อเค้าแยกแล้วจะถูกนำไปเข้ากระบวนการเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ได้จริงๆ

แต่คนพวกนี้ยังเป็นส่วนน้อยของประชากรทั้งหมดอยู่ เราก็เลยคิดว่าจะสร้างให้ประชากรส่วนใหญ่หันมารีไซเคิลและปั้นให้รางวัลมากขึ้นเป็นระดับล้านเลย

ผมคิดว่าคน gen Y และ gen Z เค้ามีการตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมและมลพิษที่มนุษย์สร้างมามากขึ้นอาจจะเป็นเพราะว่าเค้าอาจจะต้องรับภาระพวกขยะที่คนรุ่นก่อนๆ สร้างไว้ก็ได้ หรืออย่างน้องเกรด้า คนที่อายุไล่เลี่ยกับเขาหันมาตื่นตัวเรื่องพวกนี้มากขึ้น รวมทั้งโซเชียลมีเดียกระจายข่าวได้ทั่วถึงมากขึ้น

เส้นทางของขยะที่อาจเป็นปัญหาสำคัญให้ขยะล้นเมือง

คุณณัฐภัค : การเดินทางของขยะเริ่มจากถังขยะที่ทิ้งไปเนี่ย แล้วแต่ดวงของขยะว่าจะมี informal sector เช่น แม่บ้าน ภารโรง คนเก็บขยะ ซาเล้งที่มาหาวัสดุรีไซเคิลขายได้ในขยะ เพื่อไปขายร้านรับซื้อของเก่า และร้านรับซื้อค่อยทะยอยขายนายหน้าและโรงงานที่รีไซเคิลอีกที

เพราะฉะนั้นมันก็เป็นอีโคซิสเต็มที่เวิร์คอยู่แต่ผมว่าเราสามารถ improve efficiency เหล่านี้ได้ เพราะอย่างที่บอกว่ามันขึ้นอยู่กับดวงของขยะ ถ้าไม่ถูกคนเหล่านี้แยกก็จะต้องไปอยู่หลุมฝังกลบขยะก่อนและถูกขุดขึ้นมาขายอีกที ถ้าเราทำให้เป็นเส้นตรงไปที่โรงงานดีกว่าก็จะช่วยลดพลังงานตรงนี้ในอีโคซิสเต็มด้วย

ปัญหาของการ Collecting และ pulling เนี่ยคือการไปเก็บและรวมยังไม่ efficient เพราะคนไม่แยกขยะ ก็ต้องแล้วแต่ว่าจะมีคนอื่นมาแยกให้ไหม และแยกให้ไปขาย ถ้าไม่มี ขยะนั้นก็จะถูกกลบไปในหลุมขยะ ถ้าคนไม่ทิ้งลงถังขยะเลยก็จะตกไปสู่สิ่งแวดล้อม

ในปัจจุบันนี้พอเราไม่แยกพวกวัสดุรีไซเคิลออกจากขยะเนี่ย มันก็จะไปปนเปื้อนอะไรไม่รู้ในถังขยะ เช่น ผ้าอ้อม อาหาร น้ำมัน การเอามาทำความสะอาดก้ต้องใช้ความพยายามเยอะขึ้น ถ้าแยกตั้งแต่แรก ก็เอาไปใช้ใหม่ได้ แต่ไม่แนะนำให้ใช้นะครับ พอขยะสะอาดขึ้นก็เหมือนวัสดุเกรดเอที่เราใช้แปรรูปวัสดุใหม่ได้ง่ายกว่าเดิม

พวกพลาสติกเนี่ยโดยรวมเวลาส่งให้โรงงานก็จะแปรรูปเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิล ซึ่งจะเอาไปผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกใหม่ๆ ได้ เช่น ขวดน้ำก็เอาไปผลิตเป็นเม็ดพลาสติกและผลิตใหม่ได้ แต่ในไทยยังมีกฏหมายห้ามไม่สามารถนำเมล็ดพลาสติกไปผลิตเป็นขวดน้ำได้ก็เลยต้อง export สองคือเปลี่ยนมาเป็น โพลีเอสเตอร์ ก็ได้ มีบริษัทจากหลายๆ ประเทศ อย่าง Adidas ก็เริ่มทำรองเท้าที่เป็นโพลีเอสเตอร์จากขวดที่ใช้แล้ว

สร้างการรับรู้โอกาสรักษ์โลกของ Trash Lucky

คุณณัฐภัค : คิดว่าทุกอย่างคงต้องเริ่มจาก education ให้ข้อมูลก่อนว่า ความสำคัญของการรักษาสิ่งแวดล้อมคืออะไร คนแต่ละกลุ่มอาจมองเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่เหมือนกัน เช่น ผู้สูงอายุแคร์เรื่องสุขภาพ ความเป็นอยู่ของลูกหลานมากกว่าเรื่องขยะที่กระทบสัตว์ทะเล พอพูดถึงไมโครพลาสติก ทางผู้ใหญ่จะกังวลว่ากินเข้าไปแล้วอันตรายกับตัวเองหรือเปล่า เรายังกินปลาทูได้หรือเปล่า ปลาทูให้ลูกหลานได้หรือเปล่า แต่ถ้าเราโชว์ภาพเต่ากินพลาสติกหรือหลอดเราจะได้รีแอคชั่นจากเด็กๆ มากกว่า เพราะเค้าจะสงสารสัตว์พวกนี้มากกว่า ทำให้ต้องเลือกว่าจะให้ information ไหนเหมาะกับ target ไหน เพื่อให้เค้าตระหนักกับอิมแพคที่เค้าสร้างขึ้นมากับปัญหาขยะ

ความร่วมมือกับองค์กรใหญ่

คุณณัฐภัค : องค์กรใหญ่ๆ ที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมก็มีเยอะขึ้น อย่างที่ทราบว่าวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา ที่ไม่สามารถใช้ถุงพลาสติกซื้อของได้ละ ก็ยังมีโอกาสอีกเยอะที่บริษัทจะทำได้ เช่น มีการแยกขยะในองค์กรไหม องค์กรที่ต้องการลดใช้พลาสติก ลองปรับเปลี่ยนให้พนักงานหรือคนในองค์กรไม่ต้องใช้พวกบรรจุภัณฑ์หรือวัสดุพลาสติกได้ไหม อย่างเช่น การหา material ให้กลับมาใช้งานซ้ำ (recycle) ให้พนักงานพกอุปกรณ์ส่วนตัวมาเติมเครื่องดื่มหรืออาหารกินในองค์กร (refill) หรือถ้าเป็นสินค้ากลุ่ม FMCG ที่มีสินค้าเยอะมาก ลองเอาสินค้ารีไซเคิลไปปรับใช้กับตัวสินค้าที่มีอยู่เยอะได้ไหม 

“ผมคิดว่าพลาสติกก็ไม่ได้แย่อะไรนะครับ ส่วนตัวก็เป็นวิศวะมาก่อนก็คิดว่าพลาสติกเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ดีมาก ถ้าเราไปดูความตั้งใจ (intention) ของคนที่เขาผลิตพลาสติกออกมาครั้งแรก คือเขาต้องการแก้ปัญหาคนตัดต้นไม้เพื่อไปทำถุงกระดาษ แล้วคนที่ประดิษฐ์เวลาเค้าใช้ก็จะใช้ซ้ำ โดยพับเก็บไว้ในกระเป๋าและนำมาใช้ซ้ำเรื่อยๆ อันนี้คือเป้าหมายที่แท้จริงของการใช้พลาสติกหรือวัสดุอะไรก็ได้อย่างคุ้มค่า แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ over consumption พอมาถึงในยุคอุตสาหกรรม (industrialization) มันทำให้ราคาต้นทุนการผลิตต่ำมาก เราจึงใช้ได้แบบไม่ต้องกังวล” 

หากมองในแง่ลบคือมีเยอะเกินไป คนก็เลยไม่เห็นค่าของพลาสติก เพราะต้นทุนราคาเพียงไม่กี่สตางค์ ใช้เสร็จแล้วทิ้งก็ได้เลย แต่อันนี้ไม่ใช่วัตถุประสงค์ที่คนคิดค้นต้องการจริงๆ ในเรื่องเป้าหมายที่มุ่งหวังให้คนหันมาใช้พลาสติก

ดังนั้น ผมคิดว่าถ้าเป็นผมคงไม่เลือกการแบน (Ban) พลาสติกไปเลย แต่จะเลือกการเก็บภาษี (tax) พลาสติกบริสุทธิ์ (virgin plastic) ที่ผลิตมาจากพลาสติกเม็ดใหม่ เชื่อว่าจะส่งผลสามอย่างคือ

  1. ต้นทุนแพงขึ้นคนก็เลือกใช้พลาสติกลดลง เพราะมีต้นทุนในการใช้งานแล้วไม่ได้ใช้ได้ฟรีอีกต่อไปก็จะยั้งคิดในการใช้งานครั้งต่อไป
  2. กระตุ้นให้เกิด R&D ใหม่ๆ ของวัสดุที่จะเข้ามาทดแทนการใช้งานพลาสติกได้ ตอนนี้ที่เห็นส่วนมากยังเป็นวัสดุที่ต้องอยู่ในกระบวนการย่อยสลายเองไม่ได้ต้องช่วยกำจัด
  3. ราคาของวัสดุรีไซเคิลต้องมีมาตรฐานที่เหมาะสมกับการมาสู้กับพลาสติกได้ เพราะวันนี้ต้นทุนในการผลิตอุปกรณ์รีไซเคิล อย่างจาน ขวด กระติกน้ำ ยังมีต้นทุนสูงกว่าถุงพลาสติกเสียอีก

ดังนั้น ผมมองว่าการใช้ยาแรงก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือก ถ้าอยากได้ผลเร็วก็ต้องแบนมันเลย แต่อาจจะควบคุมผลข้างเคียงไม่ได้แต่ทำให้เกิดการยั้งคิดมากขึ้น เช่น คนไทยจะเลือกใช้ถุงพลาสติกที่ใส่ของมาเป็นถุงขยะ หากมีปริมาณถึงเล็กลดลง เขาก็อาจจะเลือกซื้อถุงที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาใส่ขยะแทนถุงช้อปปิ้งเล็กๆ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยให้จำนวนถุงลดลง หรือถ้ามีการเก็บค่าถุงหรือภาษีอาจจะกระตุ้นให้คนหันมามองถุงที่ย่อยสลายได้มากขึ้น ทำให้ราคาถุงย่อยสลายสามารถสู้กับถุงพลาสติกได้ดีขึ้น

ภาครัฐควรช่วยสนับสนุนอย่างไรให้ติดจรวด

คุณณัฐภัค : ในความคิดเห็นของผมอยากจะหาพาร์ทเนอร์ 3 ส่วนด้วยกัน คือ บริษัทโลจิสติกที่มีการวิ่งรถเปล่าส่งของอาจจะกลับมาช่วยรับพลาสติกจากสมาชิกของเราได้ไหม จะได้เป็นการเพิ่ม capacity และ utilize ของรถ ไม่ต้องเพิ่มคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ และยังช่วยเรื่องการรับขยะด้วย

ส่วนที่สองคือ อยากให้ร้านค้ารีเทล มาร่วมเป็นพาร์ทเนอร์จุด drop off สินค้ารีไซเคิลของเราในแต่ละพื้นที่ หากมีคนอาศัยอยู่ใกล้พื้นที่ไหน ก็สามารถนำวัสดุเหล่านี้มาฝากไว้ และทางเราก็จะมารับขยะเหล่านี้ไปก็จะช่วยเรื่องความสะดวกกับสมาชิกเพราะเขายินดีที่จะมาในเส้นทางที่สะดวกอยู่แล้ว ลดปริมาณมลภาวะในอากาศที่ต้องขับรถไปรับแต่ละบ้าน ทำให้ในแต่ละวันเราเก็บขยะรีไซเคิลเหล่านี้ได้น้อย

และส่วนที่สามคือ สปอนเซอร์ในเรื่องของรางวัลต่างๆ หากมีบริษัทที่สนใจอยากเข้าร่วมมาเป็นส่วนหนึ่งในเรื่องของการสปอนเซอร์ของรางวัลเพื่อจูงใจให้คนเปลี่ยนพฤติกรรม อาจไม่ต้องเป็นเงินแต่เป็นบัตรกำนัล ส่วนลดร้านอาหาร โรงแรมต่างๆ ก็น่าจะช่วยดึงดูดให้คนอยากมาร่วมกับลดปริมาณขยะกับเราได้มากขึ้นเช่นกัน

ทางด้านของภาครัฐ สิ่งที่เราอยากให้มาช่วยสนับสนุนเรื่องความยั่งยืนของสตาร์ทอัพ (sustainable startups) ไม่ว่าจะเป็น เงินทุน (grant) หรือภาษี (tax rate) ก็เป็นส่วนสำคัญให้พวกเขามีโอกาสเดินหน้าและพัฒนาสินค้าหรือบริการออกมาตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ดีขึ้น ช่วยให้ธุรกิจสตาร์ทอัพติดจรวดได้ดีกว่าเดิม