เอ่ยถึงประเทศญี่ปุ่น คงต้องยอมรับว่าเป็นประเทศที่คนไทยนิยมไปเที่ยวเป็นอันดับต้นๆ แถมอัปรูปทริปญี่ปุ่นกันเต็มหน้าฟีด แต่ในวันที่เราโพสต์รูปในประเทศของพวกเขาใน Social Media นั้น ทราบหรือไม่ว่า Social Media ที่ชาวญี่ปุ่นนิยมใช้กันคือแพลตฟอร์มไหนบ้าง วันนี้เราจึงมองหาตัวเลขน่าสนใจเกี่ยวกับการใช้งาน Social Media ของชาวญี่ปุ่นมาฝากกันค่ะ
โดยข้อมูลจากรัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่า ภายในปี 2018 จะมีชาวญี่ปุ่นประมาณ 75 ล้านคนใช้งาน Social Media หรือคิดเป็น 50% ของจำนวนประชากร โดยตัวเลขจากทางรัฐบาลนี้ไม่ได้ระบุว่าเป็นการใช้เพื่อส่วนตัวหรือใช้เพื่อติดต่อธุรกิจ แต่มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นทุกปี
สำหรับผู้เล่นรายใหญ่ในตลาด Social Network ของญี่ปุ่นมี 4 รายได้แก่ LINE, Twitter, Facebook และ Instagram ซึ่งตัวเลขผู้ใช้งาน Social Network ของญี่ปุ่นนั้นอยู่ที่ 142 ล้านคนต่อเดือน (สูงกว่าจำนวนประชากร) โดย LINE มีผู้ใช้งานเป็นประจำทุกเดือนอยู่ที่ 64 ล้านคน กลุ่มผู้ใช้งานหลักคือกลุ่มเด็กวัยรุ่น แต่ก็มีกลุ่มผู้ใช้งานที่อายุมากกว่า 50 ปีใช้ LINE ด้วยเช่นกัน (18%) ผลก็คือ LINE ถูกจัดเป็นแอปพลิเคชันที่มีการใช้งานในวงกว้างทุกกลุ่มอายุของญี่ปุ่น
ขณะที่ Twitter นั้นผู้ใช้งานส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัย 20 ปี ส่วน Facebook นั้นได้รับความนิยมในกลุ่มอายุ 25 – 34 ปี และ Instagram นั้นได้รับความนิยมในกลุ่มเด็กผู้หญิงวัยรุ่น
สำหรับความเปลี่ยนแปลงของเทรนด์การใช้ Social Media ในญี่ปุ่นนั้นค่อนข้างคล้ายคลึงกับเทรนด์ของโลก โดยในปี 2016 ที่ผ่านมา ชาวญี่ปุ่นหันมานิยมคอนเทนต์ประเภทวิดีโอมากขึ้น
ส่วน LINE นั้นในปี 2016 เป็นแพลตฟอร์มที่บริษัทญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการทำกิจกรรมการตลาด และโฆษณาสูงมาก เช่น Stamp ที่มีบริษัทต่าง ๆ ผลิตออกมาแข่งกันมากมาย
ขณะที่ Facebook จะให้ภาพลักษณ์ที่ดูเป็นทางการมากกว่า เพราะผู้ใช้งานต้องลงทะเบียนด้วยชื่อของตัวเอง และความที่ชาวญี่ปุ่นจะรักษาภาพลักษณ์อย่างมาก จึงทำให้คอนเทนต์ที่ปรากฏบน Facebook ของญี่ปุ่นนั้นเป็นทางการจนดูคล้าย ๆ กับ LinkedIn กันเลยทีเดียว
และผลจากความเป็นทางการนี้เอง ทำให้ในปี 2016 ที่ผ่านมา ยอดโพสต์ของผู้ใช้งานชาวญี่ปุ่นบน Facebook ลดลง 21% จน Facebook ต้องหันมาปรับกลยุทธ์ใหม่กันจ้าละหวั่น
ส่วน Twitter นั้น เป็นอีกแพลตฟอร์มหนึ่งที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย ซึ่งเหตุผลหลักที่ทำให้ Twitter ได้รับความนิยมมาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่ฟุกุชิมะ ที่ Twitter สามารถใช้งานได้และเป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารที่ดีตัวหนึ่งนั่นเอง
สำหรับ YouTube นั้น แม้จะไม่ติดอันดับ แต่ก็ได้รับความนิยมสูงมากในญี่ปุ่นเช่นกัน โดยมีชาวญี่ปุ่นหลายคนฝันอยากมีอาชีพเป็น YouTuber โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ เพราะมองว่า นี่เป็นโอกาสในการมีชื่อเสียง และการได้แสดงออกถึงตัวตน และเอกลักษณ์ผ่านทาง YouTube ด้วย โดยปัจจุบัน YouTuber ระดับท้อปของญี่ปุ่นมีผู้ติดตามถึง 4 ล้านคนเลยทีเดียว
ที่มา: Japanbuzz