คำกล่าวที่คนชอบพูดกันว่า “4G เปลี่ยนพฤติกรรมคน 5G เปลี่ยนสังคม” กำลังจะเกิดขึ้นแล้ว เมื่อตอนนี้กว่า 80-90% ของประชากรไทยและทั้งโลกเปลี่ยนจากเครื่องมือถือปุ่มกดที่ใช้รับสายมาเป็นการสื่อสาร การทำธุรกรรม การเข้าสังคมและไลฟ์สไตล์ในชีวิตประจำวันไปแล้ว
จึงไม่ค่อยเป็นที่น่าแปลกใจว่าทำไมคนยุคนี้ อยากได้การเชื่อมต่อที่เร็วขึ้นไปอีกจนเรียกได้ว่าเพียงเสี้ยววินาทีก็รออีกต่อไปไม่ได้แล้ว ทั้งที่สมัยก่อนการเชื่อมต่อเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในแต่ละครั้งต้องรออย่างน้อย 30-45 นาทีก็ยังต้องรอ
แม้ว่า TRUE จะเข้ามาเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเป็นรายท่ีสาม แต่ในวันนี้ก็เรียกได้ว่ามีจำนวนผู้ใช้งานห่างกับผู้ให้บริการสองรายก่อนหน้าแบบหายใจรดต้นคอกันแล้ว
แน่นอนว่าหากเป็นในยุคเริ่มต้น การแข่งขันคงเป็นเรื่องของค่าบริการ แพคเกจ ค่าเครื่องหรือโปรโมชั่นที่ตัดราคากันสนุกสนาน แต่พอมายุคของ 5G นั้น แม้การแข่งขันเรื่องเดิมๆ จะยังมีการแข่งขันกันอยู่ไม่ได้หายไป แต่สิ่งที่ต้องเน้นเป็นอันดับแรกๆ คือเน้นเรื่องความพึงพอใจของลูกค้าในการเชื่อมต่อ บริการหลังการขายที่ตอกย้ำภาพแบรนด์ และเรื่องของสิ่งอำนวยความสะดวกที่ลูกค้าสามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลา
บทความนี้เป็นบทความที่ 2 ต่อจากเรื่อง ทำความรู้จัก China Mobile กับเทคโนโลยี 5G ที่ TRUE จะถอดบทเรียนมาใช้งานในไทย ที่ผู้เขียนได้ร่วมสัมภาษณ์ ดร.กิตติณัฐ ทีคะวรรณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เพื่อฉายภาพความเป็น TRUE กับ China Mobile ให้ชัดเจนขึ้น
ย้อนอดีตความร่วมมือ
China mobile เข้ามาถือหุ้นในทรูประมาณ 18% ตั้งแต่ปี 2557 ในตอนนั้นเป็นมูลค่าเม็ดเงินกว่า 3 หมื่นล้านบาท เป็นเวลากว่า 5 ปีที่ทรูและไชน่าโมบายมีการทำงานร่วมกันมาโดยตลอด ทั้งในเรื่องของการปรับปรุงโครงข่าย ความรู้ด้านเทคโนโลยี กลยุทธ์ในการทำตลาดต่างๆ เรียกได้ว่ามีหลายกรณีศึกษาที่น่าสนใจในไชน่าโมบายท่ีทรูสามารถดึงมาใช้งานได้
ดังนั้น เราจึงเห็นความร่วมมือระหว่างไทย-จีน ผ่านแพคเกจเครือข่ายของทรูและไชน่าโมบายหลายแคมเปญท่ีเชื่อมโยงกับประเทศจีน เช่น เรื่องของคอนเทนต์ ดีไวซ์และดีลพิเศษต่างๆ ที่อำนวยความสะดวกให้แก่คนจีนที่เดินทางมาไทยหรือคนไทยเดินทางไปจีนก็ใช้งานเครือข่ายได้ในราคาพิเศษมากขึ้น
หรือแม้แต่ในแง่ของการทำงานภายในองค์กร การบริหารงานบุคคล หรือเรื่องของการใช้เทคโนโลยีภายในองค์กรให้เกิดประโยชน์มากที่สุด รวมทั้งเรื่องของแผนการตลาด งานประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร ก็ถูกนำมาปรับใช้ทั้งสิ้น
ในปัจจุบัน คงหนีไม่พ้นเรื่องของการเดินหน้า 5G ที่ไชน่าโมบาย มีการทดสอบเรื่องคลื่น เรื่องอุปกรณ์รองรับมาสักพักหนึ่งแล้ว และเชื่อว่าจะประกาศพร้อมใช้งานให้โลกรู้ในช่วงต้นปีหน้า ส่วนในไทยเอง ทรูก็พร้อมเต็มที่และมั่นใจว่าหลังเสร็จสิ้นเรื่องการประมูลใบอนุญาตค่าคลื่นชุดใหม่ ก็จะใช้เวลาไม่นานในการติดตั้งอุปกรณ์และประกาศให้คนไทยใช้งาน 5G ได้เลย
อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายแง่มุมเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่จะมาใช้งานร่วมกับ 5G ว่าจะสร้างรายได้ ได้จริงหรือไม่ หรือแม้แต่การใช้คลื่นใดให้เหมาะกับแต่ละเทคโนโลยี
เรื่องเหล่านี้ หากเป็นหน้าที่ของแต่ละโอเปอร์เรเตอร์ในการลงทุนและเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ด้วยตนเอง ย่อมใช้เวลานานกว่าจะได้ข้อสรุปและประเทศก็จะไม่เดินหน้าเสียที แต่ทรูเลือกที่จะนำเอาเคสต่างๆ ของไชน่าโมบายมาเรียนรู้และเปรียบเทียบย่อมได้ข้อสรุปเร็วขึ้นและเป็นมาตรฐานคลื่นในการนำมาใช้อ้างอิง ธุรกิจใดที่จะพัฒนาเทคโนโลยีก็จะได้มีมาตรฐานเดียวกันและนำไปพัฒนาต่อได้เลย
แม้ว่ามาตรฐานเหล่านี้ฝั่งยุโรปก็มี แต่ค่าเทคโนโลยีของเขาจะไม่เหมือนกับมาตรฐานของชาวเอเชีย รวมทั้งจำนวนประชากรของชาวยุโรปก็ไม่ได้คล้ายกับพฤติกรรมของคนเอเชียด้วยกัน นอกจากนี้ลูกค้ากว่า 900 ล้านคนของไชน่าโมบายเป็นเครื่องการันตีเทคโนโลยีที่สำคัญว่าสิ่งไหนสำเร็จสิ่งไหนล้มเหลว
เทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ใน TRUE
ดร.กิตติณัฐ เปิดเผยว่า ทุกปีทางไชน่าโมบายจะเชิญทีมของทรูมาอัพเดทนวัตกรรมและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทำให้เราได้เห็นความก้าวหน้าและมูฟเมนท์ที่ดีมากมาย ซึ่งหลายอย่างที่ไชน่าโมบายทำก็ไม่ต่างจากสิ่งที่ทรูเคยคิดไว้
ทั้งนี้เรื่องของ 5G เหมาะกับ Vertical อะไรบ้าง สิ่งที่เราสนใจคือการได้เห็นนวัตกรรมการแชร์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ การแก้ปัญหาด้านภัยพิบัติต่างๆ หรือแม้แต่ด้านสาธารณสุขที่น่าจะนำมาใช้งานกับวงการแพทย์บ้านเราได้ ด้วยจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่มีจำกัด 5G จะเข้ามาช่วยเสริมเรื่องลดช่องวางในการเดินทางไปรักษาแต่สามารถรักษาผ่านดาวเทียมได้เลย ซึ่งเราอยากได้ภาพใหญ่ๆ แบบนี้
ทั้งนี้ การลงทุนของไชน่าโมบายจะต่างกับของไทยตรงที่เขาไม่ต้องลงทุนเรื่องคลื่นความถี่เอง ทำให้ไม่มีต้นทุนในเรื่องของใบอนุญาตค่าคลื่นและปริมาณของคลื่นที่แต่ละค่ายมีจำกัดตามมูลค่าที่ประมูลได้อย่างในประเทศไทย
แต่ภาครัฐจะให้คลื่นไปเลย 100 เมกกะเฮิร์ตไปใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้เต็มที่เพื่อให้ประชากรอยากใช้งานและช่วยสร้างมูลค่าของเทคโนโลยีให้สูงขึ้น มากกว่ามองเรื่องการแข่งขันเรื่องค่าแพคเกจ หรือโปรโมชั่นขายเครื่องเท่านั้น เพราะค่าใช้จ่ายรายเดือนไม่ใช่โอกาสทางรายได้ของโอเปอร์เรเตอร์ในยุคนี้อีกต่อไป
ดังนั้น การลงทุนของไชน่าโมบายจึงไม่เหมือนกับในไทย เพราะเขาไม่ได้มองแค่คลื่นแต่รัฐบาลจีนต้องการที่จะขับเคลื่อน 5G ให้กลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักของประเทศ ดังนั้นจึงเน้นการลงทุนเรื่องของเทคโนโลยีล้วนๆ
ส่วนไทยก็ควรมองเรื่องนี้ให้ชัดเจนเช่นกัน ว่าต้องการผลักดัน 5G เพื่ออะไร เพื่อค่าใบอนุญาตที่มีเพียงครั้งเดียวในแต่ละปี หรือจะเน้นเรื่องของการกระตุ้นในภาพรวมมากกว่า หากภาครัฐยังกำหนดนโยบายเหล่านี้ไม่ชัด แน่นอนว่าเรื่องของรายได้เข้าประเทศมันไม่ได้ยั่งยืน
“5G ควรเป็นนโยบายของชาติแบบในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น อังกฤษ เกาหลีใต้หรือฝั่งยุโรปเอง ก็ตั้งให้เรื่องนี้เป็นแกนหลักในการพัฒนาประเทศ ซึ่งภาครัฐควรเข้าใจในเรื่องของข้อจำกัดและการลงทุนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน”
เรื่องของ 5G จึงควรเป็นแกนหลักด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไม่ใช่โอเปอร์เรเตอร์แต่ละค่าย ทุกคนควรผลักดันร่วมกัน ไม่ใช่ผลักภาระไปให้เอกชนเดินหน้ากันเอง เพราะนั่นจะไม่ถึงจุดหมายและกลายเป็นว่าใครมีพาร์ทเนอร์ที่มีความรู้ก็ได้เปรียบไป แต่ควรให้ทั้งนักวิจัย ภาครัฐและเอกชน ทำให้ร่วมกัน หรือทำ R&D ร่วมกัน เพื่อผลักดันให้ 5G เกิดประโยชน์สูงสุด
เพราะการเติบโตของ 5G จะเกิดขึ้นจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ได้ แต่ต้องร่วมมือกันทั้ง Vendor, Operator, ภาครัฐ เพื่อให้การสั่งงานผ่านเครือข่ายมันสอดรับกันอย่างทันท่วงที และปลอดภัย เช่น AI และ Big Data สามารถช่วยให้พัฒนา Smart Farming แบบลดความสูญเสียโดยไม่จำเป็น และ Productivity จะเกิดตามมาเอง
หรืออย่างในประเทศไทยที่ใส่ใจเรื่องระดับน้ำ หากเราวางแผนเทคโนโลยีและวิเคราะห์สิ่งที่จะเกิดขึ้น ทำให้เตรียมพร้อมล่วงหน้าก็ไม่ต้องกังวลเรื่องของปัญหาน้ำอีกต่อไป
วางกรอบเสาสัญญาณให้ครอบคลุม
ทั้งนี้ การลงทุนด้านใดต้องดู demand ก่อนค่อยลงรายละเอียดเรื่องอุปกรณ์ ถ้าเทคโนโลยีใดยังใหม่มากราคาก็ย่อมแพง อย่างการลงทุนเสาสัญญาณ 5G ในเฉิงตู เพิ่งเริ่มต้นลงเพียงเดือนเดียวมีติดตั้งแล้ว 3,000 จุด โดยเน้นลงทุนในจุดที่มีพื้นที่การใช้งานหนาแน่น แต่ไชน่าโมบายมีเสาสัญญาณ 4G เดิมอยู่ 1.6 แสนจุดแล้ว การลงเพิ่มก็เหมือนแค่ขยายความสามารถให้ใช้งานได้ดีขึ้น
หากย้อนมองประเทศไทยถ้าต้องการลงเสาสัญญาณสำหรับ 5G นั้น ควรมีอย่างน้อย 6,000 จุด โดยเน้นที่ขีดความสามารถของเสาสัญญาณเดิม แต่ถ้าเป็นไปได้อยากให้ทั้ง 6,000 จุดนี้สามารถรองรับการใช้งานของทุกโอเปอร์เรเตอร์ให้ทำงานร่วมกันได้ จะได้ไม่ต้องลงทุนซ้ำซ้อน แต่ความเป็นไปได้ก็คงยากหากไม่มีเจ้าภาพที่เป็นคนกลางมาช่วยบริหารจัดการ
ซึ่งการลงทุนเสาสัญญาณสำหรับ 5G นั้น จะทำได้เร็วแค่ไหน ก็คาดว่าจะเทียบเท่ากับตอนที่ลงทุน 4G ในช่วงแรกที่มีทั้งการลงทุนติดตั้งเสาใหม่ในบางจุดแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ กับบางจุดที่ลงทุนแค่อัพเกรดความสามารถจากโครงสร้างเดิม ทำให้ลงทุนเพียง 30-40% จากงบลงทุนทั้งหมด
สินค้าจีนไม่ได้ด้อยคุณภาพอีกต่อไปแล้ว
แม้หลายคนจะยังติดภาพว่าสินค้าจีนคือของก็อปใช้งานได้ไม่ทน ต้องบอกว่าไม่ใช่กับสินค้าจีนในยุคนี้อีกต่อไป หากมองภาพสมาร์ทโฟนของจีนนั้น หัวเว่ยและเสียวหมี่ได้รับความนิยมมาก ไม่ใช่เพราะเป็นแบรนด์จีน แต่เพราะเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ เครื่องที่ทนทานและตอบโจทย์การใช้ชีวิตได้ดีกว่าเดิม
ตอนนี้หากนับความนิยมในจีนต้องเรียงลำดับเป็น หัวเว่ย เสียวหมี่และไอโฟน ส่วนซัมซุงนั้นหายไปจากตลาดจีนแล้ว ส่วนเรื่องของอุปกรณ์แน่นอนว่าหัวเว่ยยังคงเป็นเจ้าตลาดในการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์เทคโนโลยี เสียวหมี่ก็จะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ซึ่งแต่ละแบรนด์ก็จะมีจุดเด่นที่แตกต่างกันไป
ด้วยความเป็นบริษัทในเครือทำให้ต้นทุนการสั่งซื้ออุปกรณ์เชื่อมต่อเครือข่ายของทรูอยู่ในอัตราที่น้อยกว่าการสั่งซื้อเอง ทำให้ลดต้นทุนในการขยายเครือข่ายออกไป สิ่งที่ทรูมุ่งมั่นคือเรื่องของการหาพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจให้มากขึ้นเพื่อร่วมกันทำ R&D สำหรับ 5G โดยที่มองไว้ก็มีทั้งกลุ่มค้าปลีก พลังงาน ความปลอดภัย อสังหาริมทรัพย์ โลจิสติกส์ เพื่อให้การนำนวัตกรรมใหม่ๆ เข้าไปใช้งานตอบโจทย์การทำธุรกิจได้ดีกว่าเดิม
เส้นทางการผลักดันเรื่อง 5G ของทุกโอเปอร์เรเตอร์จะสดใสหรือหม่นหมอง อาจต้องรอความชัดเจนหลังการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ที่ตอนนี้ทุกค่ายต่างก็หวังอยากจะนำมาใช้พัฒนาประเทศทั้งสิ้น