คำออกตัว: ผู้เขียนปัจจุบันทำงานให้กับ True Corporation แต่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดกับทีมงาน True Digital Bookstore
ต้องออกตัวว่าข่าวนี้อาจไม่ใหม่เท่าไหร่เพราะเปิดตัวมาพักใหญ่แล้ว แต่ผมเห็นว่าในเมืองไทยไม่มีใครเล่นข่าวนี้เลยทั้งๆ ที่? “a day” ก็เป็นนิตยสารแนวหน้าที่จับกลุ่มคนรุ่นใหม่ พอเอามาขายกับทาง True Digital Bookstore ที่ thumbsup เคยรายงานไปแล้ว ก็เลยกลายเป็นส่วนผสมที่ลงตัวกัน ลงตัวอย่างไรมาดูกัน
เท่าที่เราสังเกต เมืองไทยมีผู้พิมพ์ผู้จัดจำหน่ายนิตยสารหลายรายสนใจที่จะก้าวเข้าสู่การขยายช่องทางการจำหน่ายมากขึ้น บางคนบอกว่าจะแพลตฟอร์มเอง บางคนบอกว่าอยากไปกับ Apple บางคนบอกว่าไม่สนใจ บ้างก็อยู่ระหว่างการศึกษา แต่ในวันที่ ebook มียอดขายแซงหน้ากระดาษในอเมริกา บ้านเราก็คงต้องเป็นไปตามกระแสนั้นแต่คงช้ากว่านั้นหลายปี
สิ่งที่คนในแวดวงสิ่งพิมพ์ไทยจะต้องระมัดระวังก็คือ อย่าได้ประมาทศึกการแย่งชิงความเป็นเจ้า ecosystem เด็ดขาด
ส่วนตัวผมเคยได้ไปฟังสมาคมแห่งหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมหนังสือในเมืองไทยพูดกันว่า อนาคตของคนขายหนังสือจะเป็นอย่างไร ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งพูดบนเวทีว่า “อ๋อ ต่อไปก็คงต้องเดินไปดาวน์โหลดกันที่ร้านหนังสือกระมังคะ” ว่าแล้วผู้ใหญ่ท่านนั้นก็หัวเราะตัวโยน ที่เขียนออกมาแบบนี้ไม่ได้ตั้งใจจะต่อว่า
ผมเพียงแต่อยากจะบอกว่า เกมนี้เราประมาทไม่ได้ เพราะใครที่ชิงความเป็นเจ้าของ Ecosystem ได้ก่อน เขาอาจชนะทั้งโลก คนไทยควรจะรวมตัวกันจัดตั้งเป็นสมาคมหรือกลุ่มความเคลื่อนไหวอะไรสักอย่าง ที่สร้าง Ecosystem ของตัวเองในประเทศ เพื่อให้ลดการพึ่งพาแพลตฟอร์มจากนอกประเทศที่เราต้องเสียค่าใช้แพลตฟอร์ม และระยะยาวเราจะดีกว่าไม่มีอะไรเป็นของตัวเองเลย
ความลงตัวที่ผมบอกตั้งแต่ต้นบทความนี้ก็คือ เรามีเนื้อหาดีๆ อย่างนิตยสาร a day นี่ก็เป็นตัวอย่างที่ดี ที่จับมือกับบริษัทที่ทำแพลตฟอร์มในประเทศ
เราน่าจะฉกโอกาสที่ฝรั่งยังไม่ Localize ลงมาหาภาษาไทยแล้วทำตอนนี้เลยดีไหม? ไม่อย่างนั้นก็ทำกับฝรั่งไป แต่เราจะเสียเปรียบในระยะยาว แล้วคุณล่ะคิดอย่างไรกับเรื่องนี้? ถ้าคุณมีเพื่อนในแวดวงสิ่งพิมพ์ช่วยส่งเรื่องของเราให้เขาอ่านด้วยนะครับ แล้วมาคอมเมนต์กันด้านล่างนี้ ใช้อินเทอร์เน็ตสื่อสารกันครับ