ทรู อินคิวบ์ จัดงาน Demo Day ให้ Startup ที่เพิ่งจบโปรแกรมในรุ่นที่ 2 นำเสนอผลงานต่อนักลงทุนจากหลายประเทศในภูมิภาคนี้ เพื่อระดมทุนและขยายธุรกิจในขั้นต่อไป
สำหรับ Startup ทั้ง 5 ทีมที่ได้รับการลงทุนและสนับสนุนจากทรู อินคิวบ์ ได้แก่
แอปพลิเคชั่นที่จะเป็นศูนย์กลางระหว่างผู้เรียนและผู้สอนในประเทศไทย สร้างสรรค์โดยอดีตอาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหิดลที่อยากจะสร้างช่องทางในการทำรายได้ให้ผู้สอน ด้วยการเปิดสถาบันและคอร์สเรียนออนไลน์ของตัวเอง พร้อมเก็บค่าเล่าเรียนผ่านระบบได้ มีระบบรักษาความปลอดภัยและระบบป้องกันการคัดลอกข้อมูลการสอน ผู้เรียนสามารถทำแบบทดสอบและส่งคำถามถึงครูผู้สอน ในขณะเดียวกัน ผู้สอนก็สามารถติดตามผลการเรียนและตอบคำถามนักเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา
หลังจากเปิดให้ใช้งานเมื่อ 1 เดือนที่ผ่านมา มีสถาบันและผู้สอนเข้ามาลงทะเบียนมากกว่า 15 ราย มีการสร้างบทเรียนแล้วเกือบ 340 บท และมีผู้เข้ามาเรียนแล้วกว่า 100 คน
2. Hankster
แอปพลิเคชั่นสำหรับการแฮงค์เอาท์และจัดเดทเพียงหนึ่งเดียวในประเทศไทย ผลงานจากกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่มีไอเดียว่ารูปแบบของบริการหาคู่ในปัจจุบันที่มีลักษณะแบบ 1 ต่อ 1 ยังไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด และไม่มีความปลอดภัยด้วย Hankster จึงเข้ามาเปลี่ยนวิธีการจัดหาคู่เดทให้เป็นแบบ 3 ต่อ 3 โดยในแอปพลิเคชั่นจะให้เลือกร้านอาหารหรือบาร์ที่จะให้เป็นสถานที่นัดพบ พร้อมให้ส่วนลดในการใช้บริการ
หลังจากเปิดตัวมาแล้ว 2 เดือน มีผู้สนใจลงทะเบียนจำนวนมากเกือบ 1000 คน และมีการจับคู่เกิดขึ้นมากกว่า 25 ครั้ง
3. Puun
คิดค้นโดยนักบัญชีมากประสบการณ์เพื่อแก้ปัญหาผู้ประกอบการส่วนมากไม่เข้าใจเรื่องการเงินและการอ่านตัวเลขทางบัญชี แอปพลิเคชั่นนี้จะแปลงข้อมูลตัวเลขต่างๆ ที่เข้าใจยากและน่าเบื่อ ให้เป็นข้อมูลกราฟิกที่เข้าใจง่าย พร้อมกับมีระบบหลังบ้านที่ใช้งานได้ง่าย ทั้งการติดต่อลูกค้าและการติดตามผล
หลังจากพัฒนาผลิตภัณฑ์เสร็จแล้ว Puun ได้เซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรกับสำนักบัญชีถึง 10 ราย หนึ่งในนั้นคือ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งมีฐานลูกค้ารวมกันมากถึง 1,000 บริษัท
4. Hola
แอปแชทที่รวมเข้ากับระบบแผนที่ที่จะมาสร้างประสบการณ์ใหม่ให้เหล่านักแชท โดยผู้ใช้งานจะสามารถแชทกับเพื่อนบนแผนที่ได้อย่างสนุกสนาน และรับรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่บริเวณเดียวกันนั้นได้ (อันนี้เป็นฟีเจอร์ที่ จส. 100 ควรจะลองใช้ดูนะ รถติด เกิดอุบัติเหตุ น้ำท่วมซอย ก็แจ้งให้ทราบได้) อีกทั้งผู้ใช้งานจะมีตัวละคร Avatar ของตัวเองที่สามารถตกแต่งได้อย่างไร้ขีดจำกัด เปรียบเสมือการสร้างโลก Virtual บนสมาร์ตโฟน ปัจจุบันพร้อมให้ดาวน์โหลดทั้ง iOS และ Android มียอดผู้ใช้งานมากกว่า 2,000 คน ยอดการซื้อสินค้าในแอปพลิเคชั่นมีมากกว่า 5,700,000 coins หรือมากกว่า 33,000 รายการ
5. Vetside
โซเชียล เน็ตเวิร์ค สำหรับสัตวแพทย์ ได้รับการพัฒนาขึ้นโดยทีมสัตวแพทย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีแนวคิดตั้งต้นว่าสัตวแพทย์แต่ละคนมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านไม่เหมือนกัน และขาดช่องทางในการติดต่อสอบถามวิธีการรักษาสัตว์ระหว่างกัน vetside.net จึงถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหานี้ เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลการรักษาสัตว์ที่ทันสมัย และเป็นช่องทางในการปรึกษาและแชร์ประสบการณ์ในหมู่สัตวแพทย์ด้วยกัน โดยมุ่งพัฒนาให้เป็นคอมมิวนิตี้สำหรับสัตวแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
หลังจากเปิดตัวผลิตภัณฑ์มาเกือบ 1 เดือน มีสัตวแพทย์ลงทะเบียนมากถึง 700 คน จากจำนวนสัตวแพทย์ในประเทศไทยทั้งสิ้น 7,000 คน และมีเคสการรักษาอยู่ในระบบมากถึง 100 เคส
ทั้ง 5 ทีมต่างก็มีแนวคิดที่น่าสนใจ และได้รับการพัฒนามาเพื่อแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันที่คนแต่ละกลุ่มพบเจอ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการที่ปวดหัวกับเรื่องตัวเลข คนโสดที่อยากมีคู่แต่ไม่กล้าเสี่ยงใช้บริการแบบไปคนเดียวในที่ลับตาคน สัตวแพทย์ที่อยากได้คำปรึกษาเมื่อเจอเคสที่ไม่ค่อยถนัด ขาแชทที่อยากรู้ว่าเพื่อนเดินทางมาถึงที่นัดหมายหรือยัง และคนที่อยากหารายได้จากการสอนพิเศษแบบไม่ต้องเดินทางไปไหน หรือคนที่อยากเรียนแต่ไม่อยากออกไปเจอรถติดนอกบ้าน ทั้งหมดนี้อาจจะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคนหลายๆ คน เหมือนที่เราผูกพันกับ Facebook, Twitter , Youtube และ Google หวังว่าเราจะได้เห็นการพัฒนาในขั้นต่อๆ ไปของทั้ง 5 ทีมนี้