เพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้าเข้าสู่ Cashless Society อย่างเต็มที่และการผลักดันให้ชีวิตเข้าสู่ปัญหาเรื่องการหาเงินสด ไม่ว่าจะเป็น เพื่อซื้อสินค้าทั่วไป กินอาหาร จ่ายค่ารถแท็กซี่และมอเตอร์ไซค์ สำหรับคนรุ่นใหม่ที่นิยมพกมือถือมากกว่ากระเป๋าสตางค์ กำลังจะลดข้อกังวลได้ เพราะทางทรูมันนี่วอลเลต ผลักดันบริการใหม่ที่ช่วยให้เข้าถึงการจ่ายเงินผ่านช่องทางออนไลน์ได้หลากหลายมากขึ้น
ภาพรวมคนใช้งานอีวอลเลต
ภาพรวมโครงสร้างการจ่ายเงินมีผู้ใช้งานพร้อมเพย์สูงถึง 39 ล้านบัญชี มีจำนวนบัญชีธนาคาร 99 ล้านบัญชี จำนวนบัตรเครดิตกว่า 22 ล้านใบ บัตรเดบิต 67 ล้านใบ สัดส่วนประชากรเทียบกับธนาคารอยู่ที่ 78.1%
การใช้งาน Online Banking แบ่งเป็น i-Banking 23 ล้านบัญชีและ m-Banking 38 ล้านบัญชี จำนวนผู้ใช้งานมือถือ 125 ล้านเครื่อง เป็นสมาร์ทโฟน 76%
ภาพรวมของผู้ใช้งานทรูมันนี่ วอลเลตมีการเข้าใช้งานแบบเฉลี่ย 8 ครั้ง/เดือน แอคทีฟ 7 ล้านรายในไทย ซึ่งยอดดาวน์โหลด ณ ปัจจุบันพุ่งไป 16 ล้านดาวน์โหลด ยอดการใช้จ่ายโดยเฉลี่ย 250-300 บาทต่อครั้ง
โอกาสของทรูมันนี่
สำหรับภาพธุรกิจที่ทรูมันนี่จะมุ่งไปนั้น คือ หวังครอบคลุมด้านการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าคุณจะเดินไปที่ไหนหรือใช้จ่ายอะไรต้องเจอ
นิรันดร์ ฟูวัฒนานุกูล ผู้อำนวยการฝ่ายทางพาณิชย์ บริษัท ทรูมันนี่ จำกัด กล่าวว่า จากจำนวนลูกค้าทั้งหมดของทรูมันนี่วอลเลตนั้น ต้องยอมรับว่าจับตลาดกลุ่มนักศึกษาและกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี
เพราะคนเหล่านี้ไม่มีบัตรเครดิต แต่ไลฟ์สไตล์ของพวกเขาผูกพันกับโลกออนไลน์ ทั้งซื้อของ เติมเกม จ่ายค่ามือถือ แต่ทรูมันนี่ก็พยายามจะขยายโอกาสเข้าไปในกลุ่มเฟิร์สจ๊อบเบอร์และวัยทำงานให้มากขึ้น
“การร่วมมือกับกูเกิลนั้น นอกจากตลาดเกมแล้ว ยังมีคอนเทนต์อื่นๆ ที่มีการใช้จ่าย ซึ่งเราจะพยายามผลักดันโอกาสใหม่ๆ ผ่านโปรโมชั่น เพื่อให้คนที่ต้องการจ่ายเงินค่าแอพคุ้นชินกับช่องทางของเรามากที่สุด
เพราะเรามองว่าโอกาสที่คนจะใช้งานทรูมันนี่วอลเลตคือ เห็นทุกที่ ใช้งานได้ทั่วถึง เมื่อไปที่ไหนก็เจอ โอกาสที่จะใช้งานย่อมมีมากขึ้น”
พฤติกรรมการใช้จ่ายของคนส่วนใหญ่ยังผสมผสานทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ ดังนั้น หากร้านค้าออฟไลน์มีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างการจ่ายเงินออนไลน์มาเสริมย่อมสร้างโอกาสทางการขายหรือปิดการขายได้ดีกว่าการรับเงินแค่เงินสดทางเดียว
โดยตอนนี้ทรูมันนี่วอลเลตมีจุดให้บริการมากกว่า 2 แสนจุดแล้ว และตั้งเป้าปีนี้ขยายให้ถึง 3 แสนจุดให้บริการ ซึ่งจะเน้นร้านค้ายรายย่อย ประเภทกลุ่มสตรีทฟู้ดให้ทั่วถึง เพราะเรื่องของอาหารเป็นสิ่งสำคัญของชีวิตทุกคน หากเข้าถึงทุกคนได้การที่จะได้ยอดลูกค้า 10 ล้านยูสเซอร์คงไม่ใช่เรื่องยาก
แม้ว่าการกระตุ้นให้คนหันมาใช้จ่ายจะต้องผ่านโปรโมชั่นและส่วนลดไปก่อน แต่เชื่อว่าจะเป็นผลดีในระยะยาว เพราะการปรับตัวเข้าสู่โลกออนไลน์ของคน Gen X หรือ Baby Boomer ไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งที่คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่กำลังซื้อสูง แต่ก็ต้องใช้สิ่งดึงดูดใจและวิธีที่ง่ายไว้ก่อน
“แม้ผู้ใหญ่ที่มีสมาร์ทโฟนแต่การปรับตัวให้มั่นใจในการใช้วอลเลตหรือโมบายเพย์เมนท์ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีอีโคซิสเต็มที่หลากหลายเข้ามาช่วยกันเสริมถึงจะดี อย่างเช่น หากซื้อสินค้าในเซเว่นอีเลฟเว่นผ่านทรูวอลเลต จะได้ส่วนลด ของแถม หรือถ้าจ่ายค่ามือถือ เติมเงิน จะได้เน็ตเพิ่ม สิ่งเหล่านี้จะดึงดูดให้พวกเขาอยากเปลี่ยนใช้งานวอลเลต”
แท็กซี่-มอเตอร์ไซต์ก็จ่ายผ่านวอลเลตได้
ส่วนบริการด้านการขนส่งสาธารณะอย่างแท็กซี่หรือมอเตอร์ไซต์ที่รวมกันมีให้บริการแตะหลักแสนราย (ภาพรวมแท็กซี่ 8 หมื่นคัน รถมอเตอร์ไซต์รับจ้าง 8 หมื่นคัน) ก็เพิ่มโอกาสจ่ายค่าบริการแบบไม่ต้องใช้เงินได้
คุณภัคพงศ์ พัฒนมาศ รองผู้อำนวยการ ธุรกิจโมบายล์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เราคาดหวังว่าจะมีมอเตอร์ไซต์และแท็กซี่ในระบบขนส่งที่มีใบอนุญาตสาธารณะจะมาเข้าร่วมกับเราสัก 1 ใน 3 ภายในช่วง 3 เดือนที่มีการทำแคมเปญก็รู้สึกว่าถึงเป้าหมายที่คาดไว้แล้ว เพราะเรารู้ว่าการปรับตัวเข้าสู่เทคโนโลยีทันทีมันไม่ง่าย
แม้ก่อนหน้านี้ ทางทีมงานของทรูจะมีการศึกษาตลาดมาบ้าง มีข้อมูลหลายอย่างที่เรารู้สึกว่าเป็น Insight ที่คาดไม่ถึง อย่างเช่น กลุ่มผู้ขับขี่แท็กซี่และมอเตอร์ไซต์จะแบ่งเป็น 2 ช่วงอายุคือ กลุ่มอายุ 40-50 ปีขึ้นไป เป็นผู้ที่ขับมานานและอายุต่ำกว่า 40 ปีลงมา
โดยคนที่มีช่วงอายุต่ำกว่า 40 ปีลงมา จะมีการใช้แพคเกจค่ามือถือแบบรายเดือนถึง 70% เพราะเขามองว่าคุ้มค่ากว่า เลือกใช้แพคเกจราคา 499 บาทและมีสมาร์ทโฟนราคาเฉลี่ยที่ 5,000 บาท ช่วงเวลาว่างก็จะเปิดดูยูทูปเพื่อหาข้อมูลหรือผ่อนคลาย ซึ่งคนกลุ่มนี้เปลี่ยนพฤติกรรมเข้ามาสู่โลกออนไลน์และปรับตัวใช้บริการของทรูวอลเลตง่ายมาก
ส่วนกลุ่มคนที่อายุ 40 ปีขึ้นไป อาจจะเป็นการใช้งานแบบผสมผสาน คือ ทรูจะมีคิวอาร์โค้ดสำหรับจ่ายเงินให้และแจ้งว่าได้รับเงินหรือไม่ผ่านทาง SMS ทำให้สะดวกสำหรับลูกค้าที่ไม่ได้พกเงินมา และผู้ขับก็ได้รับเงินเข้าบัญชีทันที
นอกจากนี้ ทรูประกาศชัดว่า TRUE RYDE ไม่ใช่แอพพลิเคชั่นเรียกรถโดยสาร แต่เป็นโมบายเพย์เมนท์สำหรับผู้ขับ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้า
ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการเรียกแบบโบกมือตามจุดให้บริการต่างๆ หรือเรียกผ่านแอพพลิเคชั่นเรียกรถก็สามารถใช้บริการ TRUE RYDE ได้
โดยสิทธิประโยชน์ที่ผู้ขับได้รับนั้น ไม่ได้มีข้อผูกมัดหรือเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เพียงแค่ต้องใช้เครือข่ายของทรูมูฟเท่านั้น ส่วนวิธีการถอนเงินจากระบบ TRUE RYDE ก็คือ โอนเงินออกผ่านพร้อมเพย์หรือถอนเงินจากเดบิตไวท์การ์ด หรือจะใช้จ่ายผ่านเซเว่นอีเลฟเว่นก็ได้สะสมแต้มด้วย
อย่างไรก็ตาม การเป็นแค่โอเปอร์เรเตอร์ในยุคนี้ คงจะขยายโอกาสทางธุรกิจไปในรูปแบบเดิมแข่งในตลาดแพคเกจหรือค่าเครื่องอย่างเดียวไม่ได้อีกแล้ว แต่ต้องมุ่งแข่งไปที่ตอบโจทย์ชีวิตและไลฟ์สไตล์ที่มากกว่า และนี่คือโอกาสใหม่ที่ทรูจะไม่ยอมให้ผ่านไปอย่างแน่นอน