นักการตลาดหน้าใหม่ที่ใช้เครือข่ายโซเชียลเป็นเครื่องมือหลายคนอาจจะมุ่งแต่เพิ่มจำนวนแฟนเพจเพียงอย่างเดียว โดยไม่รู้ว่าการจัดการกลุ่มแฟนอย่างมีประสิทธิภาพ ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะช่วยประชาสัมพันธ์สินค้าได้อย่างดี
Michael Wrigley นักการตลาดมือฉมังจาก EngageSciences บริษัทโฆษณาจากอังกฤษ เคยกล่าวว่า กลุ่มแฟนเพจ หรือผู้ติดตาม (follower) ก็เหมือนฐานข้อมูลรูปแบบหนึ่ง ซึ่งถ้าเราไม่ใช้งาน มันก็เป็นแค่ข้อมูลที่ไร้ประโยชน์ และวันนี้ เรามีตัวอย่าง 3 กรณีศึกษาที่จะเป็นข้อแนะนำในการเปลี่ยนกลุ่มแฟนธรรมดา มาเป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์ให้แบรนด์ได้อีกทาง
ข้อแรกคือควรรับฟังในสิ่งที่กลุ่มแฟนพูด และเข้าไปมีส่วนร่วมในสิ่งที่พวกเขาสนใจ เพราะคนกลุ่มนี้คือผู้สนับสนุนที่ดีต่อสินค้าของคุณ มีกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจจากโนเกีย เมื่อคราวเปิดตัว Lumia ในอเมริกา โนเกียนำเรื่องที่ลูกค้าคนหนึ่งขับรถกว่า 400 ไมล์ข้ามรัฐ เพื่อไปเข้าแถวเป็นคนแรกในงานเปิดตัวโพสต์ลงในบล็อก ทำให้ลูกค้าหลายคนประทับใจในความเอาใจใส่ต่อลูกค้าของโนเกียมาก
ข้อต่อมา เราควรค้นหา “แฟนพันธุ์แท้” ในกลุ่มแฟนทั่วไปให้เจอ บางครั้งลูกค้าอาจต้องการจัดแคมเปญโปรโมทสินค้า ซึ่งการค้นหาแฟนพันธ์แท้ ก็เพื่อที่จะหาผู้ร่วมแคมเปญที่สามารถส่งต่อข้อความที่ต้องการประชาสัมพันธ์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
มีตัวอย่างในการค้นหาแฟนพันธ์แท้ของ The Humane Society of the United States เพื่อเป็นตัวแทนสำหรับแคมเปญรณรงค์เลิกใช้สัตว์ในการทดลองสินค้า ด้วยการเปิดให้เล่นเกมเพื่อชิงรางวัล และดูว่าใครแชร์เกมต่อมากที่สุด เพื่อติดต่อให้เข้าร่วมกับแคมเปญต่อไป วิธีนี้เป็นวิธีง่ายๆที่บางคนอาจคิดไม่ถึง
ข้อสุดท้ายคือมองหาหนทางสร้างกลุ่มแฟนใหม่ๆ บนเครือข่ายอื่น มีกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจจาก Kellogg ที่ร่วมกับสถานีโทรทัศน์เพื่อโปรโมทสินค้าใหม่ ด้วยการออกอากาศโฆษณาที่เน้นไปยังกลุ่มลูกค้าอายุ 16 ปีขึ้นไป โดยในโฆษณาได้เชิญชวนให้ผู้ชมเข้ามาตอบคำถามบนหน้าเฟซบุ๊คของ Kellogg
ผลที่ได้คือมีการตอบคำถามเข้ามากว่า 50,000 ครั้ง และมีการแชร์ต่อไปอีกกว่า 13,000 ครั้ง ภายในอาทิตย์เดียว ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีการแชร์ต่อกันไปจากกลุ่มแฟนๆ ทำให้ Kellogg สามารถเข้าถึงฐานลูกค้าที่กว้างขึ้นไปอีก
ลองนำกรณีตัวอย่างไปปรับใช้ให้เหมาะสม ไม่แน่ว่าคุณอาจจะมีทีมพีอาร์เพิ่มขึ้นมากมายอย่างที่นึกไม่ถึงก็ได้
ที่มา:?Entrepreneur