การออกมายกเลิกปุ่ม Buy บน Twitter ภายใต้การกุมบังเหียนของซีอีโอ Jack Dorsey ได้กลายเป็นหัวข้อ Talk of the town อีกครั้งของ Twitter ใน ค.ศ.นี้ เพราะหากยังจำกันได้ ในช่วงปี ค.ศ. 2014 เทรนด์หนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ บรรดาโซเชียลมีเดียชั้นนำทั้ง Twitter, Facebook, Pinterest ต่างพากันเพิ่มปุ่ม Buy ลงในแพลตฟอร์มของตนเองกันจนเป็นที่เกรียวกราว
แต่ความพยายามดังกล่าวดูท่าจะไม่สัมฤทธิ์ผลอย่างที่คาด เมื่อล่าสุด Twitter ตัดสินใจยุติบทบาทของปุ่ม Buy บนแพลตฟอร์มของตนเองแล้วอย่างเงียบ ๆ โดยทีมงานผู้อยู่เบื้องหลังปุ่ม Buy ของ Twitter นี้มีทั้งแยกย้ายไปทำโปรเจ็คอื่น ขณะที่บางคนก็ลาออกไปอยู่บริษัทอื่นกันเลยก็มี
นโยบายการเพิ่มปุ่ม Buy ลงในแพลตฟอร์ม Twitter นั้นเกิดขึ้นในยุคของอดีตซีอีโอผู้อื้อฉาวอย่าง Dick Costolo ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของ Twitter มากพอดู เนื่องจาก Costolo ไม่สามารถหาวิธีเพิ่มตัวเลขผู้ใช้งานให้เตะตาบอร์ดได้เลย โดยในไตรมาสสุดท้ายของการบริหารงานในตำแหน่งซีอีโอ Twitter มีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นเพียง 2 ล้านคนต่อเดือน ขณะที่ Facebook เพิ่มขึ้นไปเป็นหลักร้อยล้านคน แถมราคาหุ้นของ Twitter ก็ตกต่ำลงอย่างต่อเนื่องด้วย
เมื่อ Jack Dorsey อดีตผู้ก่อตั้งกลับเข้ามาสานต่อ นโยบายของ Dorsey ก็สวนทางกับ Costolo อย่างสิ้นเชิง โดยเขามองว่า Twitter ไม่ใช่พื้นที่ที่คนจะเข้ามาซื้อสินค้า แต่คือพื้นที่ที่ผู้คนเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กัน – มาอัปเดตข่าวสารความเป็นไปของโลก นั่นจึงทำให้ Dorsey หันมาปรับปรุงในเรื่องดังกล่าว เพื่อให้ Twitter สามารถดึงดูดผู้ใช้งานรายใหม่ รวมถึงสร้างความพึงพอใจให้กับผู้ใช้งานเหมือนที่เคยทำได้เมื่อในอดีต ปุ่ม Buy จึงต้องโบกมือบ๊ายบายจากไปในที่สุด
ขณะที่ปัญหาอีกส่วนหนึ่งอาจมาจากตัว Twitter เองที่ไม่มีระบบที่สามารถ “ล้วงลึก” ความต้องการของผู้ใช้งานคนนั้นออกมาได้ โดยการสำรวจของ Walk Sands เมื่อปี 2015 เกี่ยวกับรูปแบบการค้าปลีกในอนาคตพบว่า มีผู้บริโภคเพียง 6 เปอร์เซ็นต์ที่คาดว่าจะซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าว
ตรงกันข้ามกับ Pinterest เพราะการสำรวจของ Millward Brown พบว่า 93 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้งานใช้ Pinterest เป็นตัววางแผนในการซื้อ และ 87 เปอร์เซ็นต์มีการซื้อสินค้าเพราะ Pinterest
แถม Pinterest ยังเผยว่า หลังจากเปิดตัว Buyable Pins ไปเมื่อปีก่อนนั้น บริษัทประสบความสำเร็จอย่างสูงในการเป็นแพลตฟอร์มที่พาผู้ซื้อกับผู้ขายมาเจอกัน และจะมีการลงทุนพัฒนาระบบดังกล่าวให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง
ด้วยวิสัยทัศน์ที่ต่างกันจนสุดขั้วของสองแพลตฟอร์มอย่าง Twitter และ Pinterest นั้น การทำนายว่าปุ่ม Buy บนโซเชียลมีเดียจะมาถึงจุดจบจึงยังไม่ใช่คำตอบสำหรับสถานการณ์ตอนนี้ เพราะในที่สุดแล้ว หากปุ่ม Buy อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ก็สามารถสร้างยอดขายได้อย่างงดงามเช่นกัน