โปรโมชั่นของวันแห่งการช้อปปิ้ง ไม่ว่าจะเป็น 7/7, 8/8, 9/9, 10/10, 11/11 และ 12/12 กลายเป็นช่วงเวลาของการสร้างมูลค่ามหาศาลสำหรับวงการค้าปลีกในประเทศไทย ปัจจุบันมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตกว่า 4.57 พันล้านคนทั่วโลก (59% ของประชากรโลก)
และในประเทศไทยมีการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตราว 75% จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมวันแห่งการช้อปปิ้งจึงเป็นการจัดโปรโมชั่นออนไลน์และกลายเป็นช่วงเวลาสำคัญในการทำอีคอมเมิร์ซ ซึ่งทวิตเตอร์ถือเป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่ผู้บริโภคนิยมพูดคุยเกี่ยวกับการช้อปปิ้งในประเทศไทย
ข้อมูลจาก Statista บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลทางการตลาด พบว่า ในปี 2562 มีการใช้จ่ายผ่านอีคอมเมิร์ซทั่วโลกเป็นมูลค่ากว่า 3.53 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ข้อมูลจาก MediaRadar พบว่ามีการใช้จ่ายค่าโฆษณาเกี่ยวกับอีคอมเมิร์ซเพิ่มขึ้นจากเดิม 4.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 9.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในช่วงระหว่างที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 สำหรับตลาดอีคอมเมิร์ซ (eCommerce) และ เอ็มคอมเมิร์ซ (mCommerce) ในประเทศไทยมีมูลค่ารวมกันราว 3.98 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
การช้อปปิ้งออนไลน์กลายเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในชีวิตประจำวัน แบรนด์ต่างๆ จึงหันมาลงทุนศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น เพื่อจะได้ทำความเข้าใจว่าผู้บริโภคเลือกสิ่งที่ชอบและไม่ชอบอย่างไร อะไรคือสิ่งที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อ และการซื้อของออนไลน์มีลำดับขั้นตอนอย่างไร เป็นต้น
นายอาร์วินเดอร์ กุจรัล กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทวิตเตอร์ กล่าวว่า “ไม่แปลกใจเลยว่าบทสนทนาที่พูดคุยเกี่ยวกับการช้อปปิ้งบนทวิตเตอร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีเพิ่มมากขึ้น และเราจะเห็นช่วงพีคที่สุดในช่วงใกล้ๆ วันแห่งการช้อปปิ้งออนไลน์ทั้งก่อนและหลังวันที่มีการจัดโปรโมชั่น ทั้งนี้ การช้อปปิ้งยังเป็นหัวข้อการสนทนาที่มีการพูดคุยได้ตลอดทั้งปีบนทวิตเตอร์ ยิ่งผู้บริโภคหันมาใช้อีคอมเมิร์ซและเอ็มคอมเมิร์ซมากขึ้นจะพบว่าเทรนด์การสนทนาในหัวข้อที่เกี่ยวกับการช้อปปิ้งออนไลน์ยังคงมีการเติบโตอย่างรวดเร็วต่อเนื่อง”
“แบรนด์ต่างๆ ต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีในการทำการตลาด โดยเฉพาะจะต้องมีความเข้าใจว่าทำไมผู้บริโภคจึงเลือกซื้อของทางออนไลน์และสิ่งที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการซื้อดังกล่าว เราพบว่าแบรนด์ในประเทศไทยต่างหันมาใช้ทวิตเตอร์ในการคอนเน็คกับกลุ่มผู้บริโภคและกลุ่มผู้ใช้งานทวิตเตอร์ประเทศไทย”
ทำความเข้าใจกับ เทรนด์การซื้อของผู้บริโภค
วันแห่งการช้อปปิ้งกลายเป็นเหมือนแม่เหล็กดึงดูดทั้งแบรนด์และผู้บริโภค ทวิตเตอร์นับเป็นแพลตฟอร์มที่แบรนด์เลือกใช้สร้างคอนเน็คกับนักช้อปออนไลน์ จากการวิจัยล่าสุดพบว่าผู้ใช้งานทวิตเตอร์ประเทศไทยมากกว่า 4 ใน 5 คน มีการซื้อของออนไลน์
ทั้งนี้แบรนด์สามารถทำความเข้าใจเทรนด์ของผู้บริโภคได้ถือเป็นเรื่องที่จำเป็น ทวิตเตอร์ขอแนะนำ 3 พฤติกรรมหลักในการช้อปปิ้งเพื่อช่วยให้เข้าใจเทรนด์การช้อปออนไลน์ของผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น
ผู้บริโภคเลือกซื้ออะไรกันบ้าง :
5 ผลิตภัณฑ์ที่ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ในประเทศไทยนิยมสั่งซื้อผ่านทางออนไลน์
- แชมพู (84.7%)
- น้ำยาปรับผ้านุ่ม (75.6%)
- น้ำยาซักผ้า / ผงซักฟอก (74.2%)
- ครีมนวดผม (66.9%)
- เสื้อผ้า (66.7%)
ปัจจัยหลักในการช่วยกระตุ้นผู้บริโภคตัดสินใจซื้อของทางออนไลน์
4 เหตุผลหลัก ที่ผู้บริโภคชาวไทยเลือกช้อปออนไลน์
- จัดส่งฟรี (63%)
- ส่วนลดต่างๆ (57%)
- จ่ายเงินเมื่อได้รับสินค้า (45%)
- เสียงสนับสนุนและการพูดถึงของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ (39%)
ผู้บริโภคสนใจในเรื่องอะไรเป็นพิเศษ
ผู้หญิงคือกลุ่มที่นิยมพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องช้อปปิ้งบนทวิตเตอร์มากที่สุดในประเทศไทย เพียงแค่รู้ว่าผู้บริโภคมีความสนใจทั่วไปในเรื่องอะไร ก็จะสามารถช่วยให้แบรนด์ปรับกลยุทธ์ทางการตลาดและกำหนดกลุ่มเป้าหมายในการทำโฆษณาได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ สาวๆ นักช้อปบนทวิตเตอร์มีความสนใจในเรื่องของดนตรี, อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ, การทำอาหาร, ความงามและเครื่องสำอาง ในขณะที่หนุ่มนักช้อปมีความสนใจในเรื่องเทคโนโลยี, ดนตรี, การเล่นกีฬาและข่าวสารต่างๆ
รีวิวข้อมูลผลิตภ้ณฑ์ ก่อนการตัดสินใจซื้อ
การซื้อของออนไลน์ไม่ได้เป็นเพียงแค่การล็อกอินเพื่อเข้าไปซื้อแล้วล็อกออฟออกจากระบบเท่านั้น แต่ขั้นตอนในการ
ช้อปปิ้งออนไลน์นั้นยาวนานกว่าที่คิด และมีความแตกต่างจากเดิมไปมาก การศึกษาหาข้อมูลและการวางแผนก่อนจ่ายเงินซื้อของถือเป็นส่วนที่สำคัญในขั้นตอนการซื้อของ โดย 94% ของนักช้อปออนไลน์บนทวิตเตอร์มักจะหาข้อมูลจากรายการสิ่งของที่อยากได้ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ
เครดิตทวีตจาก: https://twitter.com/BrightMinho/status/1314262189545381889
นักช้อปออนไลน์บนทวิตเตอร์คือผู้ทรงอิทธิพล ชอบการค้นพบสิ่งใหม่ เปิดใจรับผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรือไอเดียใหม่ๆ มีความคิดสร้างสรรค์และมักจะเข้าร่วมวงสนทนาในเรื่องเกี่ยวกับการช้อปปิ้ง สำหรับแบรนด์ สิ่งนี้ถือเป็นเรื่องที่สำคัญในการดูแลชื่อเสียงของแบรนด์ให้เป็นไปในทางบวก เนื่องจาก 50% ของนักช้อปออนไลน์ในประเทศไทยมักจะตรวจสอบข้อมูลของแบรนด์และข้อมูลผลิตภัณฑ์ทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก รวมถึงบนทวิตเตอร์
ให้ความสำคัญทุกขั้นตอน มากกว่าแค่การตัดสินใจซื้อ
การซื้อของออนไลน์คือขั้นตอนอย่างหนึ่ง หากลองศึกษาวันแห่งการช้อปปิ้งอย่างเช่นโปร 10/10 ทวิตเตอร์พบว่าช่วงเวลาขั้นตอนของการทำอีคอมเมิร์ซอยู่ที่ประมาณ 10-14 วัน โดยมีหัวใจหลักอันสำคัญที่แบรนด์สามารถใช้ประโยชน์ได้ในระหว่างที่มีการจัดโปรโมชั่น หากแบรนด์มีการลงทุนและโฟกัสที่จะขายสินค้าเฉพาะแค่ในวันที่ 10 เดือน 10 จะได้รับประโยชน์น้อยกว่าแบรนด์ที่มีการเอ็นเกจกับผู้บริโภคมาตลอดช่วงระยะเวลาตั้งแต่ก่อนมีโปรฯ ไปจนถึงหลังวันที่มีโปรฯ
ทำความรู้จักกับ 5 ขั้นตอนช่วงวันช้อปปิ้งออนไลน์บนทวิตเตอร์
เพื่อให้แบรนด์ประสบความสำเร็จในการทำตลาดออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ทวิตเตอร์จึงแบ่งปันความสำคัญของเวลา 5 ช่วงของวันแห่งการช้อปปิ้งออนไลน์
- เริ่มทวีต
ก่อนจะถึงวันที่มีการจัดโปรฯ สักหนึ่งอาทิตย์ ควรเริ่มต้นสร้างบทสนทนาขึ้นมาบนทวิตเตอร์ ผู้ใช้งานทวิตเตอร์จะทวีตถึงโค้ดส่วนลดต่างๆ และจะได้เก็บโค้ดเหล่านั้นเอาไว้เพื่อช่วยให้พวกเขามีส่วนลดเพิ่มในวันที่มีการจัดโปรฯ
เคล็ดลับ: เริ่มต้นบทสนทนาด้วยการปล่อยโค้ดพิเศษหรือบอกรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดโปรโมชั่นของแบรนด์ สร้างเอ็นเกจกับอินฟลูเอ็นเซอร์บนทวิตเตอร์ เพื่อทวีตถึง “ของมันต้องมี” ซึ่งจะช่วยให้นักช้อปทั้งหลายเกิดความต้องการซื้อสินค้า
เครดิตทวีตจาก: https://twitter.com/Thookboktor/status/1303341932253294594
2. อุ่นเครื่อง
ในเฟสที่ 2 จะเป็นช่วงเวลาที่ผู้ใช้งานบนทวิตเตอร์เริ่มปรึกษาพูดคุยกับเพื่อนๆ ถึงสิ่งที่พวกเขากำลังวางแผนที่จะซื้อ
เคล็ดลับ: ทำงานร่วมกับอินฟลูเอ็นเซอร์ทวิตเตอร์ ในฐานะที่พวกเขาเป็นผู้สนับสนุนแบรนด์เพื่อสร้างอิทธิพลต่อนักช้อปและยังเป็นการช่วย “อุ่นเครื่อง” บทสนทนาก่อนที่จะถึงวันจริง
เครดิตทวีตจาก: https://twitter.com/mmytype_/status/1303345470974996480
เฟสที่ 3: วันแห่งการช้อปปิ้งออนไลน์
เมื่อวันจริงมาถึง นักช้อปบางคนอาจจะยังค้นหาโค้ดส่วนลดพิเศษต่างๆ อยู่ และนี่แหละที่จะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจซื้อในวันนั้น
เคล็ดลับถึงแบรนด์: วันแห่งการช้อปปิ้งออนไลน์คือช่วงเวลาที่ผู้ใช้งานทวิตเตอร์สามารถสร้างอิทธิพลได้ ด้วยการรีวิวผลิตภัณฑ์และแสดงความเห็น โดยอินฟลูเอ็นเซอร์บนทวิตเตอร์สามารถสร้างอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อของคนอื่นๆ ได้
เฟสที่ 4: รีวิวแกะกล่องผลิตภัณฑ์
นักช้อปบนทวิตเตอร์มักชอบแบ่งปันข้อมูลในสิ่งที่พวกเขาได้ช้อปมาแล้ว โดยเฉพาะหลังจากวันที่มีการจัดโปรฯ ผ่านไปไม่กี่วัน พวกเขามักจะแชร์ภาพการเปิดกล่องไอเท็มเด็ดที่พวกเขาได้ซื้อไป และหากว่าแบรนด์ยังคงทำโปรโมชั่นอยู่อย่างต่อเนื่อง นี่แหละคือช่วงเวลาที่นักช้อปคนอื่นๆ อาจจะมีการตัดสินใจซื้อเพิ่ม เนื่องจากได้เห็นคนอื่นได้ซื้อสินค้าไปแล้ว รวมถึงทวีตข้อความจากทั้งแบรนด์เองและจากอินฟลูเอ็นเซอร์
เคล็ดลับ: การทำ whitelist ที่เกี่ยวข้องกับการทวีตที่รีวิวการแกะกล่องผลิตภัณฑ์จะช่วยสร้างกระแสบทสนทนาและช่วยทำให้เกิดการตัดสินใจซื้อต่อไปได้อีก
เครดิตทวีตจาก: https://twitter.com/joyjeeloveberry/status/1304612892721836032
เฟสที่ 5: หลังจากวันจัดโปรฯ ผ่านพ้นไป
ในช่วงสุดท้ายยังคงสามารถสร้างเอ็นเกจได้ต่อเนื่องไปอีกประมาณ 3-4 วัน หลังจากมีผู้บริโภคได้ซื้อของไปแล้ว จะเริ่มมีการทวีตและมีฟีดแบ็กถึงผลิตภัณฑ์ ในขณะที่บางคนก็อาจจะชอบให้มีการเตือนว่าโปรโมชั่นใกล้จะหมดแล้ว หรือกลุ่มผู้บริโภคที่สนับสนุนแบรนด์อยู่ก็สามารถเป็นอีกตัวช่วยที่จะทำให้คนอื่นอยากจะซื้อของในช่วงวันท้ายๆ ก่อนจะจบโปรได้เช่นกัน
เคล็ดลับ: ส่งข้อความที่กระตุ้นการตัดสินใจซื้อครั้งสุดท้าย อาทิ “ลดกระหน่ำวันสุดท้าย” หรือ “โอกาสสุดท้าย” เป็นต้น
เครดิตทวีตจาก: https://twitter.com/twoajumma/status/1304687517849907201
ด้วยสถานการณ์ของการรักษาระยะห่างและจำกัดการเดินทาง ทำให้พฤติกรรมการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภคได้เปลี่ยนไป โดยชาวทวิตภพนับได้ว่ามีอิทธิพลเป็นอย่างมากในการพูดคุยเกี่ยวกับการช้อปออนไลน์และแบรนด์ต่างๆ เองก็หันมาเลือกใช้ทวิตเตอร์เป็นช่องทางในการเปิดตัวสินค้าและบริการใหม่ๆ มากยิ่งขึ้น