หลังจากที่เมื่อต้นปี thumbsup เราได้นำเสนอข่าวเกี่ยวกับเอกสารหลุดที่ Twitter อาจจะกำลังเตรียมเปิดบริการขายสินค้าอย่างเต็มรูปแบบ ล่าสุดแหล่งข่าวเดิมอย่าง re/code ก็ได้กลับมาอีกครั้ง คราวนี้เป็นหน้าตาการสั่งซื้อสินค้าผ่านตัวแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือที่บังเอิญมีคนไปเจอเข้า แต่ก็คงต้องลุ้นต่อไปว่าจะเห็นบริการนี้เมื่อไหร่
จากภาพประกอบด้านบน จะเห็นว่าบนแอปพลิเคชัน Twitter บนโทรศัพท์มือถือนั้นมีปุ่ม Buy now โผล่ขึ้นมาพร้อมกับ รายละเอียดคร่าวๆ และรูปถ่ายของสินค้าให้เห็น ซึ่งแน่นอนว่าสินค้าเหล่านี้มาจากเว็บไซต์ Fancy เจ้าเดิมที่เคยเป็นข่าวก่อนหน้านี้ ซึ่งเดิมทีนั้น Fancy เคยเสนอตัวเข้าไปเป็นผู้พัฒนาระบบหลังบ้านในการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ให้กับ Twitter นั่นเอง
ในการค้นพบปุ่ม Buy now ในครั้งนี้ ทีมงานของ re/code ไปบังเอิญเจอเข้าบนแอปพลิเคชั่น Twitter แต่เมื่อกดปุ่มดังกล่าวกลับไม่เกิด action ใดๆ อย่างไรก็ดี ทีมงานของ re/code เองได้ระบุว่ามีการพูดคุยกับแหล่งข่าวเพิ่มเติมที่ได้เห็นปุ่มเดียวกัน และแหล่งข่าวดังกล่าวได้บังเอิญเข้าไปเห็นหน้าชำระเงินของ Twitter แล้ว แต่หน้าดังกล่าวกลับไม่เปิดให้คนภายนอกเห็นอีกต่อไป
หลังจากเหตุการณ์บังเอิญดังกล่าวเกิดขึ้น ทั้งโฆษกของ Twitter และ Fancy ก็ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นใดๆ แต่ก็เป็นการตอกย้ำความพยายามที่ Twitter และ Fancy ได้ร่วมกันพัฒนาระบบซื้อสินค้าออนไลน์ผ่าน Twitter ให้ดูน่าเชื่อถือขึ้นไปอีกขั้น และคาดว่าบริการดังกล่าวน่าจะถูกพัฒนาให้มาถึงจุดที่ใกล้พร้อมจะเปิดบริการแล้ว
ความเห็นผู้แปล
ผมยังยืนยันว่าบ้านเราคงยังต้องลุ้นกันต่อไปเพราะเราไม่ใช่ตลาดหลักของธุรกิจแนวนี้ แต่โดยส่วนตัวแล้วผมว่า Twitter น่าจะจับตามองอยู่บ้าง แม้จะเป็นการชำเลืองด้วยหางตา เพราะจริงๆ กลุ่มผู้บริโภคในเมืองไทยที่ซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ก็มีจำนวนไม่น้อย สังเกตได้จากการขายสินค้าอย่างเป็นล่ำเป็นสันบน Instagram และ Facebook (และหลังๆ เริ่มมีบน Line มากขึ้น) เพียงแต่ว่าคนส่วนใหญ่จะถนัดและสบายใจกับการเลือกดูสินค้าเพื่อชำระผ่านช่องทางอื่นๆ เช่น การโอนเงินผ่านธนาคาร เสียมากกว่า ซึ่งพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าดังกล่าวก็คงจะไม่ตอบโจทย์ของการทำระบบ shopping ของ Twitter และนั่นก็น่าจะเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้บริการยักษ์ใหญ่หลายๆ รายยังไม่อยากลุยเต็มตัวในบ้านเรา แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่คนไทยเริ่มมั่นใจในการใช้บัตรเครดิตหรือชำระผ่านช่องทางที่ผู้ให้บริการเป็นคนเลือก เมื่อนั้นเราคงได้เห็นบริการระดับโลกสนใจที่จะเข้ามาอย่างจริงจังในบ้านเรามากขึ้นครับ
ที่มา: re/code