Site icon Thumbsup

Twitter ยังเป็น Social Network ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเราอยู่หรือไม่?

twitter-timeline2-1920-800x450

คนที่ติดตามข่าวธุรกิจ Social Media คงจะเห็นอัปเดตเกี่ยวกับ Facebook ทุกวันอยู่แล้ว ส่วน Twitter นานๆ ทีจะโผล่มาที ทว่าช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมคิดว่า Twitter มีข่าวการเปลี่ยนแปลงเยอะ เลยขอเอามาสรุปให้อ่านกันทีเดียว เช่น การเลิกจ้างพนักงานราว 9% ทั่วโลกปิดบริการวิดีโอขำขัน Vine (แต่บริการวิดีโอ Live ชื่อ “Periscope” ยังอยู่นะครับ), เปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารในแต่ละภูมิภาค ใครที่อ่านๆ แล้วคิดว่า Twitter มันยังน่าใช้อยู่ไหม น่าเล่นไหม น่าลงทุนกับ Ad ของ Twitter อยู่ไหม อ่านบทความนี้จะได้คำตอบครับ

ย้อนอดีตกลับไปไกลๆ Twitter เป็นหนึ่งใน Social Media ที่ได้รับความนิยมค่อนข้างมากในปี 2007 – 2008 คือปีที่คนไทยหันมาใช้ Twitter กันค่อนข้างมาก หนึ่งในคนที่ขับเคลื่อนให้คนไทยหันมาใช้เยอะๆ น่าจะเป็นทางคุณสุทธิชัย หยุ่น ซึ่งยุคนั้นถึงขั้นดึงเอาคนที่เล่น Twitter ขึ้นหน้าหนึ่งของเนชั่นในวันเด็กกันเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังมีการนัดพบคนบน Twitter บ่อยครั้ง เลยทำให้มีฐานผู้ใช้ในไทยนับล้านคน

ในปัจจุบัน Twitter ก็ยังคงเป็น Social Media ที่คนใช้กันเยอะเช่นเคย แต่เนื่องจากเล่นไม่ได้เล่นง่ายเหมือนกับ Facebook ในความเห็นของผมกลุ่มคนที่เล่นเลยค่อนข้างเป็นคนที่สนใจและใช้เทคโนโลยีเป็นสักหน่อย คงไม่ใช่ทุกคนเล่นได้เล่นเป็น กลุ่มผู้ใช้ก็เลยจำกัดตาม ตัวเลขที่ทราบมาจากแหล่งข่าวของเราที่ดูแลโฆษณาของ Twitter ในภาพรวม Twitter เป็นหนึ่งใน Social Media ที่มีคนใช้ราว 800 ล้านคนทั่วโลก ส่วนในประเทศไทย Twitter มีผู้ใช้ active ราว 4.5 ล้านคน 83% อยู่บนมือถือ และมีคนไทยทวีตวันละ 7 ล้านครั้ง

แต่เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ใช้ Facebook ที่มีราว 40 ล้านคน Twitter คงเป็นเพียงเศษเสี้ยวเดียว แต่ในความเห็นของผม ถ้าจะบอกว่า Twitter ไม่มีความหมายแล้ว อันนั้นก็ออกจะเป็นการรวบรัดตัดความเกินไป เพราะถ้าหากสังเกตให้ดี ผู้ใช้ Twitter จะมีหลายกลุ่ม แต่กลุ่มที่ผมคิดว่าเป็นกลุ่มที่เด่นมีอยู่ราว 2 กลุ่ม นั่นคือ

  1. กลุ่มนักคิด นักข่าว นักเขียน
  2. กลุ่มศิลปิน ดารานักแสดงที่มีความ Tech Savvy
  3. กลุ่มคนที่ติดตามข่าวสารสำนักข่าวต่างๆ แบบ real-time
  4. กลุ่มคนที่ชื่นชอบวงการบันเทิง อาทิ ติ่งเกาหลี คนรัก GDH คนดูละครหลังข่าว คนดู LINE TV ฯลฯ

นอกจากนี้ Twitter ในเมืองนอกถึงแม้ว่าจะเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ แต่หลังบ้านแล้ว Twitter ก็ยังคงพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์นักการตลาดอยู่เรื่อยๆ เช่น ระบบ Twitter Analytics (ระบบวิเคราะห์ฐานผู้ชม), ระบบ Twitter Ad (ระบบซื้อโฆษณา) ที่เปิดให้เราตั้งเป้าหมายและวางพิกัดได้ชัดว่าจะเข้าถึงคนกลุ่มไหนบ้าง ซึ่งตัวเอง 4.5 ล้านถึงจะไม่เยอะเมื่อเทียบกับ Facebook แต่ถ้าหากใช้ดีๆ เราก็สามารถช่วงใช้มันในฐานะเครื่องมือทางการตลาดที่เสริมกันกับ Social Network ตัวอื่นๆ ได้

ผมได้ลองสอบถามความคิดเห็นผู้เล่น Twitter ไทย ทาง Twitter Poll มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นร่วมกัน 961 คน (ณ วันที่ 21 พฤศจิกายน 2559) 40% ของผู้ร่วมตอบ Poll บอกว่า “เวิ่นได้ ไม่เกร็ง” (เพราะ Facebook มักจะมีคนรู้จักตามมาเล่นเยอะ เช่น คนในครอบครัว แต่ใน Twitter จะไม่ถูกบังคับให้แสดงตัวตนที่แท้จริง หรือภาษาอังกฤษที่ว่าเป็นการที่เราติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นแบบ Anonymous นั่นเอง) 36% บอกว่าตามข่าวสารได้ไวแบบ Realtime

ใครที่สนใจอ่านความคิดเห็นว่าทำไมเราจึงยังเล่น Twitter ซึ่งมีคนร่วมแสดงความเห็นผ่าน #ทำไมยังเล่นทวิตฯ และ #ทำไมยังเล่นทวิต ราว 770 ทวีต ซึ่งส่วนใหญ่บอกว่าเอาไว้ตามข่าวโดยเฉพาะ นอกจากนั้นก็มีไว้เพื่อ ติ่งดารานักแสดงที่ชอบ และบ่นระบายได้ไม่ต้องเกรงใจใคร คล้ายกับที่โหวตกันใน Poll นั่นเอง

แบรนด์, Influencer เลิกใช้ Twitter?

เท่าที่สังเกต แบรนด์หลายๆ แบรนด์ในเมืองไทยยังคงใช้อยู่ และมีแฟนๆ ติดตามเยอะ เช่น AIS, Sansiri แต่บางแบรนด์ก็นานๆ ตอบที เช่น Samsung, Ford และบางแบรนด์ก็เลิกใช้ไปเพราะเน้นโพสต์อย่างเดียว แต่ไม่ค่อยลงมาปฎิสัมพันธ์กับผู้ใช้มากนัก พอไม่ค่อยได้ซื้อโฆษณา ก็เลยพลอยได้รับความสนใจไม่เท่า Social Network ตัวอื่นๆ

ส่วนด้าน Influencer เท่าที่สืบดู ถ้าเป็นดารานักแสดง มักจะหนีไปใช้ Instagram แล้วพ่วงให้ Twitter แชร์ลิงก์ของ Instagram แต่ถ้าเป็น Influencer ที่ค่อนข้าง Tech Savvy ก็จะทวีตด้วยตัวเองบ่อย เช่น วู้ดดี้ มิลินทจินดา @Woodytalk ในขณะที่บางคนก็ใช้ active ทั้ง Facebook, Twitter, Instagram อย่างโอปอล์ ปาณิสรา นอกจากนี้ก็จะมี Micro Influencer แนวนักคิดนักเขียนก็จะยังคงใช้ Twitter เป็นหนึ่งในช่องทางหลักเช่นกัน เช่น ทีปกร วุฒิพิทยามงคล หรือ @Tpagon แห่ง The Matter, ปรัชญา สิงห์โต หรือ @iannnnn ผู้แต่ง ‘เน็ตเมื่อวานซืน’, วิชัย มาตกุล นักเขียนและผู้กำกับแห่ง Salmon House และ @Khajochi แห่ง MacThai.com

สรุป – Twitter ยังเป็น Social Network ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเราอยู่หรือไม่?


Twitter ยังคงเป็น Social Network ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของคนไทยที่ชีวิตเสพติดมือถือ เป็นกลุ่มเฉพาะที่มีขนาดใหญ่ราว 4.5 ล้านคน ที่เป็นกลุ่มคนที่ยังอายุไม่มากที่ค่อนข้าง Tech Savvy มีความสามารถในการผลักดันสังคมเช่นเดียวกันกับ Social Network อื่น อีกทั้งยังมีความเป็น Early adoptor ค่อนข้างมาก ซึ่งเหมาะกับการตลาดและการประชาสัมพันธ์ในแง่มุมของการที่แบรนด์จะสร้างและผลักดันเทรนด์ใหม่ๆ กับกลุ่ม Early adoptor แม้นักการตลาดบางส่วนอาจจะมองว่า ถ้าเช่นนั้นสู้ลง Media ไปกับ “แม่น้ำสายใหญ่” ใน Facebook เลยจะดีกว่าหรือไม่ อันนี้คงต้องดูก่อนว่าสินค้า และบริการที่แบรนด์ต้องการจะแนะนำนั้น เหมาะกับการพูดกับคนกลุ่มนี้หรือไม่ อย่างไร

ขอบคุณภาพจาก OKNation