ข้อมูลจาก Facebook ประเทศไทย และหน่วยงานอื่นๆ ร่วมมือกันออกคำแนะนำที่น่าสนใจรับช่วงเลือกตั้ง เพื่อให้รู้เท่าทันว่าข่าวแบบไหนคือข่าวปลอม (Fake News)
ข่าวปลอม (Fake News) บนโลกออนไลน์ในเวลานี้มีขึ้นมามากมายหลายรูปแบบ ระหว่างที่ผู้เขียนเขียนข้อมูลต่างๆ ตอนนี้ก็อยู่ในช่วงใกล้เลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 แล้ว ทำให้สงครามข้อมูลจากหลายฝั่งเกิดขึ้นมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
วันนี้เราจึงขอแนะนำวิธีตรวจสอบข่าวปลอมบนโลกออนไลน์ โดยชี้ให้เห็นว่าข่าวปลอมมีลักษณะอย่างไร และข่าวแบบไหนที่น่าจะเป็นข่าวปลอมบนโลกออนไลน์
1. พาดหัวสะดุดตา
พาดหัวข่าวมีการใช้เครื่องหมายตกใจ หรือภาพปกอาจมีการใช้อักษรตัวหนา หากอ่านข้อความพาดหัวแล้วรู้สึกว่ามีความหวือหวาและไม่น่าเป็นไปได้ ข่าวนั้นน่าจะเป็นข่าวปลอม
2. ลิงก์ผิดไปจากปกติ
ลิงก์ปลอมหรือลิงก์ที่ดูคล้ายของจริง จะมีลักษณะใกล้เคียงกับชื่อสำนักข่าวที่มีอยู่จริง อาจมีการเปลี่ยนตัวอักษรบางตัวเล็กน้อย เราสามารถเปรียบได้ด้วยการค้นหาเว็บไซต์ข่าวจริงๆ เปรียบเทียบได้
3. มีที่มาแปลกๆ หรือไม่มีที่มาของข่าว
ตรวจสอบเนื้อหาอื่นๆ ที่ถูกนำเสนออยู่บนเว็บไซต์ แง่มุมในการนำเสนอข่าว และรายละเอียดติดต่ออื่นๆ ที่ปรากฎบนเว็บไซต์
นอกจากนี้ คุณควรระวังเว็บไซต์ปลอมที่บอกว่าเป็นองค์กรข่าวที่ดูน่าเชื่อถือ ซึ่งมักจะใช้วิธีเลียนแบบรูปแบบการจัดหน้าและการใช้ URL ที่มีชื่อคล้ายคลึงกัน
4. สะกดคำผิด/จัดรูปแบบแปลกๆ
เว็บไซต์ข่าวปลอมหลายแห่งมักสะกดคำผิดหรือมีการจัดวางรูปแบบที่ดูไม่เป็นมืออาชีพ หากคุณเห็นลักษณะเหล่านี้ควรอ่านข่าวอย่างระมัดระวัง หรือตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนว่าข่าวนั้นอาจเป็นข่าวปลอม
5. รูปภาพไม่มีความเกี่ยวข้องกับข่าว
ข่าวปลอมมักจะประกอบด้วยภาพหรือวิดีโอที่ถูกปรับแต่ง ซึ่งในบางครั้ง รูปภาพนั้นอาจเป็นรูปภาพที่แท้จริง แต่ถูกนำมาเปลี่ยนแปลงบริบทให้ต่างจากเดิมไป
เราจึงควรนำภาพในข่าวไปค้นหาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันว่าสิ่งที่อ่านเป็นเรื่องจริงหรือมีความถูกต้อง
6. วันที่ข่าวไม่สมเหตุสมผล
ข่าวปลอมอาจมีลำดับเหตุการณ์ที่ไม่สมเหตุผลหรือมีการเปลี่ยนแปลงวันที่ของเหตุการณ์ เราจึงควรตรวจสอบข่าวอื่นๆ ประกอบเพื่อดูวันที่ของข่าวเดียวกันจากแหล่งอื่นด้วย
7. อ้างอิงชื่อผู้เชี่ยวชาญที่ไม่มีอยู่จริง
ตรวจสอบแหล่งข้อมูลของผู้เขียนเพื่อยืนยันว่าแหล่งข้อมูลนั้นว่าถูกต้อง ข่าวที่ไม่มีหลักฐานหรืออ้างอิงผู้เชี่ยวชาญที่ไม่ระบุชื่อ อาจชี้ให้เห็นว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวปลอม
แต่ถึงอย่างไรก็ตามหากเรื่องราวนั้นเป็นบทความที่ปรากฏชื่อผู้เขียน (by-line) ควรคำนึงไว้ว่าผู้เขียนคนนั้นจะเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบต่อเนื้อหาทั้งหมด และเราก็ควรตรวจสอบบทความอื่นๆ ของผู้เขียนคนนั้นๆ ด้วย
หากเรื่องราวนั้นเป็นบทความแสดงความคิดเห็นโดยบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือตัวแทนจากองค์กร (op-ed) ควรคาดการณ์ไว้ก่อนว่าบทความอาจมีเนื้อหาที่ลำเอียงหรือมีอคติ แม้ว่าจะประกอบด้วยข้อเท็จจริง แต่เนื้อหาประเภทนี้มักสะท้อนความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนหรือหน่วยงานและมีบทสรุปแบบไม่เป็นกลาง
8. รายงานต่างไปจากสำนักข่าวอื่นมากเกิน
หากไม่มีแหล่งข่าวอื่นที่รายงานเรื่องเดียวกัน ก็อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าข่าวนั้นอาจเป็นข่าวปลอม ถ้าข่าวนั้นมีการรายงานจากหลายแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ ก็เป็นไปได้ว่าข่าวนั้นจะเป็นข่าวจริง
9. มีการเสียดสีหรือใส่มุกตลก
บางครั้งเราก็แยกข่าวปลอมออกจากมุกตลกหรือข่าวเสียดสีได้ยาก ตรวจสอบดูว่าเรื่องนั้นมาจากแหล่งที่มา ที่ขึ้นชื่อเรื่องล้อเลียนและเสียดสีข่าวหรือไม่ และพิจารณาว่ารายละเอียด ตลอดจนน้ำเสียงในการเล่าเรื่องฟังดูเป็นไปเพื่อความสนุกสนานหรือไม่
คนเรามีแนวโน้มที่จะเชื่อข้อมูลซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อส่วนตัวของเรา ก่อนที่คุณจะระบุว่าเรื่องราวใดๆ ‘ไม่เป็นความจริง’ ควรไตร่ตรองให้ดีว่าอคติส่วนตัวของคุณไม่ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อการพิจารณาเนื้อหาที่มีการเสียดสีหรือใส่มุกตลกลงไปในเนื้อหา
10. บางเรื่องก็จงใจสร้างให้เป็นข่าวปลอม
เรื่องราวบางเรื่องถูกจงใจสร้างขึ้นด้วยข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง ดังนั้นเราจึงควรแชร์ข่าวที่คุณมั่นใจว่าเป็นข่าวที่เชื่อถือได้เท่านั้นด้วยการคิดวิเคราะห์และพิจารณาบริบทอย่างละเอียดถี่ถ้วน
รวมถึงใช้วิจารณญาณในการอ่าน และแชร์เฉพาะข่าวที่คุณแน่ใจว่าเชื่อถือได้เท่านั้น
อื่นๆ : Fun Fact
YouGov ร่วมมือกับ Facebook เผยการสำรวจเกี่ยวกับทักษะเชิงดิจิทัลในเอเชียแปซิฟิค ช่วงเดือนธันวาคม 2561 มีข้อมูลที่น่าสนใจออกมาดังนี้
- ผู้ตอบแบบสำรวจ 42 เปอร์เซ็นต์ มั่นใจว่าตัวเองสามารถระบุข่าวปลอมได้
- ผู้ตอบแบบสำรวจ 41 เปอร์เซ็นต์ มั่นใจว่าตัวเองสามารถระบุโปรไฟล์ปลอมได้
- ผู้ตอบแบบสำรวจชาวไทย 71 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่าพวกเขาอ่านบทความจนจบก่อนที่จะแชร์ต่อ
- ผู้ตอบแบบสำรวจชาวไทย 41 เปอร์เซ็นต์ ตรวจสอบว่าภาพที่อยู่ในบทความมีที่มาจากไหน
- ผู้ตอบแบบสำรวจชาวไทย 33 เปอร์เซ็นต์ ตรวจสอบข้อมูลสนับสนุนเพิ่มเติมจากการรายงานอื่นๆ
- ผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทย 2 ใน 3 ระบุว่าพวกเขาตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูลว่ามาจากองค์กรที่น่าเชื่อถือหรือไม่
น่าสนใจว่าข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยมีความรู้เท่าทันสื่อและแยกแยะได้ว่าข่าวไหนเป็นข่าวจริงและข่าวไหนเป็นข่าวปลอม ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดียุคของข้อมูลข่าวสารที่มีการอัพเดทอยู่ตลอดเวลา
ที่มา : Facebook ประเทศไทย ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE), คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย บมจ.อสมท